svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

เจาะกลยุทธ์ "วัน แชมเปียนชิพ" ประสบความสำเร็จในเอเชีย

13 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ก่อนหน้านี้ หากจะพูดถึงการต่อสู้แบบ "มิกซ์ มาเชียล อาร์ต" ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้น อัลติเมท ไฟท์ติง แชมเปียนชิพ (ยูเอฟซี)

     แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีอีกหนึ่งเวที ซึ่งสร้างกระแสของศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบผสมให้โด่งดังไปทั่วเอเชีย นั่นก็คือ “วัน แชมเปียนชิพ” ที่มี ชาตรี ศิษย์ยอดธง ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น เป็นประธานบริหาร และเริ่มก่อตั้งขึ้นที่สิงค์โปร์ในปี 2554

     สำหรับบริษัท วัน แชมเปียนชิพ มีจุดมุ่งหมาย คือ ส่งเสริมสมบัติทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเอเชีย นั่นก็คือ ศิลปะการต่อสู้ และสนับสนุนคุณค่าที่ฝังรากลึกมายาวนานทั้งในด้านเกียรติยศ จริยธรรม ความถ่อมตัว ความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง และระเบียบวินัย ซึ่งจากการที่ วัน แชมเปียนชิพ สะท้อนสิ่งเหล่านี้อย่างชัดเจนสู่ผู้ชมชาวเอเชียทั้งทวีป ทำให้เกิดเรตติ้งทีวีที่เป็นสถิติใหม่สูงถึง 26% และยังประสบความสำเร็จในการสร้างการเติบโตของยอดผู้ชมวีดิโอในโซเชียลมีเดีย ด้วยตัวเลขผู้ชมที่สูงถึง 600 ล้านวิว ในปีนี้

      จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นดังกล่าว วัน แชมเปียนชิพ มีกลยุทธ์ใดบ้างที่ชวยส่งเสริมให้พวกเขาประสบความสำเร็จทั้งในด้านของการแข่งขัน และด้านของธุรกิจถึงเพียงนี้

ยกย่องศิลปะการต่อสู้มากกว่าการทำธุรกิจ
     เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่าง ยูเอฟซี และ วัน แชมเปียนชิพ ที่แม้กฎกติกาจะระบุให้นักสู้ทั้ง 2 คนห้ำหั่น และทำให้อีกฝ่ายยอมแพ้เหมือนกัน โดยมีเข็มขัดแชมป์แต่ละรุ่นเป็นเดิมพัน แต่คุณชาตรี ระบุว่า เวทีของเขาไม่ได้เน้นความรุนแรงอย่างที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่า การต่อสู้แบบนี้เน้นการต่อสู้แบบเลือดสาด และรุนแรงเพื่อความสะใจของแฟน ๆ แต่จะเน้นนำศิลปะการต่อสู้ประจำชาติที่มีความสวยงามมาสู้กัน ทั้ง มวยไทย ยิวยิตสู คาราเต้ ไอคิโด้ ฯลฯ เพราะเอเชียก็ถือเป็นจุดกำเนิดแห่งศิลปะการต่อสู้แขนงต่าง ๆ และมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 5,000 ปี
     นอกจากนั้น เกณฑ์การคัดเลือกนักสู้ของเวที วัน แชมเปียนชิพ นั้น มุ่งเน้นไปที่การสร้าง และผลักดัน “ยอดฝีมือในท้องถิ่น” (โลคัล ฮีโร่) ของแต่ละประเทศ ซึ่งทำให้ในเวทีดังกล่าวมียอดนักสู้ฝีมือดีจากทั่วโลกอยู่เต็มไปหมด พร้อมนักสู้จะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ขณะที่เมืองไทยปัจจุบันก็มีนักสู้ เช่น “ครูตอง” ชนนภัทร วิรัชชัย หรือ ริกะ อิชิเกะ นักสู้สาวหน้าหวานที่แจ้งเกิดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
     จากการสร้าง “โลคัล ฮีโร่” ก็ส่งผลให้กระแสของ วัน แชมเปียนชิพ หลั่งไหลเข้าไปในประเทศที่มีนักสู้ของชาติตนเองอย่างรวดเร็ว และทำให้แฟน ๆ กีฬาชาวไทยรู้จักเวทีต่อสู้ดังกล่าวอย่างแพร่หลายมากขึ้น

ยึดเอเชียเป็นที่มั่น
     อย่างที่ทราบกันว่าเอเชีย คือถิ่นกำเนิดของศิลปะการต่อสู้ต่าง ๆ เป็นแห่งแรกของโลก ทำให้ วัน แชมเปียนชิพ ใช้นโยบายยึดทวีปดังกล่าวเป็นเป้าหมายหลักของการจัดการแข่งขัน โดยเป้าหมายคือการนำศิลปะการต่อสู้ที่แท้จริงให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในเอเชีย
     เริ่มจากกลุ่มประเทศในย่านอาเซียน ทั้งสิงค์โปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งกระแสตอบรับก็เป็นไปด้วยดี และได้รับความนิยมต่อเนื่องขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี และล่าสุดที่ผ่านพ้นไปคือที่ มาเก๊า เขตปกครองพิเศษของจีนก็ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากแฟน ๆ รวมถึงสื่อมวลชน จึงทำให้ปัจจุบัน วัน แชมเปียนชิพ คือบริษัทสื่อกีฬายักษ์ใหญ่ของเอเชีย ขณะเดียวกันก็มองถึงการขยับขยายไปจัดทัวร์นาเมนต์ในประเทศใหญ่ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปได้ในเร็ว ๆ นี้ และวางเป้าหมายจะจัดให้ได้อย่างน้อย 26 เวทีภายในปีนี้
     นโยบายดังกล่าวทำให้เห็นว่า วัน แชมเปียนชิพ ได้สร้างฐานการตลาดตรงข้ามกับเวทีศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบผสมอื่น ๆ ทั้ง ยูเอฟซี, เบลลาเตอร์ เอ็มเอ็มเอ ที่มีฐานอยู่ที่อเมริกาเหนือ และ เคจ วอร์ริเออร์ส ไฟท์ติง แชมเปียนชิพ (ซีดับเบิลยูเอฟซี) และ เอ็ม-วัน โกลบอล ที่มีจุดกำเนิดในทวีปยุโรป ก่อนจะขยายความดังไปทั่วโลกในเวลาต่อมา

หลากหลายทุนร่วมสนับสนุน

     ในโลกของธุรกิจนั้น แหล่งเงินทุนก็ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้แบรนด์ หรือสินค้านั้น ๆ ขับเคลื่อนไปได้ เช่นเดียวกับ วัน แชมเปียนชิพ ที่ก่อตัวจากศูนย์ แต่จากความสำเร็จแบบก้าวกระโดด จากยอดผู้ชมกว่า 1,000 ล้านคนในกว่า 128 ประเทศทั่วโลก ผ่านบริษัทถ่ายทอดสัญญาณระดับโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดหลายแห่ง เช่น ฟ็อกซ์ สปอร์ต, เซทานทา, เอ็มเอ็นซี, แอสโตร เป็นต้น
     ขณะเดียวกันมีหลายบริษัทเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรกับ วัน แชมเปียนชิพ เพื่อต่อยอดความสำเร็จ นำโดย เทมาเส็ก โฮลดิงส์ จำกัด บริษัทลูกของบริษัทเทมาเส็ก หน่วยงานลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ และซีคัวญ่า แคปิตอล บริษัทเงินทุนจากสหรัฐ โดยทั้ง วัน และ บริษัทเงินทุนนั้น มีความสนใจที่จะเห็นศิลปะการต่อสู้เป็นกีฬาที่ยิ่งใหญ่ และช่วยผลักดันขีดความสามารถของเวทีดังกล่าวในภูมิภาคเอเชียต่อไป
     นอกจากแหล่งเงินทุนแล้ว พวกเขายังมีพันธมิตรในหลากหลายธุรกิจ ทั้งดิสนีย์, เฟซบุ๊ค, มาร์เวล, อันเดอร์ อาเมอร์, โซนี, ยูนิเวอร์แซล มิวสิก กรุ๊ป, โกแดดดี้, คาวาซากิ, ลอรีออล, แอ๊ปเปิ้ล, คาสิโอ, กูเกิล, อินสตาแกรม, ค่ายเกม อิเล็กโทรนิค อาร์ตส์ (อีเอ) และบริษัทรายอื่น ๆ อีกมากมาย ส่งผลให้ วัน แชมเปียนชิพ ถูกกระจายความรู้จักไปอย่างรวดเร็ว และคาดว่าในอนาคตจะมีการดึงดูดธุรกิจขนาดใหญ่มาร่วมลงทุนเป็นพันธมิตรต่อไป
     ด้วยเงินลงทุนจากแหล่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้บริษัทวัน แชมเปียนชิพ สามารถตั้งเป้าเพื่อพัฒนาการกีฬาต่อไป โดยไม่เฉพาะแค่ในเอเชียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทั่วโลก ซึ่งอย่างน้อยจะมีการโปรโมทการอีเวนท์ที่มีการถ่ายทอดสดเดือนละครั้งทั่วเอเชีย และมีกำหนดการจัดอีเวนท์มากถึง 24-30 ครั้งในปี 2561 อีกด้วย

logoline