svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สนช. ยังไม่ส่งศาลรธน.ตีความปมอุ้มผู้ตรวจฯ

11 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พรเพชร "ยังไม่ส่งศาลรธน.ตีความปมอุ้มผู้ตรวจฯ อ้างรอความเห็น กรธ.-ผู้ตรวจฯ  ขีดเส้น 16 ส.ค.นี้หากไม่เห็นแย้งส่งศาลรธน.ทันที


               11 ส.ค.60- ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ได้รับคำร้องจากกลุ่มสมาชิกสนช.จำนวน 34 คน นำโดยนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสนช.เพื่อขอให้ประธานสนช.ส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินพ.ศ...ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 หรือไม่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยประเด็นที่กลุ่มสมาชิกสนช.สงสัยว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ คือ การกำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระตามที่กำหนดไว้บทเฉพาะกาลของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่สนช.มีการแก้ไข 
                นายพรเพชร กล่าวว่า พิจารณาจากคำร้องของนพ.เจตน์แล้วเห็นว่า ได้ส่งคำร้องถูกต้องตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 เพราะมีการเข้าชื่อ 1 ใน 10 ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ส่วนตัวยังไม่ได้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และผู้ตรวจการแผ่นดินว่า จะมีความเห็นแย้งหรือไม่ ถ้าแย้งก็จะมีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันหรือไม่ภายใน 10 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 16 ส.ค. โดยหากเมื่อพ้นกำหนดดังกล่าวแล้ว   ผู้ตรวจการแผ่นดินและกรธ.ไม่ได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม3ฝ่าย ก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ทันที แต่หากองค์กรใดองค์กรหนึ่งเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน ก็ต้องดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันก่อน
                เมื่อถามว่า การยื่นเรื่องคำร้องดังกล่าวถือเป็นความขัดแย้งภายในสนช.หรือไม่ เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้สนช.ก็ได้มีการแก้ไขเนื้อหา แต่กลับยังมีการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่ได้เป็นเรื่องความขัดแย้ง เพราะเป็นกรณีที่สมาชิกสนช.ใช้สิทธิในฐานะสมาชิกรัฐสภาเพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนคำวินิจฉัยที่ออกมาจะเป็นบรรทัดฐานให้กับสนช.สำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในอนาคตหรือไม่ ยังตอบในเวลานี้ไม่ได้ เพราะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาก่อน
                " ส่วนตัวเห็นด้วยกับการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเป็นร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความชัดเจน มิเช่นนั้นอาจจะเป็นปัญหาในอนาคตหากมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว "ประธานสนช.กล่าว 
                นายพรเพชร กล่าวอีกว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่สนช.ได้ส่งไปให้นายกรัฐมนตรีจนถึงขณะนี้มีทั้งสิ้น 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2.ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ 3.ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

logoline