svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ฎีกา "ยกฟ้อง" 2 อดีตผู้บริหาร คดียักยอกบีบีซี

08 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลฎีกา พิพากษายืนยกฟ้อง อดีตผู้ช่วย กก.ผจก.ใหญ่ -อดีต ผอ.สำนักบริหารเงินและวานิชบีบีซี ส่วนเกริกเกียรติ เสียชีวิตแล้วปี 55 คดีจำหน่ายออกจากสารบบความ ทนายเผย คดีบีบีซี ยังเข้าคิวรอตัดสินเพียบ ขณะที่คดีถึงที่สุดตามฎีกาแล้ว 3 สำนวนชดใช้ค่าเสียหายกว่า 3 พันล้าน

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 8 ส.ค.60 ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดียักยอกทรัพย์บีบีซี คดีหมายเลขดำ 10765/2542 ที่พนักงานอัยการฝ่ายเศรษฐกิจและทรัพยากร เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีต กก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ พาณิชยการ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี, นายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีตผู้ช่วย กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี, นายวันชัย ธรรมธิติวัฒน์ อดีต ผอ.สำนักบริหารเงินและวานิชธนกิจ บีบีซี, บริษัทอเมริกัน สแตนดาร์ด แอ๊พเพรซิลวา จำกัด และนายไพโรจน์ ซึ่งศิลป์ กก.ผจก.บริษัทอเมริกันฯ เป็นจำเลยที่ 1- 5 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
กรณีเมื่อวันที่ 6 ต.ค.37 - 4 มี.ค.39 นายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 ร่วมกับนายราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษานายเกริกเกียรติด้านการให้สินเชื่อ ร่วมกันอนุมัติสินเชื่อจำนวน 1,000 ล้านบาทให้แก่บริษัท ฟอร์ ฟิฟ ออเรจน์ จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 10,000 บาทโดยนำโฉนดที่ดิน จ.สระแก้ว ที่มีเสาไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านใช้ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ จำนวน 19 แปลงเนื้อที่ 462 ไร่มาใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อ โดยจำเลยที่ 4-5คำนวณราคาที่ดินสูงกว่าราคาประเมินถึง 10 เท่าคิดเป็นเงิน 832 ล้านบาทซึ่งการประเมินที่มีเจตนาจะใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อนั้นทำให้บีบีซี ได้รับความเสียหาย โดยการที่นนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 อนุมัติปล่อยสินเชื่อดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องรายงานให้ ธปท.ทราบถึงการปล่อยสินเชื่อซึ่งจะต้องไม่อนุมัติสินเชื่อให้บริษัทที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและไม่มีผลประกอบรายได้ติดต่อกันเกิน 3 ปี ขณะที่การอนุมัติสินเชื่อเกิน 30 ล้านบาทก็ต้องผ่านมติกรรมการ (บอร์ด) ของบีบีซีก่อน ซึ่งการจำเลยที่ 1 อนุมัติสินเชื่อโดยใช้บัตรผ่านรายการอนุมัติสินเชื่อหมายเลข 0109 เจ ปล่อยเงินกู้นั้นทำให้ธนาคารเสียหาย รวม 1,567,274,175 บาท
ซึ่งศาลชั้นต้น พิพากษาเมื่อวันที่ 11 มี.ค.52 ให้จำคุกนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มาตรา 313 อันเป็นบทหนักสุด รวม 13 กระทงเป็นเวลา 130 ปีและปรับ 3,134,548,351.74 บาท แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงที่จำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 10 ปีแล้วตามกฎหมายให้จำคุกไว้ทั้งสิ้นเป็นเวลา 20 ปี และให้ปรับ บ.อเมริกัน สแตนดาร์ดฯ จำเลยที่ 4 เป็นเงิน 2 พันล้านบาท กับให้จำคุก 10 ปีพร้อมปรับ 2 พันล้านบาทนายไพโรจน์ กก.ผจก.บ.อเมริกันสแตนดาร์ดฯ จำเลยที่ 5 และยังให้จำเลยที่ 1,4,5 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่บีบีซีรวม 1,567,274,175 บาท เนื่องจากเห็นว่า การอนุมัติเงินกู้โดยใช้บัตรรายการดังกล่าวที่รับมาจากนายราเกซ โดยไม่ตรวจสอบความสามารถในการใช้เงินของผู้กู้ทั้งที่ ธปท.มีหนังสือแจ้งเตือนมาแล้ว จำเลยที่ 1,4,5 จึงมีความผิดตามฟ้อง ส่วนนายเอกชัย อดีต ผช.กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี จำเลยที่ 2 และ นายวันชัย อดีต ผอ.สำนักบริหารเงิน และวานิชกิจธนกิจ บีบีซี จำเลยที่ 3 ศาลเห็นว่า บัตรรายการอนุมัติไม่ได้อยู่ในครอบครองของจำเลยทั้งสองขณะเกิดเหตุ ดังนั้นจึงไม่เป็นความผิด ขณะเดียวกันโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 - 3 ได้รับประโยชน์ใดจากการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว จึงพิพากษายกฟ้องทั้งสอง ขณะที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.56 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
อย่างไรก็ดีสำหรับนายเกริกเกียรติ อดีต กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี จำเลยที่ 1 ได้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.55 ด้วยโรคมะเร็งปอดขณะมีอายุ 63 ปี ส่วนนายเอกชัย อดีต ผช.กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี จำเลยที่ 2 นั้นถูกคุมขังในเรือนจำรับโทษ 20 ปีและให้ชดใช้เงินบีบีซี จำนวน 1,854,201,794.75บาท คดีปล่อยกู้สินเชื่อบีบีซี 1 สำนวนที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหมายเลขดำที่ 10764/2542 กรณีเมื่อปี 2538 นายเอกชัยร่วมกับนายเกริกเกียรติ ใช้บัตรพิเศษผ่านรายการ 0109 J (บัตรอิเล็กทรอนิกส์ใช้อนุมัติวงเงินสินเชื่อผ่านระบบคอมพิวเตอร์) อนุมัติสินเชื่อให้บุคคลและนิติบุคคลต่างๆ ในวงเงินเกิน 30 ล้านบาท สำหรับนายวันชัย อดีต ผอ.สำนักบริหารเงินและวานิชธนกิจ บีบีซี จำเลยที่ 3 นั้นก็ถูกคุมขังในเรือนจำรับโทษคดีบีบีซีเช่นกัน สำหรับนายไพโรจน์ กก.ผจก.บ.อเมริกันสแตนดาร์ดฯ จำเลยที่ 5 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจำคุก 10 ปีนั้นคดีถึงที่สุดไปแล้วเมื่อจำเลย รับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยวันนี้ศาลได้เบิกนายเอกชัย อดีต ผช.กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี จำเลยที่ 2 และนายวันชัย อดีต ผอ.สำนักบริหารเงินและวานิชธนกิจ บีบีซี จำเลยที่ 3 มาจากเรือนจำเพื่อฟังคำพิพากษาฎีกา
ทั้งนี้นายวัลลภ จริยวัตร ทนายความของนายเอกชัย จำเลยที่ 2 เปิดเผยว่า วันนี้ศาลได้คำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งพิพากษายืนที่ให้ยกฟ้องนายเอกชัย อดีต ผช.กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี จำเลยที่ 2 เนื่องจากเห็นว่าช่วงเกิดเหตุนายเอกชัยได้คืนบัตรผ่านรายการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว จึงไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตรอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งคดีนี้ถือเป็นสำนวนแรกที่ทั้ง 3 ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนายเอกชัย โดยขณะนี้นายเอกชัย ยังเหลือคดีที่ต้องรอฟังผลอุทธรณ์และฎีกาคดีบีบีซีบางสำนวน ซึ่งนายเอกชัย ถูกฟ้องดำเนินคดี 15 เรื่องแต่รวมดำเนินคดีแล้วเหลือ 8 เรื่อง อย่างไรก็ดีสำหรับนายเกริกเกียรตินั้นเมื่อเสียชีวิตไปแล้วแต่ศาลก็ยังได้ให้ทายาทรับชดใช้ค่าเสียหายทางคดีแทนด้วย
ขณะที่นายวินัย ฤทธิ์โชติ ทนายความของนายวันชัย กล่าวว่า สำหรับนายวันชัย อดีต ผอ.สำนักบริหารเงินและวานิชธนกิจ บีบีซี จำเลยที่ 3 ศาลฎีกาก็ยกฟ้องเช่นกันโดยเห็นว่าการลงลายมือชื่อเห็นสมควรอนุมัติสินเชื่อนั้นทำตามหน้าที่ไม่มีเจตนาจะทำให้เสียหาย อย่างไรก็ดีสำหรับนายวันชัยนั้นถูกอัยการยื่นฟ้องกว่า 10 สำนวนแต่รวมพิจารณาแล้วก็เหลือ 6 เรื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดียักยอกทรัพย์บีบีซีนั้นที่ผ่านมา ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามคำพิพากษาฎีกาแล้ว 3 สำนวน คือคดีหมายเลขดำที่ 10764/2542 ที่ยื่นฟ้องนายเกริกเกียรติ อดีต กก.ผจก.ใหญ่บีบีซี และนายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีต ผช.กก.ผจก.ใหญ่ ซึ่งนายเกริกเกียรติ เสียชีวิตระหว่างพิจารณาคดี ส่วนนายเอกชัย จำเลยที่ 2 ศาลให้จำคุกรวม 204 กระทงๆละ 5 ปีรวมทั้งสิ้น 1,020 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกความผิดตามกฎหมายแล้วให้จำคุกนายเอกชัย จำเลยที่ 2 ไว้ 20 ปีและให้ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทน จำนวน 1,854,201,794.75บาท แก่ธนาคารฯ บีบีซี.
กับคดีหมายเลขดำ ด.7254/2543 ที่ยื่นฟ้องนายเกริกเกียรติ อดีต กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี , นายจิตตสร ปราโมช ณ อยุธยา อดีตรอง ผอ.สำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ , ม.ร.ว.ดำรงเดช ดิศกุล อดีตผู้บริหารอาวุโส สำนักบริหารเงินและวิเทศกิจ และ ม.ร.ว.หญิงสุภาณี สารสินหรือ ดิศกุล อดีตรองผอ.ฝ่ายการตลาด บีบีซี เป็นจำเลยที่ 1-4 กรณีเมื่อเดือน พ.ค. 38 ก.ค.39 จำเลย ร่วมกับนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษา กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี วางแผนอนุมัติขายหุ้นเพิ่มทุนของบีบีซี จำนวน 260 ล้านหุ้นโดยไม่ตรวจสอบประวัติฐานะของบริษัทผู้เข้ามาจองซื้อหุ้น ซึ่งขายให้กับบริษัท ออลบิ ยูเอสเอ อิงค์ และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เครดิต โบรคเกอร์เรจ โฮลดิ้ง อิงค์ ที่มีนายราเกซเป็นผู้รับมอบอำนาจการซื้อขายหุ้น โดยมีการนำหุ้น 90 ล้านหุ้นคิดเป็นเงินจำนวน 23,170,731.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 570 ล้านบาทไปขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อนำเงินมาชำระค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน 38 ล้านหุ้นของบีบีซี และยังได้อนุมัติสินเชื่อจำนวน 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ธนาคารเนชั่นแนลเครดิตแบงก์ รวมทั้งสินเชื่อให้กับบริษัท อาร์คาร์เดีย แคปปิตอล พาร์ทเนอรส์ อิงค์ และบริษัท เอเซซ คอร์ปรเรท โฮลดิ้ง แอนด์ ไฟแนนซ์ อิงค์ อีกรายละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนายราเกซเป็นผู้ลงนามในตั๋วสัญญาใช้เงินที่ทั้งสองบริษัทนำมาวางประกันขอสินเชื่อ ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืน ให้จำคุกจำเลยที่ 2-4 คนละ 6 ปี 8 เดือนและปรับคนละ 666,666.66 บาท ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ม.308 ที่เป็นบทหนักสุด และให้จำเลยที่ 2-4 ร่วมจำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 85,733,882.04 ดอลลาร์สหรัฐ หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการยึดทรัพย์สิน
และคดีหมายเลขดำ ด.6173/2542 ที่ยื่นฟ้องนายเกริกเกียรติ อดีต กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี , ม.ร.ว.อรอนงค์ เทพาคำและ น.ส.เยาวลักษณ์ นิตย์ธีรานนท์ อดีตรองผอ.ฝ่ายบริหารเงินและวิเทศธนกิจ เป็นจำเลยที่ 1-3 กรณีเมื่อเดือน พ.ค.38 จำเลยทั้งสามร่วมกับนายราเกซ อดีตที่ปรึกษา กก.ผจก.ใหญ่บีบีซี ลงนามทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ธนบัตรระหว่างบีบีซี กับบริษัท ดิเวลลอปเมนท์ ไฟแนนซ์ แอนด์ อินเวสเมนท์ จำกัด ทำให้บีบีซี เสียหายมูลค่า 1,228,896,438 บาท ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืนให้จำคุกคนละ 2 กระทงรวม 20 ปี และให้ปรับคนละ 1,157,244,186.28 บาท จำเลยทั้งสามบทหนักสุดฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทุจริตต่อหน้าที่ พร้อมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่บีบีซีจำนวน 589,622,043.04 บาท
สำหรับนายราเกซ อายุ 65 ปีสัญชาติอินเดีย ฉายาพ่อมดการเงิน อดีตที่ปรึกษา กก.ผจก.ใหญ่บีบีซีนั้น ปัจจุบันถูกคุมขังในเรือนจำ โดยอัยการได้ยื่นฟ้องยักยอกบีบีซีไปแล้ว 5 คดี ขณะที่มีการตัดสินคดีแรกสำนวนคดีหมายเลขดำ ด.3054/2552 ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.55 กรณีร่วมกันยื่นขอสินเชื่อกู้ยืมเงินในนามบริษัทซิตี้ เทรดดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด จากธนาคารบีบีซี ผู้เสียหาย ไปเป็นเงินทั้งสิ้น 1,657,000,000 บาท โดยนำที่ดิน ที่นำมาเป็นหลักประกันสูงเกินจริงถึง 1,350,100,000 บาท ทั้งที่ราคาประเมินเพียง 26,900,000 บาท โดยให้จำคุก 10 ปี และปรับ 1 ล้านบาท พร้อมทั้งให้ชดใช้เงินคืนบีบีซีด้วยจำนวน 1,132,000,000 บาท จากจำนวนความเสียหายทั้งหมด 1,657,000,000 บาท เนื่องจากการปล่อยกู้เงินได้มีการชำระเงินแล้วจำนวน 525,000,000 บาท

logoline