svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ออกไอเดีย จับฉลากแบ่งสาย ส.ว. เพื่อเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม

05 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

5 ส.ค. 60 - "โฆษก กรธ." เผยวางหลักการ เลือก ส.ว. 20 กลุ่มแล้ว แบ่งสายคลุมชาวนา กลุ่มทุน ถึง แม่ทัพ ออกไอเดียจับฉลากแบ่งสาย เลือกไขว้ส.ว. ต่างกลุ่ม พร้อมขีดโทษ ทั้งคุก-ปรับ-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง10ปี หากพบกรณีทุจริตเลือกส.ว.

  นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงกรอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ว่า ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้มีส.ว. จำนวน 200 คนที่มาจากกลุ่มที่หลากหลาย ดังนั้นในหลักการ กรธ. กำหนดให้ ส.ว. มาจากบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ใน 20 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ผู้มีคุณสมบัติต้องเคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร เป็นต้น 2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ผู้มีคุณสมบัติต้องดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา, ตุลาการ, อัยการ, ตำรวจ เป็นต้น, 3. กลุ่มการศึกษา คุณสมบัติ คือ ต้องเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย และผู้บริหารการศึกษา, 4. กลุ่มสาธารณสุข , 5.กลุ่มคนทำนาและปลูกพืชล้มลุก, 6.กลุ่มอาชีพคนทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง, 7.กลุ่มพนักงาน ลูกจ้างเอกชน, 8.กลุ่มผู้ทำอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค, 9.กลุ่มผู้ประกอบกิจการการค้า, ธุรกิจ, อุตสาหกรรมขนาดกลาง และ ขนาดย่อม, 10.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศ นายนรชิต กล่าวด้วยว่า 11. กลุ่มสตรี, 12.กลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มอัตลักษณ์อื่นๆ , 13.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรรม ดนตรี กีฬา การแสดงและบันเทิง, 14.กลุ่มประชาสังคม และ องค์กรด้านสาธารณประโยชน์, 15.กลุ่มสื่อสารมวลชนและผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม, 16.กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวหรือบริการ, 17.กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากการค้า อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม, 18.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม, 19.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพและอาชีพอิสระ และ 20.กลุ่มอื่นๆ "ในการกำหนดแบ่งกลุ่มดังกล่าว ยังต้องกำหนดคำนิยามและขอบเขตให้ชัดเจน เช่น อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าอย่างไร คือ ขนาดกลาง และขนาดย่อม ขณะที่กลุ่มผู้สุงอายุ ต้องกำหนดช่วงอายุไว้ด้วย ขณะที่การลงสมัครนั้น มีค่าสมัคร จำนวน 2,500 บาท โดยให้สิทธิบุคคลลงสมัครได้เพียงด้านเดียว และพื้นที่เลือกตั้งที่ตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือ เคยศึกษา หรือ เคยทำงานในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 3 ปี ส่วนกรณีที่ผู้สมัครเป็น ส.ว.มีความเชี่ยวชาญหลายด้าน กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้วินิจฉัย และให้ถือคำวินิจฉัยของกกต. นั้นเป็นที่สิ้นสุด" นายนรชิต กล่าว  นายนรชิต กล่าวถึงขั้นตอนได้มาซึ่ง ส.ว.ต่อว่า จะเปิดรับสมัคร ในระดับอำเภอ ทั้ง 20 กลุ่ม ส่วนวิธีการเลือกนั้นจะให้ผู้สมัครในกลุ่มทั้งหมดเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน โดยใช้เกณฑ์คะแนนสูงสุดตัดสิน จากนั้นให้ผู้ที่ผ่านคัดเลือกไปเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่น (เลือกไขว้กลุ่ม) ให้เหลือกลุ่มละ 3 คน โดยใช้คะแนนสูงสุดตัดสิน แต่หากมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจะใช้วิธีจับฉลาก ส่วนกรณีที่กลุ่มใดไม่มีผู้สมัครให้ส่งไประดับจังหวัดเท่าที่มีอยู่ จากนั้นในขั้นตอนเลือกระดับจังหวัดนั้นจะต้องเลือกให้เหลือกลุ่มละ 1 คน ดังนั้นจะมีตัวแทนระดับจังหวัด จำนวนไม่เกิน 20 คน เพื่อเข้าสู่การคัดเลือกระดับประเทศต่อไป "สำหรับแนวทางเลือกไขว้กลุ่ม ทั้งระดับอำเภอและจังหวัดนั้นนั้น กรธ. มี 2 แนวคิด คือ 1.ให้เลือกไขว้กลุ่มทุกกลุ่ม และ 2.ใช้การแบ่งสาย คล้ายกับจับฉลากฟุตบอลโลก กล่าวคือ ขั้นตอนแรกคือจับฉลากแบ่งสาย และจับฉลากว่าสายใดจะมีสิทธิเลือกไขว้กับสายใด สำหรับแนวทางแนะนำตัวของผู้สมัครนั้น จะทำได้เพียงทำเอกสารประวัติเผยแพร่ และงดการหาเสียงทุกกรณี ส่วนบทลงโทษของผู้ทุจริต หรือทำให้การเลือกส.ว. ไม่เป็นไปตามกฎหมาย อาทิ จ้างคนลงสมัคร, มีการจูงใจ หรือ สัญญาว่าจะให้เงิน หรือทรัพย์สิน เพื่อลงคะแนนเสียง มีโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2หมื่น ถึง 2 แสนบาท นอกจากนั้นยังมีข้อห้ามช่วยเหลือผู้สมัครส.ว. จากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ส.ส., สมาชิกสภาท้องถิ่น, ผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองด้วย ซึ่งหากพบการกระทำจะมีการลงโทษและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี โดยเหตุผลสำคัญเพื่อให้ส.ว. ไม่มีความเกี่ยวข้องกับนักการเมืองหรือรรคการเมือง" นายนรชิต กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดทำร่าง พ.ร.ป. ของกรธ. ทั้ง 10 ฉบับนั้น ล่าสุดได้ส่ง ร่าง พ.ร.ป. จำนวน 5 ฉบับ ให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาตามกระบวนการแล้ว ได้แก่ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง, ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง , ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยทั้ง 3 ฉบับผ่านการลงมติให้ส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ดำเนินการทูลเกล้าฯ , ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนั้นจะเหลือ ร่าง พ.ร.ป. อีก 5 ฉบับ ที่กรธ. จัดทำขณะนี้ ได้แก่ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต , ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ, ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. , ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน.

logoline