svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ยิ่งลักษณ์" มีสิทธิอุทธรณ์?

01 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ขึ้นชื่อว่า เป็นคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว การยื่นอุทธรณ์คำพิพากษายาก นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่นั่นเป็นอดีต เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2560 ทำให้โอกาสในการอุทธรณ์ และประกันตัว ได้หลังคำพิพากษาศาลฎีกา อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์มีความเป็นไปได้มากขึ้น

เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2560 อาจทำให้บทสรุปของคดีจำนำข้าว เปลี่ยนไป ด้วยเงื่อนไขใหม่ ที่บัญญัติ ใน "มาตรา 195 วรรค 4 " ให้มีการอุทธรณ์คำพากษา ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถทำได้ ทั้งฝ่ายโจทก์ และจำเลย โดยมีเงื่อนไขเพียงแค่ ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองมีคำพิพากษา หลุดพ้นจากข้อกำหนดเดิม ที่ต้องอาศัย "หลักฐานใหม่ ที่ทำให้ข้อเท็จจริง ในคดีเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ " ที่เคยเป็นอุปสรรค ซึ่งทำให้การยื่นอุทธรณ์ ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
แม้แต่ภาพเหตุการณ์ ที่เห็นจำเลยจะถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำทันที ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้จำคุก นั่นก็เกิดขึ้น จากหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ปี 2551 ที่กำหนดว่า องค์คณะผู้พิพากษา ที่จะชี้ว่าคดีเข้าข่ายว่าอุทธรณ์ได้หรือไม่ ไม่ใช่องค์คณะผู้พิพากษาที่่เป็นผู้ตัดสินคดี แต่ให้เป็นอำนาจของคณะผู้พิพากษา ที่ตั้งขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว ยังต้องสรุปเสนอความเห็นต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่า เข้าข่ายที่รับอุทธรณ์ไว้พิจารณาได้หรือไม่ ทำให้จำเลย ต้องเข้าคุกไปก่อนในวันพิพากษาคดี เพื่อรอกระบวนการอุทธรณ์ จึงจะได้รับสิทธิการประกันตัว
แต่ ณ เวลานี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญฯ 2560 ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งใช้มาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน มาตรา 195 วรรค 4 บัญญัติว่า คำพิพากษาศาลฎีกานักการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้ทันทีเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษา โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ และยังมีสิทธิยื่นประกันตัวได้ทันทีเช่นกัน ส่วนศาลจะให้ประกันหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
นั่นหมายความว่า ทุกคดีที่อยู่ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานัการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคดีอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ สั่งสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ ปี 2551 ที่กำหนดฟังคำพิพากษา 2 ส.ค.นี้ , คดีที่อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ บุญทรง เตริยาภิรมย์ ฮั้วประมูลในโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งนัดฟังคำพิพากษา 25 ส.ค. พร้อมกับคดีจำนำข้าว ของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ หากศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาให้จำคุก ก็จะได้รับสิทธิอุทธรณ์และยื่นประกันตัวได้ ทันทีในวันที่ศาลอ่านคำพิพากษา
เงื่อนไขเดียว ที่ยังเป็นข้อถกเถียง อาจมีเพียง เรื่อง ร่าง พ.ร.ป. วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายลูก ยังไม่ออกมาบังคับใช้เท่านั้น ที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่เท่านั้น

logoline