svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

30 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ... ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2560 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ส่งร่างฯให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาอีกครั้งว่าตรงกับเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีมติไม่คัดค้านเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นอำนาจของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่จะใช้ดุลพินิจลงนามเพื่อส่งร่างกฏหมายไปยังนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

สำหรับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญา มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

-ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับฟ้อง

มาตรา 17 เมื่อศาลประทับรับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือเจ้าหน้าที่รัฐหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

-ไม่นับอายุความคดี กรณีจำเลยหลบหนีคดีระหว่างพิจารณาหรือหลังศาลพิพากษา

มาตรา 25 วรรคสอง ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ

ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ ( ม.98 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นเรื่องเกี่ยวกับอายุความตามตัวจำเลยกลับมาดำเนินคดี หลังศาลมีคำพิพากษา )

-ศาลฯรับฟ้องได้ แม้ไม่มีตัวจำเลย

มาตรา 27 ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลและอัยการสูงสุด หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหลักฐานแสดงต่อศาลว่า ได้เคยมีการออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาแล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควรให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล

-ศาลฯพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้

มาตรา 28 ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามมาตรา 27 และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจำเลย และให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจำเลยรายงานผลการติดตามจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกำหนด

วรรคสอง ในกรณีที่ได้ออกหมายจับจำเลย แต่ไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย

-ศาลรับฟ้องแล้ว ถอนฟ้องไม่ได้

มาตรา 30 เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว ห้ามมิให้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง

-จำเลยไม่มาศาลในวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้ทันที

มาตรา 40 เมื่อการไต่สวนพยานหลักฐานเสร็จสิ้น โจทก์จำเลยมีสิทธิแถลงปิดคดีของตนภายในเวลาที่ศาลกำหนด แล้วให้องค์คณะผู้พิพากษามีคำพิพากษาและให้อ่านคำพิพากษาในศาลโดยเปิดเผยภายใน 30 วันนับแต่วันเสร็จการพิจารณา

วรรคสอง ในกรณีที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่จำเลยที่ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งลับหลังจำเลยได้และให้ถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว

-อุทธรณ์คำพิพากษาได้

มาตรา 60 คำพิพากษาของศาลให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

-จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต้องมาศาล

มาตรา 61 ในกรณีที่จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์ จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์

-คดีที่จำเลยถูกพิพากษาประหารฯหรือจำคุกตลอดชีวิต ต้องส่งให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษา แม้จำเลยไม่อุทธรณ์

มาตรา 62 คดีที่ไม่มีอุทธรณ์คำพิพากษา ให้เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาแต่ถ้าเป็นคดีที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ศาลมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีดังกล่าวต่อไปให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์

-การวินิจฉัยอุทธรณ์ ใช้องค์คณะของศาลฎีกาจำนวน 9 คน

มาตรา 63 การวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้ดำเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกาซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาจำนวน 9 คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน โดยให้เลือกเป็นรายคดี คำวินิจฉัยอุทธรณ์ขององค์คณะให้ถือว่าเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

บทเฉพาะกาล

มาตรา 69 บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่กระทบต่อการดำเนินการใดในคดีที่ยื่นฟ้องไว้ และได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ส่วนการดำเนิการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

logoline