svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

แปลงตอม่อร้าง เป็น ‘รถไฟฟ้าสีน้ำตาล-ทางด่วน’

27 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เป็นอนุสาวรีย์แท่งหินกลางถนนให้ผู้คนที่สัญจรไปมาได้ชื่นชมอยู่หลายปี ในที่สุดก็ได้รับการพัฒนาต่อยอดเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล อันเป็นผลมาจากรัฐบาลได้แถลงนโยบายเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและคมนาคมในระยะยาว โดยเริ่มโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและรถไฟฟ้าเชื่อมกรุงเทพมหานครกับเมืองบริวารเพิ่มเติม เพื่อลดเวลาในการเดินทางของประชาชนและเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เป็นโครงการที่มีแนวคิดมาจากการศึกษาทบทวนโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ที่มีการก่อสร้างเสาตอม่อเตรียมไว้แล้วบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ(ถนนเกษตร-นวมินทร์) ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กำหนดให้เป็นเส้นทางเชื่อมกับระบบทางพิเศษระหว่างเมืองด้านตะวันออก-ตะวันตก ทั้งนี้ การพัฒนาของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือได้หยุดชะงักลงตั้งแต่ปี 2556
กระทรวงคมนาคมจึงมีแนวคิดที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเป็นการทดแทน โดยใช้เสาตอม่อโครงการทางด่วนดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ และได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเป็นไปได้ในเบื้องต้น โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากแยกแคราย (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพู) ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณสถานีบางเขน) ผ่านแยกเกษตร(เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม บริเวณสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนนวมินทร์ และไปสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหง (เชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริเวณแยกลำสาลี) ระยะทางรวม ประมาณ 21.5 กิโลเมตร
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน(ประชาพิจารณ์) ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) เพื่อศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เมื่อวานนี้ (26 ก.ค.) โดยระบุว่า นอกจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาทบทวน และเสนอแนะการใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อที่ก่อสร้างไว้แล้วบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ(ถนนเกษตร-นวมินทร์) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะศึกษาความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน พร้อมเสนอแนะรูปแบบการลงทุนและเปรียบเทียบทางเลือกที่เหมาะสม รวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งจะต้องทำควบคู่กันไปซึ่งมีระยะเวลา 14 เดือน โดยเริ่มศึกษาตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2560 ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2561
"รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลนี้เป็น 1 ใน 3 โครงการย่อย มีสีน้ำตาล สีทอง และสีเทา ซึ่งเป็นระยะทางช่วงสั้นๆ ที่เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายหลัก เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายใยแมงมุม เพื่อลดปัญหาจราจรในเมืองหลวงและช่วยให้การเดินทางของประชาชนมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น"

แปลงตอม่อร้าง เป็น ‘รถไฟฟ้าสีน้ำตาล-ทางด่วน’


รมว.คมนาคม กล่าวต่อว่า สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าและแนวเส้นทางทางพิเศษ โดยแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี(บึงกุ่ม)นั้น เริ่มต้นจากแยกแคราย เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง(บางซื่อ-รังสิต)บริเวณสถานีบางเขน ผ่านแยกเกษตร เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม(หมอชิต-คูคต) บริเวณสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนนวมินทร์ และไปสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) บริเวณแยกลำสาลี รวมระยะทางประมาณ 21.5 กิโลเมตร
ส่วนแนวเส้นทางทางพิเศษจะเริ่มจากบริเวณสี่แยกเกษตร ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ตัดถนนประดิษฐ์มนูธรรม ถนนนวมินทร์ ไปสิ้นสุดที่ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกและส่วนต่อขยายจากบริเวณสี่แยกเกษตรไปเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ทั้งนี้ การศึกษาความเหมาะสมของโครงการจะต้องพิจารณาการเชื่อมต่อโครงข่ายการขนส่งและจราจรในภาพรวม และความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อโครงข่ายฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ด้วย

ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผอ.สนข.กล่าวเสริมว่า สำหรับเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะมีสถานีประมาณ 20 แห่ง และมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าอื่น 5 สาย เริ่มต้นจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีชมพูที่แคราย จากนั้นวิ่งไปตามแนวถนนงามวงศ์วานและเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีบางเขน ผ่านแยกเกษตรและเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนนวมินทร์ และไปสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหงเชื่อมต่อกับรถฟ้าสายสีส้ม
ทั้งนี้ การศึกษาทั้งหมดจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน 2561 หากสรุปว่าควรเลือกแนวทางที่ 4 ก็จะนำไปบรรจุในแผนแม่บทรถไฟฟ้า จากนั้นจะโอนให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ศึกษาแนวทางรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ต่อไปซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือน หาเอกชนมาลงทุนอีก 9 เดือนและน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปี 2562 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีและเปิดให้บริการได้ในปี 2565
"รถไฟฟ้าสายนี้จึงมีประโยชน์มาก เพราะเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟฟ้าแนวตะวันออก-ตะวันตกทั้งหมด แต่ยอมรับว่าอาจแย่งผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพูเล็กน้อย นอกจากนี้ กำลังพิจารณาเทคโนโลยีรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail) ให้เหมาะสมกับสายสีน้ำตาล ตอนนี้รถไฟฟ้ารางเบาในโลกมี 2 แบบ 1.รางเดี่ยว (Mono Rail) ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าแบบคร่อมรางและสามารถขนผู้โดยสารได้ครั้งละมากๆ แต่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างได้ในอนาคต และ 2.ขนส่งมวลชนแบบนำทางอัตโนมัติ (Automatic Guided Transit: AGT) ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างได้ในอนาคต แต่รถจะมีขนาดเล็กและขบวนสั้น แต่ก็มีผลดีที่สามารถปรับความถี่ของเที่ยวรถได้มากขึ้น" ชัยวัฒน์ย้ำทิ้งท้าย

แปลงตอม่อร้าง เป็น ‘รถไฟฟ้าสีน้ำตาล-ทางด่วน’


เปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) อนุกูล หมื่นวณิชกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมระบบราง สนข. กล่าวถึงการศึกษาออกแบบด้านวิศกรรมครอบคลุมพื้นที่ตามแนวเส้นทางของโครงการและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งจะพาดผ่านท้องที่ในเขตการปกครองบางส่วนของ จ.นนทบุรี ประกอบด้วย อ.เมืองนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย เขตบางซื่อ เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เขตบางเขน เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม และเขตบางกะปิ ในเบื้องต้นมีการศึกษาไว้ 4 รูปแบบเพื่อเปรียบเทียบทางเลือกที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการ โดยรูปแบบแรกเป็นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าอย่างเดียว โดยมีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางบริเวณแยกแคราย ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกเกษตรศาสตร์ ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนนวมินทร์ และไปสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหง ระยะทางประมาณ 21.5 กิโลเมตร ทั้งนี้ในช่วงถนนประเสริฐมนูกิจจะใช้โครงสร้างเสาตอม่อเดิมที่ก่อสร้างไว้แล้ว โดยมีเขตทางประมาณ 40 เมตร และมีระดับความสูงประมาณ 18-21 เมตร
ส่วนรูปแบบที่สอง การพัฒนาด้วยระบบทางพิเศษอย่างเดียว โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณสี่แยกเกษตรศาสตร์ ไปตามเกาะกลางของถนนประเสริฐมนูกิจ จนถึงถนนนวมินทร์แล้วแนวเส้นทางจะซ้อนทับกับทางหลวงหมายเลข 351 ไปบรรจบกับถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก รวมระยะทางประมาณ 11.9 กิโลเมตร ทั้งนี้ในช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ จะใช้โครงสร้างเสาตอม่อเดิมที่ก่อสร้างไว้แล้ว โดยมีเขตทางประมาณ 40 เมตร
ขณะที่รูปแบบที่สาม การพัฒนาด้วยระบบทางด่วนโครงข่ายทดแทน ประกอบด้วย 3 เส้นทางคือตอน N1 ผ่านถนนงามวงศ์วานช่วง ม.เกษตรศาสตร์ เชื่อมโทลล์เวย์/ศรีรัช ตอน N2 ตัดตรงระหว่างแยกเกษตรและแยกรัชวิภา และ E-W Corridor ตัดตรงระหว่างแยกเกษตรและแยกรัชวิภา
และรูปแบบที่สี่ เป็นการพัฒนาทั้งระบบทางด่วนและระบบรถไฟฟ้า ซึ่งรูปแบบนี้มี 4 แนวทางเลือกย่อย ได้แก่ ระบบทางด่วนอยู่ระดับบนสุด ระบบรถไฟฟ้าอยู่ระดับบนสุด ระบบรถไฟฟ้าและระบบทางด่วนอยู่ระดับเดียวกัน โดยมีระบบรถไฟฟ้าเข้า-ออกฝั่งเดียวและระบบรถไฟฟ้าอยู่ด้านข้างทั้ง 2 ข้าง
"จากการศึกษาด้านวิศวกรรมพบว่า รูปแบบที่ 4 น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับเส้นทางสายนี้ โดยเฉพาะทางเลือกย่อยที่ 4 น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด คือทางด่วนอยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยรถไฟฟ้าทั้งสองฝั่งขาไปและกลับ รูปแบบนี้ไม่มีผลกระทบทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากนัก ที่สำคัญไม่เสียทัศนียภาพของทั้งสองฝั่งด้วย"
ชาวบ้านในชุมชนสันติอโศกหลายคนที่เดินทางมารับฟังการประชาพิจารณ์ครั้งนี้ต่างเห็นด้วยที่มีรถไฟฟ้าผ่านเส้นทาง เนื่องจากจะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางมากขึ้น แต่สิ่งที่กังวลคือการได้รับผลกระทบจากแนวการเวนคืนที่ดิน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะต้องเวนคืนเขตทางเข้าไปลึกมากน้อยแค่ไหน
"เชื่อว่าชาวชุมชนเห็นด้วยนะที่มีรถไฟฟ้าผ่านหน้าสันติอโศก เพราะจะทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้น เหมือนกับสิงคโปร์ ที่มีโครงข่ายคมนาคมเชื่อมกันทุกจุด แต่สิ่งที่กังวลมีอย่างเดียวตอนนี้ในเรื่องการเวนคืนพื้นที่ แค่ไหนอย่างไร ค่าเวนคืนคุ้มไหมกับต้องย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลอีกครั้ง" ชาวบ้านคนเดิมระบุ

logoline