svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สรรพสามิต ยืดรีดภาษีน้ำตาล ให้เวลาภาคธุรกิจปรับตัว 6 ปี

24 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตให้เวลาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมปรับตัวเป็นเวลา 6 ปี ในการลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม หากไม่ดำเนินการตามอัตราที่กำหนด อัตราภาษีที่จัดเก็บจะปรับเพิ่มหลายร้อยเปอร์เซ็นต์

การเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.นี้เป็นต้นไป ตามกฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ซึ่งเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บตามมูลค่าที่ใช้ฐานราคาขายปลีกแนะนำเป็นเกณฑ์ จากเดิมจัดเก็บจากราคาหน้าโรงงานสำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศและเก็บบนราคาซีไอเอฟจากการนำเข้าสำหรับสินค้านำเข้า

การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมนั้น กรมสรรพสามิต ได้แบ่งระดับปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม เป็น 5 ระดับ คือ ปริมาณน้ำตาลต่ำกว่า 6 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร,  มากกว่า 6-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร, มากกว่า 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร,  มากกว่า 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร และมากกว่า 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ขึ้นไป

ทั้งนี้ จะแบ่งช่วงเวลาของการปรับตัวเป็น 3 ช่วงๆ ละ 2 ปี รวมเป็น 6 ปี ช่วง 2 ปีแรก ภาระภาษีของผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม เกินกว่าค่ามาตรฐาน ภาระภาษีจะใกล้เคียงกับปัจจุบัน แต่สำหรับเครื่องดื่มที่ปรับตัวโดยลดปริมาณน้ำตาลให้ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน เช่น น้ำตาลเป็น 0% หรือใช้สารแทนความหวานอื่น ภาระภาษีจะลดต่ำกว่าปกติ 20-30% เพื่อเป็นแรงจูงใจ

ช่วง 2 ปีของปีที่ 2  หากผู้ประกอบการรายใดยังไม่ปรับลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มให้อยู่ในค่ามาตรฐาน ภาระภาษีน้ำตาล จะปรับเพิ่มเป็น 100% เช่น ปรับเพิ่มจาก 1 บาท เป็น 2 บาท/กระป๋องหรือ ต่อขวด เป็นต้น

และช่วง2 ปีสุดท้าย กรณีที่ปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับที่สูงมาก เช่น เกิน 18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ภาระภาษีน้ำตาล จะถูกปรับเพิ่มขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์

สรรพสามิต ยืดรีดภาษีน้ำตาล ให้เวลาภาคธุรกิจปรับตัว 6 ปี


อย่างไรก็ตาม ช่วง 6 ปีของการปรับตัว  กรมสรรพสามิต จะปรับค่ามาตรฐานน้ำตาลในเครื่องดื่มลงมาเรื่อยๆ เพื่อให้ถึงระดับที่ปลอดภัยตามที่ WHO กำหนด คือ ระดับไม่เกิน 6 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จากปัจจุบันที่ระดับน้ำตาลในเครื่องดื่มในประเทศไทย สูงกว่าค่ามาตรฐานของ WHO ถึง 2 เท่า

กรมฯ ยังพิจารณาในแง่ของภาชนะบรรจุด้วย เช่น ขนาดขวดบรรจุเครื่องดื่มที่มีขนาดใหญ่ 1,000 มิลลิลิตร จะมีน้ำตาลเป็นส่วนผสมมากกว่า ภาชนะที่บรรจุขนาด 100 มิลลิลิตร ถึง 10 เท่า ดังนั้น ภาระภาษีต้องสูงขึ้นกว่าภาชนะขนาดเล็ก

การใช้มาตรการภาษี เพื่อลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มนั้น เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ให้การสนับสนุนการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ

"มาตรการดังกล่าว ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ เพราะเชื่อว่าจะปรับตัวได้ โดยปรับสูตรเครื่องดื่มให้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือหาสารแทนน้ำตาลอื่นที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ "

ในแง่ของรายได้จากภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่ม กรมฯ ไม่กังวลว่า การนำค่ามาตรฐานของน้ำตาลมาใช้ในเครื่องดื่ม จะส่งผลกระทบต่อยอดการบริโภค ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของกรมหรือไม่ เนื่องจากประเด็นที่เป็นห่วง คือ สุขภาพของประชาชนไม่ใช่รายได้

ปัจจุบันรายได้จากภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่ม (ที่ไม่มีแอลกอฮอล์) จัดเก็บได้ประมาณ 1.8-2 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต กล่าวว่า เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลที่เข้าข่ายถูกเก็บภาษีน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว และนมถั่วเหลือง โดยปัจจุบันเครื่องดื่มดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษี เนื่องจากมีส่วนผสมของผลผลิตทางการเกษตร

logoline