svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

เปิดมุมมองบนคำพิพากษา คดีค้ามนุษย์ ‘โรฮิงญา’

23 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มีมุมมองจากบุคคลหลายฝ่ายทั้งผู้พิพากษา ทนายความ ปลัดแรงงาน นักสิทธิมนุษยชน ต่อคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์ โรฮิงญา ที่น่าสนใจยิ่ง


กรณี ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ ได้มีคำพิพากษาในคดีค้ามนุษย์ โรฮิงญา ลงโทษสถานหนักจำเลย และจำเลยบางคนเป็นถึงข้าราชการระดับสูงยศนายพล


ในเรื่องนี้มีมุมมองจากบุคคลหลายฝ่ายทั้งผู้พิพากษา ทนายความ  ปลัดแรงงาน นักสิทธิมนุษยชน


นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา กล่าวถึงแนวทางการตัดสินของศาลคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาว่า การลงโทษนั้นก็เป็นการพิจารณาจากบทลงโทษที่กำหนดไว้ให้พฤติการณ์นั้นเป็นความผิด ซึ่งการที่ศาลลงโทษแต่ละคนหนัก-เบาไม่เท่ากัน ก็ล้วนเกิดจากหลักการพิสูจน์เจตนาร้ายของผู้กระทำ, พยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนซึ่งโจทก์-จำเลยมีโอกาสซักถามและซักค้านได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีเรื่องของนโยบายฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงความอิสระของผู้พิพากษา


เปิดมุมมองบนคำพิพากษา คดีค้ามนุษย์ ‘โรฮิงญา’


ไม่ใช่ศาลตั้งธงว่าถ้าผิดต้องลงโทษหนักเป็นเยี่ยงอย่างเพราะศาลไม่ใช่ผู้ปราบปราม แต่ศาลเป็นผู้พิสูจน์พยานหลักฐานที่กล่าวหานั้นว่าฟังลงโทษได้เพียงใด ถ้ากฎหมายกำหนดมีบทลงโทษหนัก ศาลก็พิจารณาตามบทกฎหมายให้เหมาะสมกับพฤติการณ์ที่ปรากฏในสำนวนและจากการสืบพยานที่ได้ข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติแล้ว ซึ่งแต่ละคดีจะมีพฤติการณ์แตกต่างกันไป  ส่วนการปราบปรามการค้ามนุษย์จะเป็นอย่างไรต่อไปก็เป็นเรื่องของฝ่ายสืบสวนสอบสวน และฝ่ายบริหารที่จะมีนโยบาย แต่การการตัดสินของศาลนั้นจะมีเฉพาะข้อกฎหมาย พยานหลักฐาน ไม่ใช่การนำนโยบายบริหารหรือกระแสสังคมมาเป็นเครื่องชี้วัดโทษหนัก-เบา แต่คำพิพากษาของศาล เรียกได้ว่าสะท้อนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนได้เห็นว่าอะไรคือสิ่งไม่ควรทำ ห้ามกระทำ ซึ่งก็เป็นการยับยั้งได้ทางหนึ่ง และให้ตระหนักเข้าใจถึงผลของการกระทำว่าจะมีผลกระทบอย่างไร แต่ไม่ใช่รูปแบบของการปราบปราม


ส่วนนายสรัลชา ศรีชลวัฒนา เลขาธิการสภาทนายความ ได้แสดงความเห็นต่อมุมมองการตัดสินลงโทษนักการเมืองท้องถิ่น , อดีตทหาร , อดีต ตร.และพลเรือน จำนวน 62 คน ในคดีนี้ ว่า จากบทลงโทษกับผู้เกี่ยวข้อง เชื่อว่าส่งผลให้เห็นถึงการปราบปรามที่จริงจัง ซึ่งศาลได้รักษาทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิของจำเลยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดก็ยกฟ้อง ส่วนที่ยกฟ้องแต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์ก็เป็นดุลยพินิจที่ดูรอบด้านถึงพฤติการณ์แต่ละคน ซึ่งแม้ชั้นพิจารณาจำเลยจะไม่ได้ประกันตัวแต่ชั้นอุทธรณ์ก็ยังมีสิทธิยื่นได้ ซึ่งการให้ขังระหว่างอุทธรณ์ไม่ได้ตัดสิทธิจำเลยยื่นประกันแต่อย่างใด ซึ่งนอกจากที่ศาลได้ตัดสินคดี ก่อนหน้านี้ก็มีกลุ่มสิทธิมนุษยชนออกมาเคลื่อนไหวเชื่อว่าการปราบปรามจะขยายผล ซึ่งการที่ศาลและอัยการจัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ขึ้นมา มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ก็น่าจะวางแนวทางต่อการปฏิบัติในคดีค้ามนุษย์ชัดเจนขึ้น


ขณะที่ หม่อมหลวงปุณฑริก  สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน  เห็นว่า  เชื่อว่าน่าจะเกิดผลดีกับประเทศไทย เนื่องจากผลทางคดีค้ามนุษย์ดังกล่าวมีคนในภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้องหลายราย และศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษให้จำคุก และก่อนหน้านั้นผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย แม้มีคนในภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ยังไม่มีผลออกมา(มี.ค.59-มี.ค.60) เป็นสาเหตุหนึ่งที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริการะบุให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศเทียร์ 2 (Tier 2) หรือประเทศที่ไม่สนับสนุน ปฏิบัติ ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำ ตามกฎหมายคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ และไม่มีความพยายามแก้ไข โดยเฉพาะการเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ


"ผลของคดีค้ามนุษย์ จะสะท้อนให้ต่างชาติเห็นว่า รัฐบาลไทยมีความจริงใจ และเอาจริงในการป้องปรามและแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ละเลยหรือยกเว้นโทษข้าราชการที่เข้าไปร่วมขบวนการค้ามนุษย์"ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุ


ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า  ภาครัฐที่เข้าไปร่วมขบวนการค้ามนุษย์หรือข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องขบวนการค้ามนุษย์ เป็นประเด็นหลักที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาตั้งข้อสังเกตเอาไว้แม้คดีค้ามนุษย์ในประเทศไทยมีจำนวนลดน้อยลงก็ตาม แต่หัวใจอยู่ที่ข้าราชการเข้าไปพัวพันขบวนการค้ามนุษย์เสียเองและไม่มีรายไหนได้รับโทษ


"ประเด็นนี้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับภาครัฐและกระบวนการสอบสวนด้วย ในส่วนของแรงงานมีมาตรการคุมเข้มออกมามากมาย ส่วนมากเป็นเพียงการเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบการที่ทำผิดกฏหมาย แต่ไม่ถึงขั้นคดีอาญา อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการจ้างงานแรงงานต่างด้าว หากพบมีแรงงานเด็กหรือเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีตามพ่อแม่มาทำงานด้วย สถานประกอบการจะต้องมีศูนย์ดูแลเด็กหรือมีครูมาสอนเด็กกลุ่มนี้"ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว


เปิดมุมมองบนคำพิพากษา คดีค้ามนุษย์ ‘โรฮิงญา’


ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษย์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีที่เกิดขึ้นมานานมากแล้ว ภายหลังที่เจ้าหน้าที่สืบพบค่ายกักกันและหลุมฝังศพชาวโรฮิงญา ที่บริเวณเทือกเขาแก้ว ชายแดนไทย-มาเลเซีย เมื่อสืบสวนสอบสวนกลับพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยซึ่งคำพิพากษาศาลในครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศไทย ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าประเทศเราเอาจริงเอาจังกับการค้ามนุษย์


นางอังคณา กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือประเด็นในการคุ้มครองพยาน เพราะถึงแม้ มีกฎหมายคุ้มครองพยานตามพ.ร.บ.ค้ามนุษย์ แต่ก็เป็นการคุ้มครองพยานในช่วงของการสืบพยานเท่านั้น เมื่อสืบพยานเสร็จ การคุ้มครองพยานก็สิ้นสุดลง ซึ่งกรณีเช่นนี้ยังเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องหาแนวทางแก้ไขหรือคุ้มครองพยานให้ได้เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะไม่มีใครกล้าเป็นพยานหรือเข้ามาทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนในกรณีเช่นนี้อีก


นางอังคณา ยังกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม กสม. อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อทำหนังสือเสนอแนะไปยังรัฐบาลในการหาแนวทางแก้ไขประเด็นการคุ้มครองพยาน และประเด็นค้ามนุษย์สำหรับชาวโรฮิงญา จะต้องช่วยกันหาแนวทาง


ขณะที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า ตามขั้นตอนแล้วเมื่อศาลตัดสินคดีเป็นที่เรียบร้อย รัฐบาลก็ต้องส่งตัวชาวโรฮิงญาที่เป็นเหยื่อของคดีค้ามนุษย์กลับไปยังประเทศบ้านเกิด ซึ่งจากการที่ตนเคยไปติดตามเรื่องดังกล่าว เหยื่อคดีค้ามนุษย์ที่เป็นชาวโรฮิงญานั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ชาวโรฮิงญาที่มีสัญชาติบังคลาเทศ พวกนี้จะมีบัตรประจำตัวถูกต้องชัดเจน ยืนยันตัวตนและสัญชาติได้ ส่วนกลุ่มที่ 2.ชาวโรฮิงญาที่มีสัญชาติ กลุ่มนี้ไม่มีบัตรประจำตัว ซึ่งหากรัฐบาลจะส่งเหยื่อค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญากลับประเทศก็ต้องลงไปตรวจสอบข้อมูลอย่างชัดเจน มีล่ามที่ให้ข้อมูลได้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อแยกสัญชาติก่อนดำเนินการส่งตัวกลับประเทศ 


นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ต้องถามว่ารัฐบาลจะส่งตัวกลับหรือไม่ แต่การพูดกันว่าไม่สามารถส่งชาวโรฮิงญากลับไปยังประเทศได้ เนื่องจากการประเทศเหล่านี้ไม่รับชาวโรฮิงญากลับประเทศนั้น  เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เพราะประเทศพม่าเองไม่เคยมีแถลงการณ์จากทางการออกมาชัดเจนว่าไม่รับชาวโรฮิงญากลับประเทศ และการไม่ส่งกลับประเทศก็จะกลายเป็นว่าไทยต้องมารับภาระการดูแล  อีกทั้งถ้าเราส่งตัวกลับไปหมด ขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทยก็จะไม่สามารถเดินต่อไปได้อีก 


ที่มา : ข่าวคมชัดลึก

logoline