svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

วันนี้ในอดีต...ม.44 แก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

21 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนีในอดีต...21 ก.ค. 2559 หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยเร่งรัดให้แก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าเป็นเครือข่ายเดียวกัน

วันนี้ในอดีต 21 ก.ค. 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 42/2559 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือสายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง - บางซื่อ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ซึ่งยังมีปัญหาในการเชื่อมต่อและร่วมใช้ระบบรถไฟฟ้า การพิจารณาคัดเลือกเอกชน และการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน เเละเพื่อให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน

คสช.จึงมีคำสั่งให้คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์ การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประโยชน์ในการเชื่อมต่อหรือร่วมใช้กิจการรถไฟฟ้า โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้เสนอหลักเกณฑ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหลักเกณฑ์ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน จึงให้คณะกรรมการคัดเลือกและคณะกรรมการกำกับดูแลประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและส่วนต่อขยายโดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์

และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้ว ให้เจรจาร่วมกันกับผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลให้ดำเนินการโครงการส่วนต่อขยาย และดำเนินการให้มีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลกับผู้รับสัมปทานดังกล่าว เพื่อให้สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน

ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือก การเจรจา และร่างสัญญาการว่าจ้างบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ให้ติดตั้งระบบและบริหารเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ รวมทั้งช่วงบางซื่อ-เตาปูนแต่เพียงรายเดียวเช่นเดิม

และยังมีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยให้นำสัญญาการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ที่จะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 มารวมกับสัญญาการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและให้ทั้ง 2 ส่วนสิ้นสุดสัมปทานพร้อมกันในปี 2592 แต่ยังคงค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตลอดเส้นทางเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวและคงอัตราค่าโดยสารสูงสุดไว้ที่ 42 บาทเท่ากับปัจจุบัน ซึ่งคิดเป็นผลประโยชน์ที่คืนให้ประชาชนประมาณ 62,569 ล้านบาท หรือปีละ 2,085 ล้านบาท

ในขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงต่อครม.ถึงผลการเจรจากับบีอีเอ็ม เรื่องค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบรถไฟฟ้าอยู่ที่ 20,826 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 4,617 ล้านบาท ค่างานดำเนินการและบำรุงรักษา (O&M) 207,062 ล้านบาท ลดลง 32,840 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.5% ในช่วง 3 ปีแรก และเพิ่มขึ้น 0.25% ต่อปี แต่สูงสุดอยู่ที่ 7.5% และผลตอบแทนอยู่ที่ 27,813 ล้านบาท ถ้าผู้โดยสารเป็นไปตามประมาณการ โดยผลตอบแทนภายในส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity IRR) อยู่ที่ 9.75% ตลอดอายุโครงการ 30 ปี

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้โครงการได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พร้อมกำหนดให้โครงการร่วมทุนด้านคมนาคมระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ทุกโครงการ รวมถึงการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต้องใช้ระบบตั๋วร่วมเพื่อผลักดันให้ระบบตั๋วร่วมประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกัน ให้เพิ่มบุคคลที่สาม (Third Party) เข้ามาทำหน้าที่ในการตรวจสอบรายได้ รายรับและรายจ่ายของการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งหมดเพื่อความโปร่งใส ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จะต้องแจ้งให้บีอีเอ็มรับทราบก่อนลงนามในสัญญาและอาจพิจารณากำหนดไว้ในร่างสัญญาด้วย

ส่วนการดำเนินการในรูปแบบ PPP Net Cost นั้น นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยชี้แจงว่าเป็นรูปแบบที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด โดยรัฐไม่มีการเงินอุดหนุนโครงการและเอกชนต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงทั้งหมดเอง ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะอัตราค่าโดยสารเท่าเดิมแต่เดินทางได้ไกลกว่าเดิม รวมทั้งยังทำให้การเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อเนื่องตลอดทั้งสาย และมีความปลอดภัยมากกว่าในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะการมีผู้เดินรถรายเดียวจะบริหารจัดการได้ดีกว่ามีผู้เดินรถหลายราย

ทั้งนี้การการลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost นั้นก็เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ และขยายระยะเวลาการเดินรถสายสีน้ำเงินหรือสายเฉลิมรัชมงคลที่วิ่งอยู่ปัจจุบันให้สิ้นสุดระยะเวลาเดียวกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย คือในปี 2592 สาเหตุที่เจรจาให้เอกชนรายเดิมเป็นผู้เดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เพราะจะได้มีการเดินรถต่อเนื่อง จากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ และให้เดินรถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางใหญ่ เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด การเจรจาเดินรถดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 และได้กำหนดให้เก็บค่าแรกเข้าได้ครั้งเดียวและกำหนดอัตราค่าโดยสาร 16-42 บาท

ปัจจุบันรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง-บางซื่อมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 42 บาท แม้จะเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายก็จะยังเก็บค่าโดยสารในอัตราสูงสุดที่ 42 บาทเหมือนเดิมตลอดอายุสัญญาในปี 2592 ถือว่าประชาชนได้ประโยชน์เพราะไม่ต้องเสียค่าตั๋วเพิ่ม โดยส่วนต่อขยายจะสามารถเปิดเดินรถได้บางส่วนก่อน คือช่วงหัวลำโพง-หลักสอง โดยจะเปิดให้บริการในปลายปี 2562 ส่วนการเดินรถทั้งโครงการจะเปิดให้บริการต้นปี 2563 คาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างได้หลังชี้แจงเงื่อนไขเพิ่มเติมให้แก่บีอีเอ็มและต้องผ่านการตรวจสอบจากบุคคลที่สามแล้ว

อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแคนั้น มีระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดิน 4 สถานี คือ สถานีวัดมังกรกมลาวาส สถานีวังบูรพา สถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพ และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับในช่วงท่าพระบางแค ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 7 สถานี คือ สถานีท่าพระ สถานีบางไผ่ สถานีบางหว้า สถานีเพชรเกษม 48 สถานีภาษีเจริญ สถานีบางแค และสถานีหลักสอง

ส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับทั้งหมด มี 8 สถานี คือ สถานีบางโพ สถานีบางอ้อ สถานีบางพลัด สถานีสิรินธร สถานีบางยี่ขัน สถานีบางขุนนนท์ สถานีแยกไฟฉาย และสถานีจรัญสนิทวงศ์ เริ่มต้นจากสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ผ่านแยกเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ เข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านสี่แยกบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกไฟฉายและสิ้นสุดที่แยกท่าพระ โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค ณ ที่จุดดังกล่าว

logoline