svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

นักวิชาการแย้ง คนร้ายฆ่า 8 ศพ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ

13 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"นักวิชาการด้านอาชญวิทยา ระบุ แนวทางการสืบสวนคดีฆ่ายกครัว8ศพ แม้ไม่มีกล้องวงจรปิดและปลอกกระสุน แต่กุญแจสำคัญคือพยานที่รอดชีวิต และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ในที่เกิดเหตุ ผู้ก่อเหตุอาจไม่ใช่ทีมสังหารที่มีความชำนาญทุกคน พฤติการณ์ก่อเหตุสามารถศึกษาจากภาพยนตร์หรือผู้เคยกระทำความผิดโดยจากสถิติพบว่า ความขัดแย้งทางธุรกิจ ความโกรธแค้นเป็นชนวนให้ฆ่ายกครัวได้"

นักวิชาการด้านอาชญวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล วิเคราะห์ถึงประเด็นฆ่ายกครัว 8ศพ ที่ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ว่า จากข้อมูลที่ปรากฎ ชี้ให้เห็นว่า ผู้ก่อเหตุประสงค์ต่อชีวิต ส่วนรูปแบบและวิธีการก่อเหตุ วิเคราะห์ได้หลากหลาก เพราะว่า คนก่อเหตุจะเป็นเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือบุคคลทั่วไป ก็ได้ ที่เรียนรู้ ศึกษา พฤติการณ์ต่างๆในการกระทำความผิดมา ไม่ว่าจะเป็น จากภาพยนตร์ เพื่อนผู้กระทำความผิดด้วยกันที่เคยก่อเหตุ ซึ่งได้ศึกษาพฤติการณ์แล้วนำมาก่อเหตุจริง ทั้งการเก็บปอกกระสุน ถอดเซฟเวอร์ กล้องวงจรปิด ใส่ที่คลุมปิดบังใบหน้า ใส่ถุงมือ
สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นว่า ต่อไปการทำงานของรัฐจะต้องปรับตัวให้เท่ากันกับรูปแบบของคนร้าย รวมถึงภาคประชาชนและภาคเอกชนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะกล้องวงจรปิดที่จะต้องมีความคมชัด เพื่อใช้ติดตามรถของผู้ก่อเหตุ เพราะส่วนใหญ่แล้วคนร้ายมักจะต้องใช้รถเป็นพาหนะในการก่อเหตุ
ส่วนกรณีที่พูดถึงว่า หากเป็นซุ้มมือปืนจะต้องมีจรรยาบรรณในการก่อเหตุ จะไม่ยิงผู้หญิง เด็ก และเลือกแค่ยิงเป้าหมายเท่านั้น จะต้องดูว่ามือปืนเป็นใคร ซึ่งมองได้เป็น 2 กรณี คือ หากเป็น มือปืนสมัยก่อน ที่เรียกกันว่านักเลงตัวจริง หรือนักเลงทั่วไปที่ฆ่าตอบแทบบุญคุณผู้ที่สั่งมา หรือเพื่อผลประโยชน์
เหตุผลที่คนจะฆ่ากันได้ จากสถิติในการก่อเหตุอาชญากรรม ปัจจัยหลัก มีเรื่องของความขัดแย้งทางธุรกิจ ความโกรธแค้น ชู้สาว และธุรกิจมืด พวกยาเสพติด และความเกลียดชังแม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแต่มีความเชื่อที่ต่างกัน ถ้าเป็นการขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ก็เป็นไปได้ว่าจะต้องมีการเจรจาต่อรองก่อนก่อเหตุ และคนในบ้านก็อาจจะมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์นี้ด้วยหรือไม่ หรืออาจจะกลัวว่าจะเป็นพยานในการก่อเหตุ หรือ อาจจะรู้จักกันคนที่มาก่อเหตุหรือไม่ จึงต้องฆ่าทุกคน
สำหรับแนวทางการสืบสวน เชื่อว่า ตำรวจมีหลายช่องทาง แต่หลักอาชญวิทยา ระบุว่า ทุกการกระทำความผิดของคนร้ายจะทิ้งร่องรอยไว้เสมอ แม้จะมีการปิดบังใบหน้า เก็บเซฟเวอร์กล้องวงจร เก็บปอกกระสุนไปก็ตาม เพราะยังมีพยานบุคคล โดยเฉพาะพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น ร่องรอยรองเท้า ดิน ร่องรอยที่คนร้ายเข้ามาภายในบ้าน เศษผม เล็กๆน้อยๆ แต่นิติวิทยาศาสตร์ จะมีเครื่องมือในการตรวจพิสูจน์เฉพาะทางโดยละเอียด อีกทั้งจะต้องตรวจสอบไปถึงเส้นทางการเงินของผู้ใหญ่บ้าน ภรรยา และคนใกล้ชิด
ซึ่งวิธีการสืบสวนทั่วไป ลำดับแรกจะต้องตั้งประเด็นการสังหารก่อนว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับประเด็นใด และหากกรณีนี้ตำรวจจะให้น้ำหนักไปที่ประเด็นความขัดแย้งเรื่องการก่อสร้างโรงโม่หิน ก็จะต้องตรวจสอบกลุ่มผู้ถือหุ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงโม่หิน วิธีการจัดตั้ง ความเชื่อมโยงไปถึงบุคคลที่จัดตั้ง การใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ
คดีนี้มีความยากพอสมควรในการสืบหาตัวคนร้าย เพราะกล้องวงจรปิดที่เป็นหลักฐานภาพในที่เกิดเหตุไม่มี ดังนั้นพยานบุคคลที่รอดชีวิต จะเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดในการไขคดีนี้ ทั้งนี้ก็ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่เพื่อให้ปิดคดีโดยเร็ว เพราะหากปิดคดีได้เร็ว โปร่งใส และเป็นธรรม เชื่อว่าจะส่งผลต่อผู้ที่คิดจะก่อเหตุลักษณะนี้เกิดความเกรงกลัวในการบังคับใข้กฎหมายอย่างจริงจังได้
พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ให้ข้อสังเกตุไว้ว่า ปกติถ้าเป็นทีมสังหารที่เป็นมืออาชีพ เมื่อถูกส่งออกไปทำงาน ส่วนใหญ่จะไม่มีผู้รอดชีวิต เพราะจะต้องมีการตรวจสอบก่อนทุกรายว่าเสียชีวิตหรือยัง แต่กรณีนี้ มีผู้รอดชีวิตได้ สะท้อนให้เห็นว่า คนที่ลงมือยิงอาจจะไม่ใช่แค่คนเดียวยิงทุกคน และกลุ่มผู้ก่อเหตุจะต้องมีคนที่ไม่มีความชำนาญหรือไม่เคยก่อเหตุในลักษณะนี้ จึงยิงพลาด

logoline