svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

วันนี้ในอดีต...'ศาลกรุงเฮก' ตัดสิน ‘จีน’ แพ้คดีทะเลจีนใต้

12 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ในอดีต 12 ก.ค. 2559 ศาลกรุงเฮกตัดสินว่า จีนไม่มีสิทธิที่จะอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ แต่ จีน ไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว

วันนี้ในอดีต...12 ก.ค. 2559 ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พิจารณาคดีฟิลิปปินส์ฟ้องจีน เรื่องกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ และศาลอนุญาโตตุลาการฯตัดสินว่า จีนไม่มีสิทธิทางประวัติศาสตร์ที่จะอ้างกรรมสิทธิ์ทรัพยากรในทะเลจีนใต้และ "เส้นประ 9 เส้น" (Ninedash line) ที่จีนระบุในแผนที่ของตนมาตั้งแต่ 69 ปีก่อน เพื่ออ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ เกือบทั้งหมดราว 90% เป็น "โมฆะ"
ส่วนเกาะเทียมที่จีนถมสร้างขึ้น ก็ไม่เข้าข่ายเป็นเกาะที่จะมีประชากรอยู่อาศัยได้ยั่งยืน จีนจึงไม่อาจอ้าง เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลรอบๆเกาะได้ และควรยุติการก่อสร้างสิ่งต่างๆไว้ก่อนขณะที่ยังมีคดีฟ้องร้องแย่งกรรมสิทธิ์กันอยู่
คำพิพากษายังระบุว่า จีนละเมิดสิทธิในอธิปไตยใน เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ของฟิลิปปินส์ ทั้งด้วยการเข้าไปสำรวจปิโตรเลียม แทรกแซงการทำประมงและสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะที่หมู่เกาะปะการัง "สการ์โบโรห์" ส่วนการถมสร้างเกาะเทียมและการทำประมงมากเกินไปของจีนก็ทำลายสิ่งแวดล้อมของ "หมู่เกาะสแปรตลีย์" ทำให้แนวปะการังและสัตว์น้ำหายากเสี่ยงสูญพันธุ์
สำหรับองค์คณะผู้พิพากษา มีด้วยกัน 5 คน ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ โดยฟิลิปปินส์แต่งตั้งผู้พิพากษา1 คน เป็นชาวเยอรมัน แต่จีนปฏิเสธที่จะใช้สิทธิ์แต่งตั้งผู้พิพากษาของตน 1 คน และไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีตั้งแต่แรก โดยอ้างว่า ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ไม่มีอำนาจตัดสินคดีนี้
ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ปฏิเสธไม่ยอมรับคำตัดสินคราวนี้ โดยบอกว่าประชาชนของตนมีประวัติศาสตร์มากกว่า 2,000 ปีอยู่ในทะเลจีนใต้ และเกาะต่างๆ ของตนก็มีสิทธิที่จะอ้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะ อีกทั้งจีนได้ประกาศต่อโลกให้ทราบถึงแผนที่เส้นประของตนมาตั้งแต่ปี 1948 แล้ว
"อธิปไตยทางดินแดนและสิทธิตลอดจนผลประโยชน์ทางทะเลต่างๆ ของจีนในทะเลจีนใต้ ไม่ว่าในสถานการณ์เช่นใดก็จะไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากคำตัดสินเหล่านี้ จีนคัดค้านและไม่มีวันยอมรับการกล่าวอ้างหรือการกระทำใดๆ บนพื้นฐานของคำตัดสินเหล่านี้" กระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุ
แม้คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร จะมีผลผูกมัดทางกฎหมายและถือเป็นที่สิ้นสุดห้ามอุทธรณ์ใดๆอีก แต่ ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ไม่มีอำนาจบังคับให้คู่กรณีปฏิบัติตามคำตัดสินได้ จึงไม่ต่างจาก "เสือกระดาษ"

logoline