svasdssvasds
เนชั่นทีวี

บันเทิง

เพราะเหตุการณ์ในคืนนั้น?

06 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเล่นดนตรีไทย สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ คือ การไหว้ ทุกคนที่เล่นและเรียนดนตรีไทยก่อนเริ่มเล่นต้องยกมือไหว้ และเมื่อเลิกเล่นก็จะยกมือไหว้อีกครั้ง โดยมีความเชื่อว่า เครื่องดนตรีไทยทุกชิ้น จะมีครูบาอาจารย์สถิตอยู่ด้วย การไหว้เครื่องดนตรีไทยจึงเป็นการแสดงความเคารพ และกตัญญูต่อครูบาอาจารย์นั่นเอง

คลิกอ่าน เรื่องหลอนซอย8มัน...คือตัวอะไร?
คลิกอ่าน เรื่องหลอนซอย8แม่จ๋า...หนูหนาวคลิกอ่านเรื่องหลอนซอย8หรือเป็นเพราะ...จดหมายฉบับนั้น
คลิกอ่าน เรื่องหลอนซอย8ป้าบอกว่า เขา...อยู่ตรงนี้
คลิกอ่าน เรื่องหลอนซอย8ทัณฑ์...มาทัน



เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ เมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นในชมรมดนตรีไทย โดยในชมรมจะแบ่งเครื่องดนตรีไปตามความถนัดของแต่ละบุคคล บางคนถนัดเครื่องตี จะไปเล่น ระนาด/ ฆ้อง บางคนถนัดเครื่องเป่า จำพวกปี่ และบางคนก็ถนัดเครื่องหนัง เช่น กลองต่างๆ

"ต้น" เด็กหนุ่มหุ่นนักกีฬา นิสัยร่าเริง คุยสนุก เป็นที่รักใคร่ของเพื่อนๆ และเป็นเด็กคนหนึ่งที่อยู่ในชมรมนี้ ต้นตีกลองเก่งทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น กลองแขก,รำมะนา,กลองสะบัดชัยหรือแม้แต่"ตะโพน" ต้นสามารถเล่นได้ทั้งหมด ต้นเป็นคนที่เรียนเก่ง ทางด้านการเล่นดนตรีไทยก็ถือได้ว่า เป็นเด็กที่มีพรสวรรค์มากเลยทีเดียว และเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ทำให้"ต้น"ไม่มีสติ หรือเรียกง่ายๆว่าเป็นบ้า ซึ่งแม้แต่"หมอ"ก็ยังหาสาเหตุไม่ได้

ต้น เป็นลูกชายคนเดียว ในครอบครัวค้าขายที่อบอุ่นมาก เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบพ่อแม่เลี้ยงดูอย่างดี มีฐานะที่จัดได้ว่า กินอยู่โดยไม่ลำบากอะไร ซึ่งในเรื่องนี้หากจะมองสาเหตุมาจากครอบครัวจนถึงขนาดทำให้คนๆ หนึ่งมีอาการคล้ายคนเป็น"บ้า" สาเหตุนี้คงต้องตัดไปได้เลย ในชมรมดนตรีไทยทั้งวง ตั้งแต่ครูบาอาจารย์และลูกศิษย์ พูดกันเป็น เสียงเดียวกันว่าเพราะเหตุคืนนั้นหรือไม่? ที่ทำให้"ต้น"ต้องเป็นคนแบบนี้

คืนนั้นเป็นงานประจำปีของโรงเรียน ทุกปี จะมีการเล่นโขนและมีการเล่นดนตรีไทยประกอบในวงปี่พาทย์ สมาชิกในวงทุกคนเตรียมขนของเพื่อที่จะไปตั้งบนเวทีและจะมีการซ้อมจริง คนที่เล่นเครื่องดนตรีตำแหน่งอะไร ก็รับผิดชอบเครื่องดนตรีชนิดนั้น ใครเป่าปี่ก็ถือปี่ ใครเล่นระนาดก็ถือระนาด ส่วน"ต้น"เล่น"ตะโพน" ต้นจึงต้องหิ้วตะโพนเพื่อทำการแสดงในวันนั้น


("ตะโพน" เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทประกอบจังหวะ ขึ้นหน้าด้วยหนังสองหน้า ตัวตะโพนเรียกว่า "หุ่น" ทำด้วยไม้สักหรือไม้ขนุนหรือไม้ที่มีน้ำหนักเบา เช่น ไม้กระท้อน ทำเป็นท่อนกลม กลางป่องตัดหัวท้าย เหมือนไข่ไก่ตัด)

ในขณะที่ทุกคนกำลังขนย้ายเครื่องดนตรีกัน ต้นเกิดปวดท้องหนัก อยากจะเข้าห้องน้ำ เพราะเมื่อคืนที่ผ่านมา จัดหมูกะทะมาเต็มที่ และด้วยความรักในดนตรีไทยและกลัวว่าเครื่องดนตรีของโรงเรียนจะสูญหาย

"ต้น"จึงนำ"ตะโพน"เข้าห้องน้ำไปด้วย โดยไม่ได้คิดอะไร คิดแค่เพียงว่ากลัวของจะหาย

หายไปพักใหญ่ เพื่อนในวงคุยกันว่า "ต้น"หายไปไหน เพราะตอนนี้เครื่องดนตรีไทย ถูกติดตั้งในตำแหน่งที่รอการแสดงเรียบร้อยแล้ว ขาดแต่เพียง"ตะโพน"ของต้น เพราะต้องเตรียมการผูกผ้าและเตรียมการ"ไหว้ครู"
ปรากฏว่า"ต้น"หายไปนานมากเป็นชั่วโมง จึงต้องออกตามหา เพื่อนๆพากันสงสัยว่าทำไมแค่เข้าห้องน้ำจึงหายไปนาน จึงพากันไปตามต้นที่ห้องน้ำ
ครั้งพอเพื่อนๆในวงไปถึง จึงตะโกนเรียก
"ต้น...นายอยู่ในห้องน้ำไหม"เงียบ...ไม่มีเสียงตอบ

แต่ในห้องน้ำโรงเรียนชาย 5 ห้อง มีห้องหนึ่งที่ปิดประตูไว้ "ต้น"ต้องอยู่ในห้องนี้แน่ๆเพื่อนในวงคนหนึ่งไม่รอช้ารีบเข้าไปเคาะเรียก พร้อมกับพูดว่า
"ต้น นายอยู่ข้างในไหม เปิดประตูให้หน่อย นายเป็นอะไรหรือเปล่า"เงียบ...ไม่มีเสียงตอบ

เพื่อนอีกคนหนึ่งจึงตัดสินใจ ออกแรง"ถีบ"ประตู ด้วยกลัวว่าต้นจะเป็นอะไรไป เพื่อนคนนั้นถีบประตูไปเต็มแรง ประตูก็เปิดออกและภาพที่ทุกคนเห็นนั่นก็คือ...

ภาพของต้น ที่เสื้อถูกถกไว้บริเวณเอว ส่วนกางเกงก็กองอยู่ที่เท้า นั่งอยู่บนโถส้วม เพราะกำลังถ่ายหนัก สายตาดูลอยๆ นั่งน้ำตาไหลพราก ที่เท้ามี"ตะโพน"ตั้งอยู่ที่พื้น ฝั่งเดียวกับกระดาษชำระภายในห้องน้ำ

เพื่อนเห็นดังนั้น จึงช่วยกันนำสายชำระมาล้างทำความสะอาดและใส่เสื้อผ้าให้ต้น ซึ่งตอนนี้ก็ยังร้องไห้ นั่งซึม ถามคำตอบคำ หลังจากที่นำต้นออกมาจากห้องน้ำแล้ว เพื่อนอีกคนหนึ่งก็ไปยกมือไหว้และหิ้วตะโพนออกมา เพื่อนๆก็ช่วยกันหามต้นลงไปข้างล่างที่จะมีอากาศถ่ายเทมากกว่านี้

จากนั้นมีเพื่อนคนหนึ่งถามต้นว่า"ต้น นายเล่นไหวไหม นายดูไม่ดีเลยตอนนี้ ไปโรงพยาบาลไหม"
ต้นตอบกลับมาว่า "ได้" แต่ดูสายตาของต้นในตอนนั้น ดูลอยไปลอยมา จนกระทั่งถึงเวลาแสดง วันนั้นเป็นวันไหว้ครู เพลงแรกที่จะเล่นกัน คือ "เพลงสาธุการ" เพลงนี้เป็นเพลงหน้าพาทย์เป็นเพลงชั้นสูง เอาไว้ประกอบพิธีวันไหว้ครู "ต้น"ตีหัวขึ้นเพลง ตีไปได้พักหนึ่ง
เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น

อยู่ๆ ต้นก็ออกอาการโวยวาย เสียงดังโหวกเหวก ต่อมา มีอาการ"ชัก" ในระหว่างบรรเลงเพลงไหว้ครูทุกคนหยุดเล่นทันที จากนั้นครูและเพื่อนๆ จึงรีบนำต้นไปส่งโรงพยาบาล เพื่อคนหนึ่งจึงรีบโทรไปหาแม่ของต้น และถามว่าต้นมีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ เป็นโรคลมชัก หรือเป็นโรคอื่นๆแล้วอาการกำเริบหรือไม่ แม่ตอบว่า"ไม่มี"

ครั้งเมื่อคุณหมอได้ตรวจอาการของต้นแล้ว หมอบอกว่าหมอเช็คดูอาการทุกอย่างแล้ว ต้นเป็นปกติทุกอย่าง อาจจะตื่นเต้น พักผ่อนน้อยก็ได้

หลังจากที่ทุกคนทราบคำตอบของคุณหมอแล้ว ครูและเพื่อนๆ คิดกันตรงกันว่า สาเหตุที่ต้นต้องเป็นแบบนี้ ต้องเป็นเรื่องที่ต้นนำตะโพนเข้าไปในห้องน้ำแน่ๆ เป็นกระทำการอันไม่เหมาะสม หลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลมาแล้วจึงพาต้นไปขอขมา ที่ตะโพนที่ต้นถือเข้าห้องน้ำไปในวันนั้น โดยเตรียมเครื่องไหว้มาครบไม่ว่าจะเป็นเหล้า ผ้าขาว ดอกไม้ธูปเทียนซึ่งหลังจากขอขมาแล้วดูเหมือนว่าอาการจะดีขึ้น แต่สักพักก็กลับมาแย่เหมือนเดิม

หลังจากนั้นไม่ว่าจะมีงานไหว้ครูที่ไหน มักจะพาต้นตระวณไปขอขมา ปีนี้ไม่ดีขึ้น ปีหน้าไปใหม่ สถาบันการศึกษาที่ไหนจัด ก็เหมารถกันไปเพื่อพาต้นไปขอขมา ไปครอบครู

แต่เวลาจะเข้าไปบริเวณที่มีการจัดครอบครู จะมีปัญหาทุกครั้ง เพราะไม่สามารถพาต้นเข้าไปในบริเวณงานได้ ต้นจะขัดขืนดิ้นรนตลอดเวลา แม้จะช่วยกันหิ้วพาเข้าไปในงานแต่ไม่รู้ต้นเอาเรี่ยวแรงมาจากไหนไม่สามารถที่จะพาต้นเข้าไปในบริเวณงานได้

ปัจจุบันผ่านมาแล้ว แปดถึงเก้าปี ต้นก็ยังมีอาการเหมือนเดิมคือนั่งเหม่อลอยไม่มีสติ อาการของต้นไม่ดีขึ้น เพื่อนๆ ได้แต่ขอครูบาอาจารย์ ให้ช่วยต้น ให้มีอาการเป็นปกติดังเดิม
---------------------ความรู้เรื่อง"ตะโพน"
เป็นเครื่องดนตรีไทยอย่างหนึ่งในประเภทประกอบจังหวะ จำพวกขึ้นหน้าด้วยหนังสองหน้าตัวตะโพนเรียกว่า "หุ่น" ทำด้วยไม้สักหรือไม้ขนุนหรือไม้ที่มีน้ำหนักเบา เช่น ไม้กระท้อนทำเป็นท่อนกลม กลางป่องตัดหัวท้าย เหมือนไข่ไก่ตัด ยาวประมาณ 45 ซม. ขุดให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนังทั้งสองหน้าด้วยหนังลูกวัว ตรงขอบหนังที่ขึ้นหน้ามีหนังพันตีเกลียวเส้นเล็ก ๆ ถักโดยรอบเรียกว่า "ไส้ละมาน" มีหนังตัดเป็นเส้นเล็ก ๆ เรียกว่า "หนังเรียด"ร้อยในช่องถักของไส้ละมาน ขึงไปมาระหว่างหน้าทั้งสอง หุ้มรอบตัวตะโพนจนแลไม่เห็นเนื้อไม้ สำหรับโยงเร่งเสียง ตรงกลางตัวตะโพนใช้หนังเรียดพันหลาย ๆ รอบ พองามเรียกว่า "รัดอก" ตรงรัดอกด้านบนทำเป็นหูด้วยหนังสำหรับหิ้ว หน้าตะโพนทั้งสองข้างมีขนาดไม่เท่ากัน หน้าหนึ่งใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กว้างประมาณ 25 ซม. เรียกว่า "หน้าเท่ง" อีกหน้าหนึ่งเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 22 ซม. เรียกว่า "หน้าปัด" มีเท้าทำด้วยไม้สูงพอสมควร
โดยปกติตะโพนบรรเลงผสมอยู่ในวงปี่พาทย์ มีหน้าที่กำกับจังหวะ "หน้าทับ" และเป็นเครื่องนำให้กลองทัดตี การตีนำกลองทัดนี้เรียกว่า "ท้าว" ในการบรรเลงปี่พาทย์ประกอบการแสดงโขนละคร ตะโพนมีหน้าที่สำคัญมาก จะเป็นหัวใจของการรำ จะต้องตีให้เข้ากับท่ารำอย่างสนิทสนมทุก ๆ ท่า
ข้อมูลจาก baanjomyut.com
ความเชื่อเรื่อง ตะโพน

เพราะเหตุการณ์ในคืนนั้น?


นักดนตรีไทยมีความเชื่อว่าเครื่องดนตรีไทยถูก สร้างขึ้นมาจากเทพยดาหรือจะบอกอีกแบบหนึ่งว่า ศาสตร์ของดนตรีไทยถูกสร้างขึ้นมาจาก ดุริยะเทพ ก่อนที่จะมาเผยแพร่ให้แก่มนุษย์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือการแสดงถึงศรัทธาของนักดนตรีไทยที่มีต่อบรมครูที่เป็นเทพ ซึ่งก็มีอยู่หลายองค์ แต่ละองค์ก็จะเป็นเทพแห่งศาสตร์ในแขนงต่างๆ เช่น พระปรคนธรรพ ก็จะเป็นที่นับถือกันมากในหมู่ของนักปี่พาทย์ หรือนักดนตรีใน วงปี่พาทย์ นั่นเอง เพราะว่านักดนตรีปี่พาทย์จะทราบกันดีว่า พระปรคนธรรพ ก็คือ ครูตะโพน และตะโพนทุกๆ ใบก็คือตัวแทนของพระปรคนธรรพ
ข้อมูลจาก thaimusicamp


เวลาการจัดพิธีการไหว้ครูดนตรีไทย นอกจากมีเศียรที่ตั้งแล้วจะมีเครื่องดนตรีไทยอยู่เพียงชนิดเดียวที่นำไปตั้งได้นั่นก็คือ "ตะโพนไทย" และจะมีผ้าขาวพาดนั่นคือการบ่งบอกว่าเป็นสิ่งสำคัญในวงปี่พาทย์

เพราะเหตุการณ์ในคืนนั้น?

เพราะเหตุการณ์ในคืนนั้น?

ขอบคุณภาพจากhttp://www.phattayakulschool.com


(อ่านในทิศทางบันเทิงเสมือนเป็นนิยายเรื่องหนึ่งควรใช้วิจารณญาณในการอ่าน)พูดคุยติชมแลกเปลี่ยนกันได้ที่twitter : LungTuiหรือติดตามกันในเฟซบุ๊กFacebook : เรื่องหลอนซอย8

logoline