svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

"ศานิตย์" แจงอยู่ระหว่างพิจารณาคดี เด็กพิการถูกทนายโกง

30 มิถุนายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากกรณีนางสาวพรทิพย์ จันทรัตน์ อายุ 44 ปี พาลูกสาว คือ เด็กหญิง ภัทรดา แก้วผ่อง หรือ น้องบีม อายุ 14 ปี ร้องทุกข์กรณีถูกทนายที่ว่าความในคดีอุบัติเหตุบนท้องถนน เมื่อเดือน ก.พ. ปี 2548 โกงเงินชดใช้ค่าเสียหายที่คู่กรณีจ่ายให้เป็นเงินถึง 5 ล้าน ปัจจุบันต้องตระเวนขายของตามศาลาวัด ย่านจังหวัดนนทบุรี

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ล่าสุดเมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 30 มิถุนายน พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวเหตุเกิดมาตั้งแต่ปี 2549 แล้วมีขบวนการของคนที่ใช้ความรู้ด้านกฎหมายหลอกน้องเขา ในส่วนของน้องผู้เสียหาเพิ่งมารู้ว่าตนเองถูกหลอก ทุนทรัพย์ที่จะต้องได้รับเบื้องต้นประมาณ 4 ล้านบาท แต่กลับได้ไม่ครบจำนวน จนกระทั่งน้องผู้เสียหายดังกล่าวได้เข้าแจ้งความที่สน.บางยี่ขัน ในความผิดฐานฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสาร แต่ปรากฏว่า ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารไปเสนอต่อศาลเพื่อขออนุมัติออกหมายจับแล้ว แต่ศาลไม่สามารถพิจารณาออกหมายจับให้ได้ เพราะมองว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงเอกสารของบริษัทที่ชดใช้ค่าเสียหายให้ เป็นเรื่องที่อุปโลกน์กันเอง เหมือนการแอบอ้างแล้วเซ็นต์ชื่อมาเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคล

พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าวอีกว่า คดีที่ต้องมาพิจารณานั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฉ้อโกง เพราะทุกพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการหลอกลวงผู้อื่นโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้งโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งทรัพย์ ไม่รู้ว่าผู้กระทำการดังกล่าวไปเกลี้ยกล่อมน้องผู้เสียหายอย่างไร ทางพนักงานสอบสวนสน.บางยี่ขัน ได้ให้ข้อมูลว่าความผิดลักษณะดังกล่าวสามารถยอมความได้เป็นความผิดต่อส่วนตัว ถ้าถอนแจ้งความเมื่อไหร่คดีก็จบทันที สุดท้ายน้องผู้เสียหายกลับไปหลงเชื่อก็ถอนแจ้งความ สิทธิทางคดีอาญาฟ้องระงับ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ตนได้สั่งการกำชับให้ทางบก.น.7 แล้วว่าจะช่วยเหลือเยียวยาน้องผู้เสียหายได้มากแค่ไหน กรณีของการปกครองอยากทราบว่าผู้มีวิชาชีพทนายความมีพฤติการณ์ลักษณะแบบนี้จะต้องสอบสวนด้านจริยธรรมจรรยาบรรณด้วยหรือไม่ เพราะเอาความรู้ทางด้านกฎหมายเพื่อเอาประโยชน์ของตนเองและเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น แทนที่จะได้เงิน 4 ล้านบาท แต่ได้เงินเพียง 2 แสนกว่าบาท ตอนหลังให้เขาไปถอนแจ้งความ ถือเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเพราะเกิดขึ้นกับสังคมไทยอยู่บ่อยครั้ง หลายๆ เรื่องพี่น้องประชาชนอาจจะเข้าใจหรือไม่ทราบสิ่งที่เกิดขึ้น กลับถูกพวกมิจฉาชีพหลอก ทำให้เกิดความเสียหาย

เมื่อถามว่ากรณีดังกล่าวผู้เสียหายสามารถเข้าแจ้งความใหม่ได้หรือไม่ พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าวว่า กรณีการแจ้งความใหม่จะทำไม่ได้ เพราะกรณีดังกล่าวได้มีการแจ้งความไปและถอนแจ้งความไปแล้ว นอกจากต้องเกิดข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ แต่หากเป็นข้อเท็จจริงในเรื่องเดิมจะไม่สามารถแจ้งความใหม่ได้ เพราะถอนคำร้องทุกข์ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ พ.ต.อ. อรรถวุฒิ นิวาตโสภณ ผกก.สน.บางยี่ขัน พยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงหากมีข้อมูลที่กระทำความผิดในกรรมอื่นๆ หรือฐานอื่นๆ ต่างกรรมต่างวาระต้องมาดำเนินการกับบุคคลที่ทำให้น้องผู้พิการเสียหาย ถือเป็นเรื่องน่าเห็นใจ เพราะขณะที่เกิดเหตุน้องผู้เสียหายอายุเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น เรื่องผ่านมา 11 ปี เสียคุณพ่อไป แทนที่จะได้ค่าชดเชยค่าเสียหาย พวกอาสาสมัครแบบนี้น่าตกนรก 7 ขุม ส่วนสำนวนการสอบสวนนั้น พนักงานสอบสวนสน.บางยี่ขันได้ส่งสำนวนไปยังชั้นอัยการแล้ว ตามวิอาญาที่เกี่ยวข้องอำนาจพนักงานสอบสวนหมดสิ้นไปนับตั้งแต่ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ เว้นแต่พนักงานอัยการจะใช้วิอาญา ม.143 ให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมเรียกพยานมาซักถาม หรือมีหลักฐานใหม่ ถือเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้ ได้สอบถามพนักงานสอบสวนไปแล้วให้ชัดเจนหรือไม่ ทางพนักงานสอบสวนบอกว่าผู้เสียหายยืนยันมา ซึ่งคนที่มีพฤติการณ์ต้มตุ๋นหลอกลวงจะมีวิธีการพูดจาหว่านล้อมเหยื่อ พอเซ็นต์ถอนไปสิทธินำคดีอาญามาฟ้องหมดสิ้นไป

"กรณีดังกล่าวต้องขอเวลาศึกษาข้อมูลโดยละเอียดก่อน เบื้องต้นข้อมูลคร่าวๆ ลักษณะแบบนี้ ก็ต้องทำการตรวจสอบว่า ถ้ากรรมเดิมหรือข้อเท็จจริงเดิมและมีการถอนแจ้งความไปแล้วจะไม่สามารถแจ้งความใหม่ได้ แต่อาจจะมีกรณีอื่นๆ ไปหลอกลวงผู้อื่นอีกหลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ เราสามารถจะหยิบยกมาได้ แต่ถ้ามีเพียงแค่วาระเดียวหรือกรรมเดียวก็เป็นเรื่องยาก แต่กรณีดังกล่าวต้องยื่นเรื่องให้สภาทนายความยื่นเรื่องร้องเรียนเรื่องจรรยาบรรณได้หรือไม่ เพื่อถอดถอนใบอนุญาตในฐานะที่เอาความรู้ที่มีอยู่ไปต้มตุ๋นหลอกลวง หลายๆ คนไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ถึงแม้ว่าทุกคนต้องรู้กฎหมาย แต่ตามข้อเท็จจริงไม่สามารถรู้ข้อกฎหมายได้ทุกคน ผู้มีอาชีพเหล่านี้ต้องใช้วิชาความรู้ของตนเองไปในทางที่สุจริต แต่ลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้วิชาความรู้โดยไม่สุจริต ทางตำรวจจะประสานกับทางสภาทนายความว่า จะมีการดำเนินการตรวจสอบคนที่เอาอาชีพมาหากินกับคนพิการ ถือเป็นกรณีที่น่าเสียใจ กรณีของทนายความทำผิดจรรยาบรรณของทนายความจะมีมาตรการทางปกครองอย่างไร ต้องมีการดำเนินการประสานงานปฏิบัติร่วมกัน ยกตัวอย่างการถอนการอนุญาตการว่าความตลอดชีพเพื่อไม่ให้มีการกระทำความผิดต่อไป" พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าว

logoline