svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"มาร์ค" ร่ายยาว เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง กรธ. แจงปัญหาระบบไพมารีโหวต

25 มิถุนายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"มาร์ค" เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง กรธ.แจงปัญหาระบบไพมารีโหวต ชี้ สวนทางเจตนารมณ์รธน. ระบุ โครงสร้างการเมืองไม่เอื้ออำนวย

25 มิ.ย.60 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)เพี่อประกอบการพิจารณากฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ. ... ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)และอยู่ระหว่างขั้นตอนที่ส่งให้ กรธ.พิจารณาว่าสมควรที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายนี้หรือไม่ ท่ามกลางการถกเถียงถึงความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ และคนจำนวนมากยังมีความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวน้อยถึงค่อนข้างน้อย นอกจากนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวให้ข้อมูลและความคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ในการจัดทำกฎหมายดังกล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางให้การกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งการมีบทบัญญัติให้มีการจัดทำการลงคะแนนเสียงเบื้องต้น (Primary Vote) จึงถือเป็นเจตนาดีของผู้ร่างกฎหมายที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ แต่หากศึกษาจากประสบการณ์ในต่างประเทศของประเทศที่ใช้การเมืองการปกครองในระบบรัฐสภาจะพบว่าการใช้กลไกดังกล่าวมีอยู่ค่อนข้างจำกัดด้วยเหตุผลที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1.ความไม่แน่นอนของการมีการเลือกตั้งทั่วไปหรือการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งจะต้องจัดขึ้นภายในระยะเวลาค่อนข้างสั้น ทำให้ความพร้อมในการจัดการลงคะแนนเสียงเบื้องต้น ซึ่งต้องมีกระบวนการจัดการและการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายตั้งแต่ผู้สมัครจนถึงผู้เลือกตั้ง มีข้อจำกัดอย่างมาก และ 2.กลไกการทำงานของระบบรัฐสภา ต้องอาศัยพรรคการเมืองเป็นสถาบันในการรวบรวมผู้มีความคิดเห็นหรืออุดมการณ์ที่คล้ายคลึงในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นระบบ ซึ่งพรรคการเมืองโดยคณะกรรมการบริหารพรรคในประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาจึงยังมีความจำเป็นในการที่จะต้องมีดุลพินิจและอำนาจในการสรรหาบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานทางการเมือง ดังนั้นการกำหนดบทบัญญัติในกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงต้องคำนึงถึงโครงสร้างของการปกครองไทยในภาพรวมด้วย และแนวทางที่เหมาะสมในการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงเบื้องต้น เพื่อคัดเลือกผู้สมัครให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็มีบทบัญญัติที่พยายามส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมืองอยู่แล้ว โดยกำหนดให้พรรคการเมืองมีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรวมถึงคณะกรรมการนโยบายที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง การสรรหาผู้สมัครที่คณะกรรมการสรรหากลั่นกรองก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริหารพรรคก็ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากสาขาพรรคการเมืองเสียก่อนทั้งในระบบเขตเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่ยึดถือหลักการนี้มาตลอดและพยายามเพิ่มการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมืองมาโดยลำดับ จึงเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ปัจจุบันมีสาขาพรรคทั่วประเทศเกือบ 200 สาขา แต่การดำเนินการที่ผ่านมาก็พบปัญปัญหาอุปสรรคต่างๆได้ดังนี้ 1.การจะมีฐานสมาชิกที่กว้างขวางยังเป็นเรื่องยาก แม้จะได้รับสิทธิในการมีส่วนร่วมต่างๆแต่ประชาชนจำนวนมากมีความกังวลกับการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การเพิ่มข้อกำหนดให้สมาชิกพรรคจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคในกฎหมายใหม่จะยิ่งทำให้การระดมสมาชิกพรรคการเมืองทำได้ยากขึ้นและได้รับการตอบสนองน้อยมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่มองว่าเป็นการสร้างภาระมากเกินไป แม้พรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องแต่จำนวนสมาชิกพรรคที่พร้อมจะจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคเพียงปีละ 20 บาทยังมีสัดส่วนน้อยมาก การจะขยายฐานสมาชิกพรรคการเมืองจึงต้องอาศัยทั้งเวลาและการรณรงค์เปลี่ยนค่านิยมในสังคม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า 2. ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสาขาพรรคและสำนักงานใหญ่ของพรรคมีจำนวนมากแต่ปรากฏว่ากองทุนพัฒนาพรรคการเมืองรวมทั้งกฎหมายใหม่ กลับมีข้อจำกัดมากขึ้นในการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อมาสนับสนุนงานบริหารของสำนักงานและสาขาจึงมีผลทำให้แรงจูงใจของพรรคการเมืองในการดำเนินการในลักษณะนี้ยิ่งมีน้อยลงเพราะคงต้องการที่จะนำค่าใช้จ่ายไปจัดสรรในงานทางด้านการเมืองอื่นมากกว่า 3. ด้วยสภาพข้อจำกัดข้างต้น ความเข้มแข็งของสาขาพรรคการเมืองต่างๆจึงต่างกันพอสมควร สาขาที่เข้มแข็งมีความพร้อมก็จะสามารถทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ได้เป็นอย่างดี แต่หากพื้นที่ใดยังไม่มีความแข็งแกร่งก็จะมีสาขาพรรคที่อ่อนแอหรือถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนบุคคลที่เป็นผู้บริหารสาขาพรรคนั้นให้ลงสมัครรับเลือกตั้งทำให้การสนับสนุนคนนอก คนใหม่จากวงการอื่นๆโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เข้ามาสู่การเมืองยากขึ้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เหตุผลที่ยกมานั้นไม่ได้ต้องจะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดที่จะมีสมาชิกพรรคการเมืองที่ชำระเงินค่าบำรุงพรรคหรือการมีระบบการลงคะแนนเสียงเบื้องต้น เพียงแต่ประสบการณ์เหล่านี้บ่งบอกว่าการจะทำให้การมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมือง ต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมด้วย พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีประวัติยาวนาน ฐานสมาชิกที่ค่อนข้างกว้างคงมีความพร้อมมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆในการที่จะดำเนินการในแนวทางนี้แต่ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดมากมาย พรรคการเมืองอื่นตลอดจนพรรคการเมืองใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นจะต้องเผชิญกับปัญหา อุปสรรค เหล่านี้อย่างรุนแรงกว่ามากนัก หากกฎหมายที่ร่างอยู่มีผลบังคับใช้ พรรคการเมืองต่างๆก็ต้องปฏิบัติไปตามบทบัญญัติตามตัวอักษร แต่การจะทำให้ประชาชนและสมาชิกของพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของพรรคการเมืองสามารถคัดบุคคลที่มีคุณภาพอย่างที่ผู้ร่างต้องการก็คงจะไม่เกิดขึ้น ขอย้ำว่า หากจะบังคับพรรคการเมืองให้ดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองต่างๆก็สามารถทำได้แต่ที่ท้วงติงทั้งหมดเพราะสภาพปัจจุบันและกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวยให้การดำเนินการตามกฎหมายบรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและของผู้ร่างกฎหมายได้อย่างแท้จริง ปัญหาความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การจะทบทวนร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของสนช.แล้วจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายนั้นมีความขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในกรณีนี้จะขอยกตัวอย่างที่เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอาจจะแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งโดยมีเจตนารมณ์สำคัญคือต้องการให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย ผู้สนับสนุน ศรัทธาหรือนิยมพรรคการเมืองใดในพื้นที่ซึ่งพรรคการเมืองนั้นไม่ประสบความสำเร็จในการชนะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็ยังสามารถไปลงคะแนนให้แก่พรรคการเมืองนั้นได้โดยคะแนนดังกล่าวจะถูกนำไปรวมคำนวณเพื่อจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภา
"บทบัญญัติตามกฎหมายพรรคการเมืองในขณะนี้กำลังมีการปิดกั้นพรรคการเมืองซึ่งแม้จะมีผู้พร้อมจะสนับสนุนลงคะแนนให้ในเขตเลือกตั้งแต่ไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคหรือแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดมิให้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้จึงสวนทางกับเจตนารมณ์" นายอภิสิทธิ์ ระบุ

logoline