svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สนช."ปิดฉาก โหวตเซตซีโร่ กกต.

09 มิถุนายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สนช."จบฉากเซตซีโร่ กกต. เตรียมส่งร่างให้"กรธ. - กกต."พิจารณาขัดต่อเจตนารมณ์รธน. ขีดเส้นทำเรื่องแย้งภายใน10วัน เห็นขัดกันให้ตั้งคกก.ร่วมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.ป.

              9 มิ.ย. 60 ที่รัฐสภาในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุมพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ พิจารณาเสร็จแล้ว
             โดยนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีทั้งหมด 78 มาตรา มีการแก้ไขเพิ่มเติม 18 มาตรา  มีกรรมาธิการฯเสียงข้างน้อย สงวนความเห็น 3  คน และมีสมาชิก สนช. ขอสงวนคำแปรญัตติ 14 คน  ส่วนใหญ่แปรญัตติในมาตราที่เกี่ยวข้องกับดำรงอยู่ขอกรรมการ กกต. หลังร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้
             ต่อมาเป็นการอภิปรายเรียงรายมาตรา โดยในมาตรา 12  ในการสรรหากรรมการ กกต. ที่ให้คณะกรรมการสรรหาเลือกกกต. ด้วยการลงคะแนนแบบเปิดเผย ซึ่ง กกต. เพิ่มเติมข้อความต่อท้ายว่า พร้อมบันทึกเหตุผลของกรรมการสรรหาแต่ละคนเป็นหลักฐานด้วย ซึ่งการเพิ่มเติมนี้สมาชิกส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่า กรรมการสรรหาจะบันทึกเหตุผลเลือก หรือไม่เลือกใคร อย่างไร รอบใด ยังไม่มีความชัดเจน นอกจากนี้หากมีการบันทึกเหตุผลจะไม่มีใครกล้าเป็นกรรมการสรรหา เนื่องจากเกรงว่า ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกอาจนำไปเป็นหลักฐานฟ้องร้องดำเนินคดีได้ อีกทั้งหากมีการเพิ่มเติมเช่นนี้ อาจจะเป็นบรรทัดฐานให้กับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆในเรื่องของกรรมการสรรหาได้
             ขณะที่นายพรเพชร  ได้ทวงติงประเด็นที่ กรธ. ตัดผู้พิพากษาอาวุโสออกจากคณะกรรมการสรรหา และส่งผลให้พวกเขามา ทวงถามที่ตนได้ นอกจากนี้ยังเป็นกังวลว่า หากกระบวนการเลือก กกต. หลายรอบจนกว่าจะได้ กกต. ครบ ทำให้ กกต. ชุดเก่ารักษาการไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ อย่างนี้เราจะแก้ปัญหากันอย่างไร ซึ่งการอภิปรายในมาตรา 12 ได้ใช้เวลานานแต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้นายพรเพชร สั่งพักการประชุมเป็นเวลา 15 นาที เพื่อหาทางออก  แต่ใช้เวลาในการหารือถึง 50 นาที
             อย่างไรก็ดีในเวลา 13.20 น. สนช. กลับมาประชุมอีกครั้ง โดย กมธ. ยอมแก้ไขข้อความให้คณะกรรมการสรรหา ลงคะแนนแบบเปิดเผยและบันทึกเหตุผลเฉพาะบุคคลที่ได้รับการสรรหา ส่วนคนไม่ได้รับการสรรหาก็ไม่ต้องบันทึกเหตุผล ทั้งนี้คนที่ไม่ได้รับการเลือกในชั้นคณะกรรมการสรรหาสามารถกลับมาสมัครได้ ในกรณีที่ กกต. ยังสรรหาไม่ครบ 7 คน เพราะเกรงว่า จะไม่มีคนที่มีคุณสมบัติ ครบตามรัฐธรรมนูญมาสมัคร จึงกำหนดเอาไว้เพียงกรณีที่บุคคลที่ไม่ผ่านขั้นตอนความเห็นชอบของวุฒิสภาไม่สามารถกลับเข้ามาสมัครใหม่ได้   ขณะที่เรื่องการตัดผู้พิพากษาอาวุโสออกไปนั้น ทาง กมธ. ได้ชี้แจงว่า ได้มอบให้อยู่ในอำนาจของที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา เป็นผู้พิจารณา ว่าจะส่งผู้พิพากษาอาวุโสมาร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาหรือไม่แล้ว  
             นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาจนถึงบทเฉพาะกาล มาตรา 70  เกี่ยวกำกับดำรงอยู่ของ กกต. ปัจจุบัน ที่ กมธ. ได้มีการแก้ไขให้ กกต. พ้นจากตำแหน่งหลังจากร่างพ.ร.ป.มีผลบังคับใช้ ซึ่งมี กมธ. เสียงข้างน้อยสงวนความเห็น โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์  ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะ กมธ. เสียงข้างน้อย ที่เสนอให้ปรับเปลี่ยนเฉพาะ กกต. บางคนที่ขาดคุณสมบัติ  อภิปรายว่า  ในเรื่องคุณสมบัติ กกต. ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ  ซึ่ง กมธ. เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ให้ปรับเปลี่ยน กกต. ทั้งหมด  หรือเซตซีโร่ โดยให้ กกต. ทั้ง 5 คนพ้นจากหน้าที่ไปเมื่อกฎหมายใช้บังคับ และให้ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้ กกต. ชุดใหม่
             ส่วนตัวตนเห็นว่า ควรให้ กกต. ชุดปัจจุบันที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ต่อ เพราะประสิทธิภาพการทำงานของ กกต. เป็นเรื่องสำคัญ คนที่มาเป็นต้องมีความรู้ มีประสบการณ์ และมีความเข้าใจในการทำงาน ดังนั้นคิดว่า ควรมี กกต. คนเดิมทำหน้าที่ต่อ เพื่อประสิทธิภาพการทำงานน่าจะต่อเนื่องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญก็มีสูง และคนใน กกต. บางคนก็มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ จึงยังมองไม่ออกว่ามีเหตุผลอะไรจะไม่ให้เขาทำหน้าที่ต่อไป ส่วนแนวทางที่ กมธ. เสียงส่วนใหญ่ที่เสนอไว้เราก็เคารพ แต่ด้วยหลักการเหตุผลที่ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สปท.ได้ศึกษาและรวบรวมเสนอมาแล้วน่าจะเป็นหลักการสำคัญที่จะทำให้งานของ กกต. ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป  จึงคิดว่า น่าจะเป็นไปตามร่างเดิมของกรธ.ที่เสนอมา
             ด้านพ.ต.อ.จรุงวิทย์  ภุมมา รักษาการเลขาธิการ กกต. ในฐานะกรรมาธิการฯเสียงข้างน้อยที่ไม่ให้เซตซีโร่ กกต. ยกชุด อภิปรายว่า การทำงานไม่ว่า องค์กรใดย่อมมีความขัดแย้ง แต่ กกต. ก็ร่วมมือกันทำงานจนทุกอย่างผ่านไปด้วยดี จนกระทั่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้แก้ไขคุณสมบัติจากเดิม และมีการเสนอญัตติของ กมธ. เสียงข้างมาก ให้ กกต. ทั้งชุดสิ้นสุดการทำหน้าที่ทันทีที่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะ กกต. ชุดปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่อย่างถูกต้องทุกกระบวนการ มีคุณสมบัติที่อยากให้อยู่ต่อตามวาระ เพราะ กกต. ทุกคนกว่าจะมาทำงานวันนี้ต้องสรรหาเข้ามาและเมื่อได้รับการสรรหาก็ต้องลาออกจากวิชาชีพหลายอย่าง ทำให้เสียสิทธิหลายประการ อยากถามว่า หากมี กกต. ใหม่ทั้งชุดเข้ามาทำหน้าที่แล้ว จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ การทำงานด้านการเลือกตั้งต้องอาศัยเวลาและความชำนาญในการทำงาน ดังนั้นการให้กกต. ทั้งชุดยังคงอยู่เพื่อทำหน้าที่ต่อไป จึงเป็นเรื่อที่ตนเห็นด้วย             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นอกจากนี้ยังมีสมาชิก สนช. อีกหลายคนที่ต้องการให้ กกต. อยู่ต่อทั้งชุดจนครบวาระ อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก  นายนรนิติ เศรษฐบุตร  ขณะที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์  อภิปรายว่า  ตนขออภิปรายในแบบที่ชาวบ้านเข้าใจ จึงอยากถามไปที่ กรธ. และ กมธ. ว่า โกรธอะไร กกต. เป็นการส่วนตัวหรือเปล่า ตนไม่แน่ใจ ทำไม กมธ. จึงอยากให้ก๊กนี้ไปทั้งหมด ทั้งที่ กกต. ชุดปัจจุบันมาถูกต้องทุกประการแต่ไปรังแกเขา เพราะ กกต. บางคนมีคุณสมบัติถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และอยากถามว่า จะเซตซีโร่ทุกองค์กรหรือไม่ หรือเซตซีโรเฉพาะที่ไม่ใช่พวกเรา การอ้างปลา 2 น้ำก็ฟังไม่ขึ้น และในสภาฯนี้ก็ปลาหลายน้ำ สนช. ก็ปลาถึง 3 น้ำ ถ้าท่านจะทำเช่นนี้ชาวบ้านจะหาว่า สภาฯเรามีมาตรฐานกันอย่างไร  และหากกฎหมายอื่นเข้ามาจะวางมาตรฐานอย่างไร เพราะหากทำอย่างนี้ก็คือ หลายมาตรฐาน หากชี้แจงไม่ได้จะรู้สึกอายชาวบ้านหากเดินออกไปข้างนอก.  
             ด้านนายตวง อันทะไชย ประธาน กมธ. วิสามัญฯ ชี้แจงว่า การตัดสินใจเซตซีโร่ กกต. ไม่ได้เกิดจากความโกรธหรือรักใครใครหรือใครได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ แต่ตัดสินใจเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ และเจตนารมณ์ของรับธรรมนูญเพื่อให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ กมธ. จึงเมินเฉยในร่างแรกของ กรธ. ที่เสนอให้ตัดคุณสมบัติ กกต. บางคนที่ขัดรัฐธรรมนูญ  และต้องการให้คนใหม่มาใช้กติกาใหม่ เพื่อให้การปฏิรูปมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้เรายังให้ความเป็นห่วง กกต. โดยเขียนในวรรคสอง ให้มีการรักษาการ และได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จนกว่าจะมี กกต. ชุดใหม่เข้ามา  เพราะเราคิดใหญ่ในการปฏิรูปประเทศ หากเราปฏิบัติแบบเดิม กลไกแบบเดิม วิธีการทำงานแบบเดิม ไม่มีทางเกิดผลแบบใหม่ได้ ส่วนคำถามที่ว่า กฎหมายองค์กรอิสระอื่น จะเดินตามแนวทางเซตซีโร่หรือไม่ ตนไม่สามรถตอบได้ เพราะ กรธ. เป็นผู้ร่างกฎหมาย จึงต้องให้ กรธ. ตอบเอง
             ด้านนายภัทระ คำพิทักษ์ กรธ. ในฐานะ กมธ. วิสามัญฯ ชี้แจงว่า การเสนอกฎหมายลักษณะทำนองเดียวกับ กกต. อาจจะเหมือนหรือต่างกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับองค์กรนั้นๆ ทั้งโครงสร้าง และสนธิสัญญาต่างประเทศ บางองค์กรอาจจะมีความคล้ายคลึง บางองค์กรอาจจะมีความแตกต่างกัน  ยืนยันว่า การเซตซีโร่ กกต. ดูเรื่องเจตนารมณ์ คุณสมบัติ และวัตถุประสงค์การปฏิรูป โดยไมได้พิจารณาว่า จะโกรธใคร เกลียดใคร  และขอยืนยันอีกว่า กรธ. ไม่ได้เสียจุดยื่น เพราะเป็นการแก้ไขอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นท่านทั้งหลายมีสิทธิ์พิจารณาตามดุลพินิจของท่าน และทำกฎหมายออกไปตามเจตนารมณ์ 
             นอกจากนี้ สนช. บางคนยังเสนอให้มีการปรับเรื่องเงินบำเหน็จตอบแทน กกต. ที่พ้นสภาพว่า น้อยเกินไป เพราะเขาไม่มีความผิดแต่ถูกให้พ้นตำแหน่ง ขณะที่ กมธ. ชี้แจงว่า หากเพิ่มให้มากกว่านี้จะผิดระเบียบการเงินการคลัง 
             ในที่สุดที่ประชุมลงมติ ในมาตรา 70 เห็นด้วยกับ กมธ. เสียงข้างมาก ที่ต้องการให้เซตซีโร่ กกต. ด้วยคะแนน 161 ไม่เห็นด้วย 15 งดออกเสียง 12  และเมื่อที่ประชุมพิจารณาครบทั้ง 78 มาตรา ได้ลงมติในวาระ 3 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญการลงคะแนนในวาระ 3 ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด  ซึ่ง สนช. มีจำนวน 250 คน กึ่งหนึ่ง คือ  126  เสียง ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 177 เสียงต่อ 1 งดออกเสียง 5 เสียง โดยขั้นตอนต่อไป สนช. จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267  คือ.จะต้องส่งร่างดังกล่าว ให้ กรธ. และ กกต. พิจารณาว่า ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และสามารถทำเรื่องแย้งมาภายใน 10 วัน หากเห็นไม่ตรงกันก็ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.ป.ดังกล่าวต่อไป.

logoline