svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

โทษประหารมีอยู่ แต่ไม่มีจริง?

05 มิถุนายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เชื่อว่าสังคมคงเรียกร้องให้ "เปรี้ยว" หรือ ปรียานุช โนนวังชัย ผู้ต้องหาคดีฆ่าหั่นศพ ได้รับโทษประหารชีวิต ตายตกไปตามกัน ถึงจะเท่าเทียม แบบที่มีคำพูดว่า 'ชีวิตต้องแลกด้วยชีวิต'

รวมถึงพ่อของน้องแอ๋ม ผู้ตาย ที่ถูกเปรี้ยวฆ่าหั่นศพ ก็คงอยากให้เปรี้ยวได้รับโทษเช่นว่านี้เช่นกัน  แต่นานกว่า 8 ปี มาจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยไม่เคยมีการประหารชีวิตนักโทษจริงๆ 
คดีสุดท้ายที่ประหารชีวิต ก็เมื่อปี 2552 ในคดียาเสพติด ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ตกลง โทษประหารชีวิต มันมีอยู่จริงหรือไม่? ทำไมถึงไม่ประหาร!
มุมนักวิชาการด้านอาชญวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ชี้แจงว่า ตามกฎหมายยังมีโทษประหารอยู่ แต่ตามหลักกรมราชทัณฑ์ นักโทษสามารถถวายฎีกาของพระราชทานอภัยโทษได้ โดยแต่ละกรณีก็มีหลักเกณฑ์แตกต่างกันไป อีกทั้งมุมวิชาการมองว่า หลักสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่คนเราได้รับตั้งแต่ลืมตาดูโลก ไม่มีใครสามารถพรากไปได้ แม้กระทั่งรัฐ 
มีคำถามตามมาอีกว่า แล้วคนเหล่านี้ที่ได้รับโทษประหาร เมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก็เหลือตลอดชีวิต เหลือ 50 ปี และลดลงมาเรื่อยๆ จนติดคุกจริงๆ อาจไม่เกิน 20 ปี หากออกมาจะก่อเหตุซ้ำหรือไม่? 
ซึ่งนักวิชาการให้คำตอบว่า เชื่อว่า หากคนที่ออกมาอายุมากเกิน 70 ปี คงไม่มีใครไปฆ่าคนอีก หรือหากพ้นคุกมาวัย 40 กว่าปี แล้วก่อเหตุซ้ำ กว่าจะออกมาอีกก็อายุเกินกว่า 70 ปี ทั้งนี้การให้โอกาสของคนในสังคมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้ไม่ก่อเหตุซ้ำ 
ไม่เพียงเท่านั้น การซึมซับพฤติกรรม การอยู่ร่วมกันภายในคุก การเรียนรู้ชีวิตในนั้น ก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งนี้ก็ต้องดูเป็นกรณีๆ ไป แต่นักวิชาการ ให้เหตุผลของการศึกษาวิจัยว่า
"ถ้าคนก่อเหตุลักษณะนี้ ประหารแล้วจะประหารผิดคนไหม? การประหารจะเป็นคำตอบสุดท้ายในการหยุดยั้งคดีลักษณะนี้ไหม? มุมกลับกันนักวิชาการอาชญวิทยาอีกฟากบอกว่า การที่เรานำคนที่กระทำผิด ไปอยู่ในเรือนจำ ในระยะเวลานานๆ เช่นให้จำคุกตลอดชีวิต ตรงนี้จะทำให้คนที่กระทำความผิดคล้ายๆ กันรู้สึกว่าคนนี้กระทำความผิด ซึ่งยังอยู่ในเรือนจำอยู่เลย ยังไม่ได้รับการปล่อยออกมา เพราะเขามองว่า โทษประหาร ถ้าไปประหารเสร็จปุ๊ป คนคนนี้ก็จบ หายไปจากโลกเลย แต่ถ้าจองจำคนเราต้องทุกข์ทรมาน โดนกังขังอิสรภาพ และมองว่า เนี่ยจะเป็นตัวอย่างให้คนจะได้ไม่คิดกระทำผิดอีก" 
พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์  มองว่า การมองภายนอกผิวเผินดูดี ไม่ใด้หมายความว่าจิตใจลึกๆ จะเป็นอย่างนั้น ปมที่อยู่ในใจ อย่างกรณีเปรี้ยว อาจมีฟางเส้นสุดท้ายไปสะกิดปมในใจที่ แอ๋มบอกว่า ถ้าเขารอดออกไป เปรี้ยวจะไม่รอด ทำให้เปรี้ยวรู้สึกได้ว่า อาจจะต้องถูกตำรวจจับ สิ่งที่เขามีอยู่จะหายไปหมด ความมั่งมีความสุขสบาย การได้รับการยอมรับ 
เพราะฉะนั้นเขาจึงรับไม่ได้ ผมเชื่อว่า ย้อนกลับไปดูภูมิหลังของเปรี้ยว การอบรมเลี้ยงดู การเข้าสู่ระบบการศึกษา การใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อน เป็นปัจจัยที่มีผลและแตกต่างจากเด็กทั่วไปแน่นอน
ดังนั้นทางออก สำหรับการทำให้อาชญากรลดลงนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่เราปฏิเสธไม่ได้ คือ ครอบครัว เป็นสถาบันจุดเริ่มต้น แม้จะเป็นหน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุด แต่มีผลต่อความคิดของคนมากที่สุด ต่อมาคือระบบการศึกษา  ชุมชน สังคม ซึ่งถ้าทำให้สอดรับกันได้ โอกาสในการกระทำความผิดก็จะลดน้อยลง 
และแม้ผู้ต้องหาคดีฆ่าคนตาย จะเจตนา หรือไตร่ตรอง ก็มีโทษถึงประหารชีวิต ซึ่งคดีของเปรี้ยวและเพื่อน แม้จะอ้างว่า ไม่ได้เจตนา ทางกฎหมาย ก็มีโทษถึงประหารชีวิตเช่นกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลที่ต้องพิจารณาตามพยานหลักฐาน ซึ่งไม่มีใครก้าวล่วงได้ 
แต่แน่นอนว่า สุดท้ายหากผู้ต้องหาทั้งหมด ไม่ถูกประหารชีวิต แต่การจองจำอยู่ในคุกนานหลายสิบปี ก็เหมือนตายทั้งเป็น!

logoline