svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

มท. เล็งเก็บเลขบัตรประชาชน ผู้ตอบ 4 คำถามนายกฯ

02 มิถุนายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มหาดไทยเล็งเก็บเลขบัตรประชาชน ผู้มาตอบ 4 คำถามนายกฯ ที่ศูนย์ดำรงธรรม อ้างไม่ให้คนบิดเบือนข้อมูล เล็งสรุปทุก 10 วัน

2 มิ.ย. 2560 -  เมื่อเวลา 10.00 น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  กล่าวถึงคำถาม 4 ข้อ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ว่า นายกฯได้ให้แนวทางมาแล้วว่าเป็นเรื่องของการรับฟังความคิดเห็น และอยากให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทย   จึงให้ศูนย์ดำรงธรรมเป็นผู้รับฟังความคิดเห็นโดยทางกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานครจะทำหน้าที่สรุปความคิดเห็นจากคำถาม 4 ข้อ ของประชาชนเพื่อส่งนายกฯ ซึ่งจะทำการรวบรวมความคิดเห็นและสรุปผลส่งให้กับนายกฯทุกๆ 10 วัน  ส่วนกรอบระยะเวลาในการแสดงความคิดเห็นนั้น ยังไม่มีการกำหนด  นอกจากนี้จะได้หารือในเรื่องช่องทางว่าจะใช้ช่องทางใดบ้าง เราใช้ช่องทางที่แน่นอน ไม่ผิดเพี้ยนก็คือการวอล์คอินเดินเข้าไปทำการชี้แจงที่ศูนย์ดำรงธรรมด้วยตัวเองและจะมีการกระจายศูนย์ดำรงธรรมให้มากขึ้น เช่นจังหวัด อำเภอ ลงไปถึงตำบลก็ทำได้ เพื่อเป็นการลดภาระการเดินทางของประชาชน หากใช้วิธีนี้และยืนยันตนด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ข้อมูลที่เข้ามาก็จะไม่ผิดเพี้ยน และผู้ที่ไม่หวังดีก็จะสวมสิทธิ์ไม่ได้ เพราะเจ้าตัวจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากเป็นคนที่เข้ามาเสนอความคิดเห็นเอง มีการเก็บหลักฐานคือเอกสารแสดงความคิดเห็น จดหมาย และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ขณะที่ช่องทางอื่นโดยเฉพาะโลกโซเชี่ยลอาจจะมีการสวมสิทธิ์ อ้างสิทธิ์กันได้
"เนื่องจากเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทางกระทรวงมหาดไทยยืนยันว่าจะไม่มีการชี้แนะใดๆทั้งสิ้น แต่จะรับฟังความคิดเห็นและสรุปแยกออกมา ผมคิดว่าการดำเนินการก็จะแยกว่าคำตอบที่ 1,2,3,4 เป็นอย่างไร และก็สรุปในทุกๆ 10 วันเท่านั้น ในวันนี้จะหารือกับผู้ว่าญ หากได้ข้อยุติที่แน่นอน ทางผู้ว่าฯจะใช้ระยะเวลาต่อจากนี้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ที่จะไปสร้างความเข้าใจกับประชาชน หากไม่ทันใน 7 วันก็มาหารือกันใหม่ และจะเริ่มปฏิบัติวันไหนจะเเจ้งให้ทราบอีกครั้ง " รมว.มหาดไทย กล่าว
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงเจตนาของพล.อ.ประยุทธ์ว่า ต้องการทราบความคิดเห็นของประชาชนเท่านั้น  ซึ่งอยากให้สะท้อนกลับไป คืออยากให้ทุกคนตระหนักถึงการเลือกตั้ง เพราะผลที่ออกมาจะส่งผลถึงการใช้อำนาจรัฐ ที่จะให้ประเทศไทยไปในทางไหนก็ได้ ให้มองในทางที่เกิดประโยชน์ ประชาชนจะได้ตระหนักว่าการที่จะได้รัฐบาลมาได้มาจากการเลือกตั้ง การเลือกตั้งทุกคนต้องใช้ความคิดเป็นว่าเราควรจะได้คนอย่างไร  ตนมั่นใจว่าหากเปิดให้มีการส่งความคิดเห็นในช่องทางอื่น ก็จะมีคนออกมาแสดงความคิดเห็น และผู้สื่อข่าวจะไปถาม เขาก็จะออกมาบอกว่ายังไม่เคยไปพูดอะไร ก็เริ่มทำ ให้การดำเนินการผิดเพี้ยนไปหมด ดังนั้นสิ่งที่เราคิดว่าเป็นการป้องกันกระบวนการทั้งหมดคือเจ้าตัวต้องออกมาแสดงตัวเอง และบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งหาตัวได้ง่ายเพราะกำนัน ผู้ใหญ่บ้านต้องเซ็นรับรองก่อนจะนำเอกสารขึ้นมาส่ง 
เมื่อถามถึงกรณีที่นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง สมาชิกพรรคเพื่อไทย ระบุถึงการใช้ศูนย์ดำรงธรรมรับฟังความเห็น เป็นการใช้เพื่อกลไกทางการเมือง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยว ตนขอยืนยันว่าเป็นการใช้เพื่อรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น เพราะศูนย์ดำรงธรรมมีหน้าที่ในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นอยู่แล้ว นอกเหนือจากการแก้ปัญหาและการให้ข้อมูลข่าวสาร ก็รับฟังข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นได้เหมือนกัน แต่ถ้าจะตีค่าว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ตนก็คงไปห้ามไม่ได้ เพราะเป็นคำถาม ถามเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง แต่จะไปบังคับให้ใครเขียนไม่ได้ เขาจะตอบมาอย่างไรก็จะสรุปอย่างนั้น ก็ไม่เป็นไร 
"ผมขอยืนยันว่า แม้ผมจะเป็นรัฐมนตรี แต่ผมจะไปสั่งให้ศูนย์ดำรงธรรมเขียนข้อมูลที่ไม่ถูกต้องขึ้นมาไม่ได้ ผมสั่งไม่ได้แน่นอน สั่งได้แค่เพียง ทำการสรุปมาตามระยะเวลา และแยกตามจำพวก ผมสั่งได้เเค่นี้ จะไปสั่งให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เราพยายามให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง เราจึงต้องให้เขาเดินทางมาด้วยตนเอง และยืนยันกับบัตรประจำตัวประชาชน" รมว.มหาดไทย กล่าวยืนยัน
เมื่อถามว่านายกฯจะนำคำตอบที่ได้จากประชาชนทั้งหมดไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า หากใครอยากทราบก็ให้ไปถามนายกฯเอาเอง 

logoline