svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชาวบุรีรัมย์กลุ้ม! ฝนตกหนัก ท่วมนาข้าว-ไร่อ้อยเสียหายนับพันไร่

29 พฤษภาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

(29 พ.ค.60) บุรีรัมย์ - หลังเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องครอบคลุมหลายพื้นที่ของจังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบกับน้ำเหนือจากจังหวัดนครราชสีมาไหลมาสมทบ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่นาข้าวของเกษตรกร ที่ลงมือไถหว่านไว้เมื่อช่วงเดือนเมษายน และต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในพื้นที่ 10 ตำบลของอำเภอหนองกี่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงแล้วกว่า 600 ไร่ นอกจากนั้นน้ำยังเอ่อท่วมขังไร่อ้อยของเกษตรกร ทั้งที่ปลูกใหม่ และอ้อยตอ 2 ที่มีอายุประมาณ 3-4 เดือนจนเน่าเสียหายอีกกว่า 400 ไร่


ถึงแม้เกษตรกรหลายรายจะพยายามขุดร่องระบายน้ำ และใช้เครื่องสูบน้ำออก แต่จากปริมาณฝนที่ตกลงมาสมทบอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำท่วมขังเป็นวงกว้าง ไม่สามารถที่จะระบายออกได้ จนเกิดน้ำท่วมขังทั้งนาข้าวและไร่อ้อยเป็นเวลานานร่วมเดือนแล้ว โดยระดับน้ำที่ท่วมนาข้าวและไร่อ้อยเฉลี่ย 50 เซนติเมตรถึง 1 เมตร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวนา และเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเป็นอย่างมาก เพราะต้องลงทุนในการทำนาเฉลี่ยไร่ละ 5,000 บาท ปลูกอ้อยไร่ละ 8,000 บาท ซึ่งหลายรายก็ต้องไปกู้ยืมเงินมาลงทันซื้อพันธุ์ข้าว อ้อย ปุ๋ย ค่าจ้างไถรายละ 2-3 แสนบาท แต่กลับต้องมาถูกน้ำท่วมเน่าเสียหายในพริบตา จึงอยากวิงวอนให้หน่วยงานภาครัฐได้เร่งเข้ามาสำรวจช่วยเหลือด้วย เพราะบางรายถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด
นางอาริสา ฤษกกระโทก อายุ 42 ปี เกษตรกร ต.ทุ่งกระตาด อ.หนองกี่ กล่าวทั้งน้ำตาว่า ปีนี้ได้กู้ยืมเงินโรงงานน้ำตาล และ ธกส.มาลงทุนปลูกอ้อย และทำนากว่า 400,000 บาท แต่ขณะนี้ได้ถูกน้ำท่วมนาข้าวเสียหายไปแล้ว 16 ไร่ จากทั้งหมด 40 ไร่ ส่วนอ้อยเสียหายแล้วกว่า 40 ไร่ จากทั้งหมด 200 ไร่ หากยังมีฝนตกลงมาต่อเนื่องก็อาจจะถูกน้ำท่วมเสียหายมากกว่านี้ จากผลกระทบที่เกิดขึ้นก็อยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาสำรวจและหาแนวทางช่วยเหลือด้วย เพราะหากผลผลิตเสียหายหมดแล้ว ก็ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปใช้หนี้
ด้านนายชานนท์ เข็มรัมย์ ประธานอาสาสมัครเกษตร จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าเกิดน้ำท่วมนาข้าว และไร่อ้อยของเกษตรกรในพื้นที่ อ.หนองกี่ เป็นวงกว้าง ก็ได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีนาข้าวและไร่อ้อยถูกน้ำท่วมกระจายใน 10 ตำบล ได้รับความเสียหายแล้วกว่า 1,000 ไร่ โดยสาเหตุนอกจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องแล้ว สาเหตุสำคัญคือมีการก่อสร้างถนนกีดขวางทางน้ำ ไม่มีการวางท่อระบายน้ำ หรือท่อลอดที่ได้มาตรฐาน เมื่อมีฝนตกหนักติดต่อกันก็ทำให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรได้รับความเสียหายดังกล่าว จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสำรวจและหาแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะเมื่อปี 2554 และ 2555 ก็เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจำนวนมากเช่นกัน

logoline