svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"การรถไฟ" เผยความคืบหน้ารถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น

29 พฤษภาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น มีความคืบหน้า 21.98% เร็วกว่าแผนงาน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม ก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น ปัจจุบันมีความก้าวหน้า 21.98% เร็วกว่าแผน 0.47% คาดว่าจะแล้วเสร็จทันตามกำหนดภายในปี 2561 - 2562 เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและการขนส่งสินค้าทางรถไฟในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตามนโยบายของ โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง โดยก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ


นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า รฟท. ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น ระยะทางประมาณ 187 กิโลเมตร โดยได้ลงนามสัญญาว่าจ้างกิจการร่วมค้าซีเคซีเอช (บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด) เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 มีความก้าวหน้า 21.98% เร็วกว่าแผนงาน 0.47% เนื่องจากผู้รับจ้างได้ขอปรับเปลี่ยนแผนงานเพื่อให้การก่อสร้างรวดเร็วยิ่งขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จทันตามกำหนดภายในต้นปี 2562 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับบริเวณสถานีขอนแก่น ระยะทาง 5 กิโลเมตร เพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถยนต์กับรถไฟ ถมคันทางรถไฟ วางรางใหม่ และเปิดใช้สถานีชั่วคราวที่สร้างทดแทนสถานีเดิมที่ถูกรื้อย้ายออกจากพื้นที่ก่อสร้าง

ทั้งนี้ แนวเส้นทางโครงการฯ มีสถานีที่อยู่ในพื้นที่การก่อสร้าง 18 แห่ง โดยมีสถานีที่ได้รับผลกระทบและต้องรื้อถอน 16 แห่ง ซึ่ง รฟท. ได้รับการประสานงานจากหน่วยงานราชการ องค์กรท้องถิ่น และองค์กรสาธารณะกุศล ขออนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟเก่าไว้ จำนวน 14 แห่ง ได้แก่ สถานีบ้านเกาะ สถานีหนองแมว สถานีโนนสูง สถานีบ้านดอนใหญ่ สถานีเมืองคง สถานีโนนทองหลาง สถานีหนองบัวลาย สถานีหนองมะเขือ สถานีเมืองพล สถานีบ้านหัน สถานีบ้านไผ่ สถานีบ้านแฮด สถานีท่าพระ และสถานีขอนแก่น ทั้งนี้ รฟท. ได้ให้ผู้ร้องขอเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณการขนย้ายวัสดุ ตัวอาคาร และประกอบอาคาร รวมทั้งจัดหาพื้นที่จัดวางอาคารสถานีรถไฟ

อย่างไรก็ตามขณะนี้ รฟท. ได้เร่งรัดให้ผู้รับจ้างก่อสร้างสถานีแห่งใหม่ให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน ภายหลังจากโครงการฯ ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ จะช่วยทำให้รูปแบบการเดินทางเปลี่ยนจากถนนเป็นระบบรางเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการประมาณ 27,200 - 38,800 คน/วัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 37,000 - 55,000 คน/วัน ปริมาณการขนส่งสินค้าที่ผ่านเส้นทางประมาณ 10,900 - 11,300 ตัน/วัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 36,400 ตัน/วัน ในปี 2577 ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้า รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ของประเทศ สามารถรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าทางรถไฟในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

logoline