svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

จากแท็บเล็ต "ยิ่งลักษณ์" ถึงหนังสือยืมเรียน "ลุงตู่" เด็กเสิร์ชกูเกิ้ลกันหมดแล้ว

17 พฤษภาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดเทอมนี้ เป็นปีแรกที่หนังสือเรียนของเด็กๆ เป็น "หนังสือยืมเรียน" ตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดิน


ที่เดิมเคยใช้จัดซื้อหนังสือเรียนเป็นตัวเลขกลม ๆ กว่า 5 พันล้านบาทต่อปีการศึกษา เหลือ 3 พัน 5 ร้อยล้านบาท หรือประหยัดลงมาถึงร้อยละ 30
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการยืมหนังสือเรียน ย้อนไปก่อนมี "นโยบายเรียนฟรี 15 ปี" เมื่อ 2552 เด็กที่ครอบครัวไม่ได้มีเงินทองมากนัก ก็จะใช้หนังสือยืมเรียน
ส่วนเด็กๆ ที่พ่อแม่มีเงินจ่ายก็ซื้อหนังสือใหม่ ห่อปกอย่างดี กลายเป็นความเหลื่อมล้ำ ที่เลือกไม่ได้
แต่เมื่อมีนโยบายเรียนฟรี เด็กๆ ทุกคนก็ได้หนังสือใหม่เหมือนๆ กัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ดูจากรายละเอียดแล้ว รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้ใช้ "หนังสือยืมเรียน" จะไม่ได้ย้อนกลับไปสู่ความเหลื่อมล้ำก่อน ปี 2552 หรือขัดต่อนโยบายเรียนฟรี เพราะว่าเด็กทุกคนจะต้องใช้หนังสือยืมเรียนเหมือนๆ กัน
อย่างไรก็ตาม ปีนี้เป็นปีแรกอาจยังไม่เห็นปัญหาเท่าไหร่ แต่น้องๆ ปีถัดไปที่รับหนังสือยืมเรียนต่อจากรุ่นพี่
หนังสือจะอยู่ในสภาพแบบไหน ? รุ่นพี่บางคนรักษาของ รุ่นพี่บางคนหนังสืออาจจะเยิน รุ่นน้องก็รับกรรมไปว่าจะรับหนังสือสภาพไหน
ต่อข้อสงสัยว่าหนังสือยืมเรียนสามารถ "เขียนโน็ตหรือจดบันทึกลงไปได้หรือไม่ ?"
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่าเขียนได้ หากหนังสืออยู่ในสภาพชำรุดหนัก ก็ให้โรงเรียนตั้งงบเบิกซื้อใหม่ได้เลย
แต่การศึกษายุคนี้เป็นยุคศตวรรษที่ 21 แล้ว เป็นยุคของนวัตกรรมและเทคโนโลยี
"หนังสือ" ถือเป็นสื่อการเรียนการสอนชนิดหนึ่ง แต่ถึงเวลานี้ต้องให้มองไกลไปมากกว่านั้น
นับตั้งแต่ "แท็บเล็ต" ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นโยบายการศึกษาของรัฐบาล คสช. ยังไม่มีนวัตกรรมใหม่อะไรที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ในศตวรรษที่ 21
เด็กๆ สมัยนี้ หาความรู้จากอินเตอร์หมดแล้ว หนังสือใหม่ หนังสือเก่า ไม่ใช้ความเหลื่อมล้ำอีกต่อไป
ความเหลื่อมล้ำอยู่ที่การเข้าถึงความรู้บนอินเตอร์เน็ต และแท็ตเล็ต ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ การศึกษาศตวรรษที่ 21

logoline