svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

งามหน้าถึงต่างแดน! ส่งออก "ทุเรียนอ่อน" ไปนอก พาณิชย์เต้นสั่งคุมเข้มส่งออก"ทุเรียน"

16 พฤษภาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ กล่าวว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวว่า ผู้นำเข้าทุเรียนต่างประเทศ ร้องเรียนว่า ทุเรียนไทยไม่ได้มาตรฐาน และพบว่าเป็นทุเรียนอ่อน ทำให้ไม่สามารถรับประทานได้

ร้อนถึง รัฐมนตรีพาณิชย์ ต้องลงมาสั่งการ ให้เร่งตรวจสอบ "ล้งทุเรียน" พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจ ก่อนจะส่งทุเรียนไปจำหน่ายตลาดต่างประเทศ โดยเบื้องต้นพบว่า เกิดจากเกษตรกรขายทุเรียนยกสวน จึงมีทั้งทุเรียนสุกกับทุเรียนอ่อนผสมกัน 
ซึ่งกรณีนี้มักเกิดขึ้นระหว่างต้นเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี เพราะช่วงดังกล่าวผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ เกษตรกรจึงเร่งตัดทุเรียนออกจำหน่าย ทำให้ทุเรียนที่ส่งออกไม่ได้มาตรฐาน หรือเป็นทุเรียนอ่อน
กระทรวงพาณิชย์ จึงขอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปลูกและการค้าทุเรียน คำนึงถึงคุณภาพเป็นหลักเพื่อรักษาตลาดต่างประเทศ
สำหรับตลาดส่งออกหลักของทุเรียนไทย คือ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ซึ่งผู้บริโภคในประเทศดังกล่าวนิยมบริโภคทุเรียนของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็พบว่า ยังมีผู้บริโภคบางประเทศ ที่ยังไม่เข้าใจถึงการบริโภคทุเรียนว่าควรจะต้องส่งกลิ่นหอม และสุกก่อนจึงจะรับประทานได้
ประเทศไทยได้ส่งออกทุเรียนทั้งที่สุกแล้ว และรอระยะเวลาการสุกไปจำหน่ายตลาดต่างประเทศ เมื่อไปถึงตลาดปลายทางผู้จัดจำหน่ายในประเทศนั้นๆ ได้นำทุกเรียนทั้งหมดออกจำหน่ายทันที โดยไม่ทราบว่าทุเรียนนั้นสุกหรือไม่ เมื่อผู้บริโภคซื้อไปรับประทานจึงได้ทุเรียนที่ยังไม่สุก ทำให้ลูกค้าตำหนิและขอเงินคืน
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้สั่งการไปยังสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยรวมทั้งทุเรียนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และส่งเสริมการบริโภคผลไม้อย่างถูกต้อง พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัดให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรและผู้ส่งออกก่อนส่งออกทุเรียนไปยังตลาดต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
กระทรวงพาณิชย์ ยังได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน ประสานไปยังกรมวิชาการเกษตรให้ตรวจสอบและกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องได้มาตรฐานก่อนการส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศ เพื่อให้ทุเรียนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและเกิดภาพลักษณ์ที่ดี รวมทั้ง เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับการส่งออกผลไม้ไทยประเภทต่างๆ ไปยังต่างประเทศในระยะยาว
ปัจจุบันล้งผลไม้ในไทยที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรมี 389 ราย เป็นนิติบุคคลที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างชาวไทยกับชาวต่างชาติ 95 ราย หรือ 24.42% ของจำนวนล้งที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด ซึ่งกรมฯได้กำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินธุรกิจเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง

logoline