svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

โรคซึมเศร้า รักษาได้ เข้าใจ เปิดใจ ให้กำลังใจ 10 อาการเข้าข่ายซึมเศร้า

15 พฤษภาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ชี้ว่า โรคซึมเศร้า รักษาได้ โดยเรียกร้องทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง.. เข้าใจ เปิดใจ ให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า กลับมาต่อสู้กับชีวิตต่อไปได้ ด้วยความเข้มแข็ง


ปัจจุบันสถานการณ์การฆ่าตัวตายในประชากรไทย กำลังเป็นปัญหา ที่เริ่มมีการขยายวงกว้างออกไป ทั้งในแง่ของวิธีการและการทำร้ายคนอื่นร่วมด้วย จากการรายงานผลการประเมินโครงการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย 
ในผู้ที่คิดฆ่าตัวตายสำเร็จ จะพบว่า 50% มีปัญหาโรคซึมเศร้าอยู่ ซึ่งโรคซึมเศร้านั้น ในอดีตที่ผ่านมา เป็นโรคที่สังคมได้ให้ความสนใจน้อย ไม่ได้เกิดความร่วมมือย่างจริงจัง ในการเข้ามาร่วมมือแก้ไขปัญหา 
บางครั้ง สังคมเกิดมุมมองต่อผู้เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ว่า เป็นบุคคลที่อ่อนแอ น่าอับอาย ล้มเหลวในการดำรงชีวิต สร้างตราบาปต่อการเข้ารับการรักษา ปล่อยให้เผชิญปัญหาตามลำพัง 
ซึ่งสุดท้าย จะพบผู้ป่วยเหล่านี้เลือกวิธีการทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น ตามข่าวที่สะท้อนภาพให้เห็นในแต่ละวัน
นอกจากนี้ ยังน่าตกใจที่พบว่า อัตราการป่วยทางจิตในวัยเด็กด้วยโรคซึมเศร้า มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับสาเหตุของโรคซึมเศร้านั้น สัมพันธ์กับหลายปัจจัย ทั้งจากด้านกรรมพันธุ์ การพลัดพรากจากพ่อแม่ในวัยเด็ก พัฒนาการของจิตใจ รวมถึง การเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางตัว 
โดยมีความเครียดทางจิตสังคมเป็นตัวกระตุ้นให้เป็นโรคได้มากขึ้น เช่น การสูญเสียคนที่รัก การหย่าร้าง ความเครียดทางจิตสังคม การมีโรคทางกายที่เรื้อรังและการไปพึ่งพิงสารเสพติด โดยเฉพาะเหล้า  
ซึ่งองค์การอนามัยโลกร่วมกับธนาคารโลก เคยคาดการณ์ว่า โรคซึมเศร้า จะก่อให้เกิดความสูญเสียด้านสุขภาพของประชากรโลกเป็นเท่าตัว ซึ่งในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ติดอันดับที่ 2 รองลงมาจากโรคหัวใจหลอดเลือด!
ทั้งนี้ โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่สามารถดูแลรักษาได้ ซึ่งโรคนี้เป็นการเจ็บป่วยอย่างหนึ่งของร่างกายเช่น เดียวกับการป่วยด้วยโรคอื่นๆ ไม่เป็นสิ่งที่น่าอับอายแต่อย่างใด ในการที่จะเข้าพบและพูดคุยกับจิตแพทย์ 
ซึ่งถ้าได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคก็จะทุเลาลง และพร้อมที่จะทำกิจวัตรต่างๆ ได้ดังเดิม
จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าเป็นการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ความผิดของใคร และที่สำคัญเป็นโรคที่รักษาได้
โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไรบ้าง?การรู้สึกโศกเศร้าเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าย่อมเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอาจรู้สึกอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีสาเหตุ อย่างน้อยสองสัปดาห์ และไม่สามารถทำให้หายเศร้าได้
โรคซึมเศร้ามีอาการได้หลากหลาย และจะมีผลต่อแต่ละคนในหลายๆ ลักษณะ บุคคลนั้นอาจมีอาการเหล่านี้ โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
1. รู้สึกเศร้ามาก วิตกกังวล กระสับกระส่ายหรือร้องไห้ได้ง่าย2. ไม่ค่อยมีสมาธิ หรือตัดสินใจในเรื่องง่ายๆ ได้ยาก3. ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ และไม่มีแรงจูงใจหรือไม่อยากจะยุ่งกับคนอื่น4. เคลื่อนไหวและพูดช้า5. นอนไม่ค่อยหลับหรือนอนมากเกินไปแต่ก็ยังคงรู้สึกเหนื่อย6. ตื่นเช้ากว่าปกติ7. น้ำหนักลดหรือน้ำหนักเพิ่มและไม่สนใจในการรับประทานอาหาร8. ไม่สนใจเรื่องทางเพศ9. มุ่งมั่นและคิดที่จะฆ่าตัวตาย รู้สึกหมดหวังรู้สึกผิด และชีวิตไร้ความหมาย10. วิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านร่างกายโดยไม่มีสาเหตุ
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า อาการจะมีมากในช่วงเช้า ซึ่งทำให้เขาไม่มีแรงจูงใจที่จะทำอะไร "ยากที่จะลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน"
อาการซึมเศร้านั้นมีหลายระดับตั้งแต่อาการระดับน้อย ปานกลาง และรุนแรง ในบางกรณีโรคซึมเศร้าอาจมีอาการโรคจิต (Psychosis) เช่น อาการหลงผิด และประสาทหลอนร่วมด้วย
อาการซึมเศร้าในรูปแบบอื่นโรคซึมเศร้าอย่างอ่อนแต่เรื้อรัง คือ อาการซึมเศร้าระดับน้อยที่อาการเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นระยะเวลาหลายเดือนหรือหลายปี
อาการซึมเศร้าหลังคลอด เป็นอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับแม่หลังกำเนิดบุตร
โรคอารมณ์แปรปรวน อาการซึมเศร้าเป็นลักษณะหนึ่งของโรคอารมณ์แปรปรวน กล่าวคือผู้ป่วยจะมีอารมณ์ที่แปรปรวนต่างกันมาก คือรู้สึก "อารมณ์ดีมากๆ" และตื่นเต้นมากเกินไป หรือมีอารมณ์ที่ "เศร้า" และซึมเศร้ามากสลับกันเป็นช่วง ยาที่ใช้รักษาโรคอารมณ์แปรปรวนได้แก่ ยาปรับอารมณ์ให้สมดุลและยาต้านเศร้า
ดังนั้น หากมีอาการเซื่องซึม คิดอะไรไม่ออก กิจวัตรประจำวันที่เคยทำได้ก็กลับทำไม่ได้ วิตกกังวล ทุกข์ใจ และขาดความมั่นใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ โดยมีอาการดังกล่าวเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป
อย่าปล่อยทิ้งไว้ รีบหาทางแก้ก่อนเข้าสู่ภาวะ "ซึมเศร้าแบบเรื้อรัง" จนกลายเป็น "โรคซึมเศร้า" และนำไปสู่ภาวะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาพฤติกรรมฆ่าตัวตายได้ ซึ่งแนวทางแก้ไข เช่น
1.ออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที เช่น วิ่งจ๊อกกิ้ง เต้นแอโรบิค ปั่นจักรยาน ฯลฯ ซึ่งการออกกำลังกายสามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ เพราะสามารถเพิ่มระดับสารเคมีในสมองที่ชื่อ เซโรโทนิน (Serotonin) เช่นเดียวกัน ที่มีการพูดคือ ออกกำลังกายช่วยทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งก็คือ สารธรรมชาติที่ออกฤทธิ์ระงับปวดคล้ายกับมอร์ฟิน (Morphine) 

2.สร้างเสียงหัวเราะให้ตัวเอง ดูภาพยนตร์ตลก หรืออ่านหนังสือการ์ตูนขำขัน สามารถช่วยคลายความวิตกกังวลและลดความเครียดได้
3.ระบายอารมณ์เสียบ้าง อาการซึมเศร้ามักเกิดจากการเก็บกดอารมณ์โกรธไว้ โดยไม่แสดงออก การระบายอารมณ์มีหลายวิธี ทั้งตะโกน ร้องไห้ หรือเขียนความรู้สึกลงในสมุดบันทึก
4.พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ การเล่าเรื่องให้ผู้อื่นฟังจะช่วยลดความฟุ้งซ่าน ทั้งยังได้ข้อคิดและเรียนรู้ว่าความทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราเพียงคนเดียว
5.มองโลกในแง่ดี ทุกปัญหาย่อมมีทางออก ทุกอุปสรรคย่อมมีโอกาส การมองโลกในแง่ดีช่วยลดความวิตกกังวล ทำให้ค้นพบแนวทางในการแก้ไขปัญหา
ดังนั้น หากพบว่าตนเอง หรือคนรอบข้าง ซึมเศร้า อย่านิ่งนอนใจ รีบหาทางแก้ไข!

ขอบคุณข้อมูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข



logoline