svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

มาเลย์ เข้มงวดแรงงานประมงไทย ก.แรงงาน แนะนายจ้าง เพิ่มค่าแรง เงินอุดหนุนจูงใจทำงาานในไทย

28 เมษายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระทรวงแรงงาน เผยทางการมาเลเซียไม่สนับสนุนให้ลูกเรือต่างชาติมาทำงานในมาเลเซีย จะอนุญาตเฉพาะกรณีขาดแคลน โดยทำงานได้เฉพาะในเขตน่านน้ำที่กำหนดเท่านั้น

ซึ่งหากฝาฝืนจะตกเป็นแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายหรือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายทันที ย้ำนายจ้างสร้างแรงจูงใจเพิ่มค่าจ้างเงินอุดหนุน สวัสดิการและความคุ้มครองมากขึ้น
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า จากข้อมูลล่าสุดของกรมประมงมาเลเซียปี 2558 พบว่ามีแรงงานไทยไปทำงานประมงที่ประเทศมาเลเซีย จำนวนทั้งสิ้น 25,065 คน จากจำนวนแรงงานประมงที่ได้รับอนุญาต จำนวน 140,949 คน เป็นแรงงานประมงชาวมาเลเซีย 102,337 คน แรงงานประมงต่างชาติ จำนวน 38,612 คน
ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวพบว่า แรงงานไทยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 64.92 ของแรงงานประมงต่างชาติที่ได้รับอนุญาต ขณะที่แรงงานประมงในประเทศไทยขาดแคลน แต่คนไทยกลับเดินทางไปทำงานประมงที่ประเทศมาเลเซียมากขึ้นทำให้นายจ้างต้องร้องขอความช่วยเหลือและใช้แรงงานต่างด้าวทดแทน
ซึ่งเหตุผลและแรงจูงใจในการเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซียเนื่องจากรายได้ที่ได้รับเป็นก้อน และไม่มีการสร้างหนี้ใหม่ ไม่มีแหล่งบันเทิงใกล้พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ทำให้แรงงานประมงไทยสามารถเก็บเงินได้มากกว่าการทำงานในประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีลักษณะงานที่เบากว่า โดยทำงานเดือนละ 22 วันและกลับมาเทียบท่าเกือบทุกวัน ซึ่งลูกเรือสามารถเดินทางกลับที่พักของตนในประเทศไทยได้เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
ลูกเรือประมงในมาเลเซียจะได้รับค่าตอบแทนตามค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศมาเลเซีย โดยมีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1,000 ริงกิตต่อเดือน หรือประมาณ 7,700 บาท และมีส่วนแบ่งเฉลี่ยจากการหาปลา ขึ้นอยู่กับจำนวนปลาที่จับได้
บางเดือนอาจได้รับสูงถึง 6,000 - 7,000 ริงกิต มีเงินพิเศษประจำตำแหน่ง เช่น นายท้าย พ่อครัว ช่างเครื่อง เป็นต้น อีกทั้งยังมีเบี้ยขยันสำหรับลูกเรือที่ทำงานขยันขันแข็งอีกด้วย ทั้งนี้ หากทำงานในประเทศไทยจะมีรายได้ประมาณ 10,000 15,000 บาทต่อเดือน
นายวรานนท์ กล่าวย้ำเตือนว่าทางการมาเลเซียไม่สนับสนุนให้ลูกเรือต่างชาติมาทำงานในมาเลเซีย แต่กรณีเจ้าของเรือขาดแคลนแรงงานก็จะอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างชาติได้โดยทำงานได้เฉพาะในเขตน่านน้ำที่กำหนดเท่านั้น และการอนุญาตดังกล่าว เป็นการอนุญาตให้ทำงานและอาศัยเฉพาะในเรือและที่ท่าเรือที่อนุญาตเท่านั้น ไม่รวมส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่
หากฝาฝืนจะกลายเป็นแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายหรือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย
ดังนั้น แรงงานไทยจึงจำเป็นต้องรับทราบข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนในการเดินทางไปทำงานประมงที่ประเทศมาเลเซียอย่างถูกต้อง โดยวิธีและช่องทางที่ถูกต้อง มิฉะนั้นจะเสี่ยงต่อการถูกจับกุม เสียค่าปรับ จำคุก และถูกส่งกลับประเทศ ไม่สามารถเรียกร้องใดๆ ได้เลยทั้งจากนายจ้างหรือทางการมาเลเซีย
เพราะการทำงานผิดกฎหมายไม่สามารถเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายได้ อย่างไรก็ตาม หากแรงงานไทยได้รับค่าจ้างเงินอุดหนุนและสวัสดิการ ตลอดจนได้รับความคุ้มครองมากขึ้นก็จะเพิ่มแรงจูงใจให้แรงงานประมงไทยทำงานอยู่ในประเทศ โดยไม่ต้องเสี่ยงชีวิตอยู่ในต่างแดน ทั้งยังช่วยลดการใช้แรงงานต่างด้าว
และปัญหาการหลอกลวงหรือการค้ามนุษย์ได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

logoline