svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เทคโนโลยีใหม่ กำลังเป็นผู้เปลี่ยนเกม!!!

27 เมษายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจโลก สังคม และการทหาร รวมทั้งการจัดการต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งชัดเจนแล้วว่า ปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่ยุคของข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การจัดเก็บข้อมูลเกือบเรียกได้ว่าฟรี

กล่าวคือเครือข่ายและคลาวด์จะทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย สื่อสังคมออนไลน์ และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จะเป็นตลาดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ การขยายตัวและการแพร่หลายนี้จะสร้างความท้าทายให้แก่สังคมและหน่วยงานของรัฐในการที่จะต้องหาวิธีในการสร้างประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ ในขณะที่ก็ต้องรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่จะตามมาด้วย

เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้มนุษย์เพิ่มความสามารถในการผลิตและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ในขณะที่สามารถลดการใช้ทรัพยากร และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของเมืองขนาดใหญ่ที่จะต้องจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติแบบใหม่ เช่น การพิมพ์ 3 มิติ และหุ่นยนต์ ที่จะมาเปลี่ยนรูปแบบการทำงานทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา โดยสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถพัฒนาความสามารถในการผลิต จัดการกับข้อจำกัดจากการใช้แรงงาน และลดการจัดจ้างภายนอก (outsourcing) จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าลดความยาวของห่วงโซ่อุปทานได้ ก็จะนำมาซึ่งประโยชน์ของเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่งของประเทศนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวก็อาจจะทำให้ภาคแรงงานการผลิตที่มีทักษะในระดับกลางและต่ำล้นตลาด เพราะเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาแทนที่ จึงยิ่งทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่มีนโยบายชัดเจนในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ก็จะทำให้เทคโนโลยีใหม่กระตุ้นขีดความสามารถในการผลิตใหม่ๆ และยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของการผลิตในอาเซียนอีกด้วย

สำหรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับความมั่นคงด้านทรัพยากรที่จำเป็นต่อชีวิต จะสามารถตอบสนองปริมาณความต้องการอาหาร น้ำ และพลังงาน ของประชากรโลกได้ โดยเทคโนโลยีหลักที่มีแนวโน้มที่จะเกิดในอีก 15 20 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย เทคโนโลยีการตัดแต่งพันธุกรรมพืช เกษตรกรรมความแม่นยำสูง เทคนิคขั้นสูงด้านชลประทาน พลังงานแสงอาทิตย์ เชื้อเพลิงชีวภาพ และเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

นอกจากเรื่องการประหยัดต้นทุนแล้ว การขยายตัว และการปรับใช้ของเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า จะขึ้นอยู่กับการยอมรับของสังคมและทิศทางทางการเมือง ในส่วนของเทคโนโลยีใหม่ๆเกี่ยวกับสุขภาพ จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงอายุ ซึ่งจะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่โดยรวมของผู้คน

ซึ่งประโยชน์สูงสุดที่ได้จากการมีสุขภาพที่ดี และมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น จะมีแนวโน้มที่จะเกิดในประเทศที่มีเศรษฐกิจกำลังพัฒนา เพราะขนาดของชนชั้นกลางที่ขยายตัวขึ้น อาจทำให้ระบบการดูแลสุขภาพในประเทศเหล่านี้ไม่ทั่วถึง แต่อย่างไรก็ตาม ภายในปี ค.ศ. 2030 จะมีความก้าวหน้าอย่างมาก สำหรับการมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น

Megatrends ในอนาคตภายในปี 2030 โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเนื่องจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งทำให้การเพิ่มขีดความสามารถของบุคคลจะถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้น เนื่องจากความต้องการลดความยากจนของคนทั่วโลก การเติบโตของชนชั้นกลาง การที่ประชากรมีการศึกษามากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีการผลิต และการสื่อสารรูปแบบใหม่ที่แพร่หลายและมีความก้าวหน้าด้านสาธารณสุข เกิดการกระจายอำนาจ โดยคาดว่าจะไม่มีมหาอำนาจเดียวที่ครอบงำโลก

แต่จะเป็นการกระจายอำนาจไปตามเครือข่ายและความร่วมมือกันของโลก ที่มีมากกว่าสองขั้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางประชากรศาสตร์ การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะลดลงในประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ ประชากรโลกร้อยละ 60 จะอาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง และความต้องการทรัพยากรที่จำเป็น อย่างเช่น อาหาร น้ำ และพลังงาน จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น จะต้องมีการจัดการเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ

เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ควรพัฒนาได้อย่างทันเวลา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาที่เกิดจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดังกล่าว

เนื่องจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี จึงอาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก เพราะในบางประเทศได้กลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานของประเทศของตน แต่ในขณะที่อีกหลายประเทศล้มเหลว ดังนั้นความไม่เท่าเทียมกันในหลายประเทศจึงเพิ่มความตึงเครียดทางสังคม บางประเทศที่เคยเป็นผู้นำในดัานต่างๆ ก็อาจจะไม่ได้เป็นผู้นำอีกต่อไป อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ที่เทคโนโลยีใหม่จะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งจะกลายมาเป็นผู้นำในการเผชิญกับความท้าทายในระดับโลกอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรชนชั้นกลาง ที่อยู่ทั่วไปในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะขยายตัวอย่างมากในแง่ของจำนวนโดยรวม และอัตราส่วนของประชากร ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ว่าประชากรโลกส่วนใหญ่จะเป็นชนชั้นกลางในอีก 15 20 ปีข้างหน้า

ซึ่งในอนาคตจะมีการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายได้มากขึ้น โดยอาจจะมีเครื่องมือเพื่อก่อสงครามเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องมือทางไซเบอร์ และอาวุธชีวภาพ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ทั้งในคนธรรมดาและคนกลุ่มเล็กๆ จะมีขีดความสามารถในการทำให้เกิดความเสียหายในระดับร้ายแรงได้ ซึ่งแต่ก่อนจะมีเพียงรัฐเท่านั้นที่สามารถทำได้

มีการคาดว่าความต้องการอาหารจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 35 ภายในปี ค.ศ. 2030 ในขณะที่ความต้องการน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 40 นอกจากนี้ยังพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกาและตะวันออกกลาง จะมีความเสี่ยงสูงต่อการขาดแคลนน้ำและอาหาร แม้แต่ในประเทศจีนและอินเดียก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

ความเป็นอิสระด้านพลังงานของประเทศที่พัฒนาและตอบรับเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ microgrid จะทำให้ประเทศเหล่านั้นมีพลังงานเพียงพอในการใช้ภายในประเทศ ส่วนประเทศที่มองไม่เห็นวิสัยทัศน์ดังกล่าว ก็จะเป็นประเทศที่เสื่อมถอยลงในที่สุด

Referenceบทความนี้เรียบเรียงความสำคัญบางส่วนจากเอกสารGlobal Trends 2030: Alternative Worlds, a publication of the National Intelligence Council, USA.; https://www.dni.gov/files/documents/GlobalTrends_2030.pdf

------------------

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
www.เศรษฐพงค์.com
LINE id : @march4G

logoline