svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

I Am Not Madame Bovary อย่าคิดหลอกเจ้ หนังจีนที่ตั้งชื่อไทยได้น่าเจ็บใจที่สุด

22 เมษายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หากชำเลืองมองผ่านสายตาอย่างผิวเผิน หลายคนคงคิดว่าหนังที่มีฟ่านปิงปิง เป็นนักแสดงนำเรื่องนี้ คงเป็นหนังตลกธรรมดาๆเรื่องหนึ่ง แต่เอาเข้าจริง I Am Not Madame Bovary เป็นหนังตลกร้าย


I Am Not Madame Bovary ไม่เพียงบอกเล่าเส้นทางการต่อสู้อย่างมุ่งมั่นเพื่อความยุติธรรมของสาวชาวบ้านคนหนึ่งเท่านั้น
หากยังสะท้อนภาพพิกลพิการของการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะระบบข้าราชการที่หาได้ใส่ใจกับงานบริการประชาชน อันเป็นหัวใจหลักของการทำงาน แต่กลับผลักไสผู้คนใต้การปกครองออกไปอย่างไม่แยแส ทำหน้าที่ของตนให้จบๆไปแค่วันๆหนึ่งก็พอ
หากชาวบ้านคนใดเดือดเนื้อร้อนใจก็ไปหาทางแก้ปัญหากันเอาเอง เช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับสาวใหญ่ หลีสั่วเหลียน ที่ออกมาร้องทุกข์เรื่องการหย่ากับอดีตสามีที่เธอพยายามอุทรณ์กับทางการว่า มันเป็นการหย่าปลอมๆ ขอให้ศาลพิจารณาใหม่
แน่นอนว่าคดีมโนสาเร่แบบนี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนใส่ใจ เพราะไหนๆก็หย่าขาดกันตามกฎหมายไปแล้ว จึงพากันส่ายหน้าปฎิเสธ เมื่อหมดหนทางหลีสั่วเหลียนจึงตัดสินใจบ่ายหน้าออกเดินทางไปเมืองใหญ่ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตสามีและบรรดาเจ้าหน้าที่ข้าราชการผู้เกี่ยวข้องฐานบกพร่องต่อหน้าที่ โดยใช้เวลานานเป็นสิบปี

I Am Not Madame Bovary อย่าคิดหลอกเจ้ หนังจีนที่ตั้งชื่อไทยได้น่าเจ็บใจที่สุด


จากเรื่องย่อคร่าวๆ คงพอจะเข้าใจได้แล้วว่า หนังที่มีเนื้อหาแบบนี้ เหตุใดจึงตั้งชื่อภาษาไทยได้อย่างหน่อมแน้มเสียเหลือเกินว่า "อย่าคิดหลอกเจ้" แม้พอจะเข้าใจได้ว่าบริษัทผู้จัดจำหน่ายพยายามจะลบภาพไม่ให้ผู้ชมเข้าใจว่าเป็นหนังดราม่าหนักๆ


ทว่า I Am Not Madame Bovary หาได้มีท่าทีขึงขังจริงจังในการบอกเล่าเรื่องราวของหลีสั่วเหลียนและสะท้อนปัญหาช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชน หากแต่ใช้กลวิธีในการดำเนินเรื่องไปอย่างมีอารมณ์ขันและพยายามนำศิลปะเข้ามารับใช้เนื้อหาด้วยกระบวนการทางเทคนิคอย่างมีชั้นเชิงและเปี่ยมด้วยรสนิยม

I Am Not Madame Bovary อย่าคิดหลอกเจ้ หนังจีนที่ตั้งชื่อไทยได้น่าเจ็บใจที่สุด

กลับไปที่เนื้อหาหลักของหนังกันอีกครั้ง คีย์เวิร์ดสำคัญของ I Am Not Madame Bovary มาจากฉากหนึ่งที่อดีตสามีกล่าวโทษภรรยาว่า เธอไม่ใช่สาวบริสุทธิ์ เคยผ่านมือชายมาก่อนจะแต่งงานอยู่กินกับเขา (ผู้ชายหน้าไหนมันมาสนใจกับเรื่องแบบนี้ด้วยล่ะ ในเมื่อตัวเองก็ใช่ว่าจะบริสุทธิ์ผุดผ่องก่อนจะมีเมียซะเมื่อไหร่)


แต่หลีสั่วเหลียนก็หาได้เป็นหญิงมากรัก เช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น พันจินเหลียน หนึ่งในตัวละครวรรณกรรมคลาสสิคจีนเรื่อง ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน ที่สุดท้ายนางถูกฆ่าตายเพราะแอบไปคบชู้สู่ชาย ตัวหนังเองก็ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อ I Am Not Pan Jinlian คนทำหนังเลยตั้งชื่อให้ร่วมสมัยด้วยการนำวรรณกรรมคลาสสิคของโลกสัญชาติฝรั่งเศสอย่างมาดามโบวารี่ มาล้อเป็นชื่อหนัง ซึ่งตัวละคร อ็องมา ในมาดามโบวารี่ ก็เป็นหญิงหลายใจ ที่สุดท้ายจบชีวิตลงเพราะความแพศยาของเธอนั่นเอง


การตั้งชื่อหนังล้อกันระหว่าง วรรณกรรมคลาสสิคของสองชาติที่หากเปิดอ่านกันจริงๆก็จะพบความสะเทือนใจในชะตากรรมหญิงสาวที่ถูกตราหน้าเป็นหญิงแพศยา จึงเป็นทั้งอารมณ์ขันและการแสดงความคาราวะต่องานศิลปะ (ดังนั้นถ้าจำตั้งชื่อไทยให้สละสลวยจึงควรล้อไปกับตัวละครหญิงแพศยาในวรรณกรรมคลาสสิคของไทยด้วย เช่น ฉันไม่ใช่นางวันทอง อะไรทำนองนี้)

I Am Not Madame Bovary อย่าคิดหลอกเจ้ หนังจีนที่ตั้งชื่อไทยได้น่าเจ็บใจที่สุด

ความพยายามนำเอาศิลปะมาถ่ายทอดเนื้อหาของ I Am Not Madame Bovary อีกประการหนึ่ง เกิดขึ้นโดยการสร้างมุมมองของงานภาพ อิงจากภาพเขียนยุคสมัยซ่ง ด้วยการสร้างเฟรมวงกลมล้อมกรอบภาพ ผนวกกับงานกำกับภาพที่ตั้งกล้อง วางเฟรม จัดองค์ประกอบภาพ ฉาก จับภาพตัวละครรวมถึงบันทึกทิวทัศน์บรรยายกาศของเมืองชนบทในจีนได้อย่างงดงามราวกับภาพเขียนเลยทีเดียว




(ดังนั้นการดูหนังที่เฟรมภาพเป็นวงกลมเกือบตลอดทั้งเรื่อง จึงไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมแต่อย่างใด หากเป็นความรื่นรมย์แบบใหม่ในการดูหนังเสียด้วยซ้ำ)




ซึ่งนอกจากสัดส่วนบนจอภาพในหนัง จะมีทั้งเฟรมวงกลมแล้ว ยังมีอัตราส่วนแบบ 4:3 หรือสี่เหลี่ยมตุรัส และ 16:9 หรือ Anamorphic Wide Screen สัดส่วนจอหนังแบบทั่วไป การใช้ภาพในอัตราส่วนทั้งสามแบบนี้ ยังถูกใช้เพื่อสื่อความหมายทางนัยยะต่างๆ อีกด้วย




เฟรมวงกลมปรากฎในฉากที่เกิดเหตุการณ์ในเมืองชนบทที่หลีสั่วเหลียนอาศัยอยู่ แทนภาพสังคมยุคเก่า ส่วนภาพขนาด 4:3 ปรากฎในฉากที่เธอเดินทางมายังเมืองหลวงสะท้อนมุมมองแห่งความวุ่นวายโกลาหลจากความเจริญก้าวหน้าในสังคมเมือง และอัตราส่วนภาพ 1:2.66 หรือ Wide Screen ถูกใช้ในฉากเหตุการณ์ปัจจุบันตอนท้ายเรื่องที่ตัวละครเผยความในใจออกมา

I Am Not Madame Bovary อย่าคิดหลอกเจ้ หนังจีนที่ตั้งชื่อไทยได้น่าเจ็บใจที่สุด

แม้เนื้อหาสะท้อนสังคมจะมองว่าเป็นเรื่องดราม่าหนักๆ แต่ I Am Not Madame Bovary ก็มีมุกตลกๆหรือเล่นกับอารมณ์ขันอย่างมีจังหวะจะโคน มีการใช้ดนตรีประกอบตบมุกแบบตะลึ่งตึ่งโปะไม่ต่างจากหนังตลกบ้านเรา มีคาแรคเตอร์ตัวละครที่หลากหลายโดยเฉพาะเหล่าบรรดาข้าราชการ ซึ่งมีทั้งภาพของตัวตลก ผู้ร้าย ผู้ดีมีอำนาจ ไปจนถึงคนดีมีศีลธรรม (เพราะฉะนั้น หนังที่วิพากษ์การทำงานเจ้าหน้าที่รัฐ จึงผ่านการเซนเซอร์ที่แสนเคร่งครัดของจีนมาได้อย่างฉลุย




ซึ่งหนังก็ดูเหมือนจะทำเอาอกเอาใจสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เป็นพิเศษซะด้วย) แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งปวง ความดีงามทั้งหมดมวลจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดการแสดงอันยอดเยี่ยมของฟ่านปิงปิง ไม่เพียงเธอถูกล้างภาพลดเครื่องประทินโฉมลงให้กลายมาเป็นสาวชาวบ้านแล้ว ยังถูกแปลงร่างเพิ่มทรวงทรงองค์เอวให้ดูหนาเทอะทะเป็นสาวใหญ่ผู้ทำงานหนัก




แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการที่เธอมอบบทบาทการแสดงอันโดดเด่นของหญิงนักสู้หลีสั่วเหลียนไว้ให้กับหนังเรื่องนี้ ทำให้เธอคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมเกือบทุกเวที รวมทั้งผู้กำกับเฝิงเสี่ยวกัง และตัวหนังเองด้วย

I Am Not Madame Bovary อย่าคิดหลอกเจ้ หนังจีนที่ตั้งชื่อไทยได้น่าเจ็บใจที่สุด

I Am Not Madame Bovary อย่าคิดหลอกเจ้ เข้าฉายที่ลิโด้ สยามสแควร์ และเฮ้าส์ อาร์ซีเอ โรงที่ฉายหนังหลากหลายมากกว่าจำนวนโรงที่ตัวเองมี 4-5 เท่า ขณะที่บางเครือมีโรงหนังมากมายหลายสิบโรง แต่กลับฉายหนัง(ที่ตัวเองคิดว่าได้เงินและคนอยากดู) วนไปวนมาแค่ 4-5 เรื่องเท่านั้น

I Am Not Madame Bovary อย่าคิดหลอกเจ้ หนังจีนที่ตั้งชื่อไทยได้น่าเจ็บใจที่สุด

I Am Not Madame Bovary อย่าคิดหลอกเจ้ หนังจีนที่ตั้งชื่อไทยได้น่าเจ็บใจที่สุด


I Am Not Madame Bovary อย่าคิดหลอกเจ้ หนังจีนที่ตั้งชื่อไทยได้น่าเจ็บใจที่สุด

logoline