svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

4 บทเรียน สอนลูกให้รู้จัก "เงิน" ต้องเริ่มที่ 3 ขวบ วันที่ลูกไปโรงเรียน โดย ขวัญชนก วุฒิกุล

22 เมษายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

Money Care: รู้ไว้ ใส่ใจเงิน เดินทางมาถึงตอนที่ 3 แล้วค่ะ ต้องเรียนคุณผู้อ่านแบบนี้ค่ะว่า ความตั้งใจของคอลัมน์นี้นี่ไม่ใช่บทความวิชาการเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน แต่เราอยากให้เป็นพื้นที่สำหรับการแชร์ประสบการณ์ การเล่าสู่กันฟัง เพราะต้องบอกว่า "งานอื่น" ทั้งการเป็นผู้จัดรายการวิทยุ "เงินทองต้องรู้" หรือการเป็นวิทยากรในรายการ "ทีเด็ดลูกหนี้" นั้น ทำให้ดิฉันเจอกับประสบการณ์แปลกใหม่ตลอดเวลา และแต่ละเรื่องก็มีกรณีที่น่าศึกษา

จริงๆ มันอาจจะไม่ยุติธรรมนักที่เราจะใช้ความผิดพลาดหรือความสำเร็จของคนอื่นมาเป็นบทเรียนของตัวเองแต่ว่ากันว่า การเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นนี่แหละ เป็น "ทางลัด" ที่สุดแล้วในทุกเรื่อง

หนึ่งในเรื่องที่มีคนถามมากที่สุด และอยากให้แชร์ประสบการณ์ ก็คือ การสอนลูกเรื่องเงินดังนั้น วันนี้ต้องขออนุญาตเล่าเรื่องส่วนตัวสักนิด ปัจจุบันดิฉันเป็นแม่ที่มีลูกสาวในวัยใกล้จะบรรลุนิติภาวะแล้วค่ะ ซึ่งถ้าจะแบ่งการสอนลูกเรื่องเงินตามช่วงอายุลูกตามประสบการณ์ของตัวเอง ก็จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง

ช่วงที่ 1 อายุ 3-6 ขวบเป็นช่วงที่ลูกเริ่มไปโรงเรียนครั้งแรก ตอนนั้นไม่ได้สอนลูกจริงจังค่ะ แค่สอนให้เขารับรู้ว่า "เงิน" สามารถใช้เพื่อซื้อสินค้าและบริการได้ จะซื้อของ ซื้อขนม จะจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ก็ต้องใช้เงินทั้งนั้น จำได้ว่า ตอนนั้นตัวเองยังไม่น่าจะสอนลูกเรื่องหยอดกระปุกด้วยซ้ำไป

(แต่คุณยายอาจจะแอบสอน เพราะเห็นมีกระปุกออมสินอยู่หลายใบที่เวลาเขย่าแล้วมีเสียงเหรียญดังกรุ๊งกริ๊ง)

บทเรียนที่หนึ่ง : สอนให้ลูกรู้ว่า เงินมีค่า ใช้ซื้อสินค้าและบริการได้

ช่วงที่ 2 อายุ 7-12 ขวบเมื่อลูกเริ่มเรียนชั้นประถมฯ ตอนนี้ดิฉันเข้มข้นกับการสอนลูกเรื่องเงินมากขึ้น เพราะคิดว่า เป็นช่วงอายุที่เขาพร้อมจะเรียนรู้แล้วดิฉันเปิดคอร์สระยะสั้น 1 วันจบ ด้วยการพาลูกสาววัย 7 ขวบขึ้นรถเมล์ไปทำงานกับแม่ ระยะทางจากบ้านเราไปถึงที่ทำงานไกลค่ะ ใช้เวลาเดินทางนาน ตอนนั้น ดิฉันทำงานเป็นบรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก แน่นอนว่าการทำงานข่าวในกอง บก. ไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับเด็ก 7 ขวบ หลังจากทำงานด้วยกัน และเห็นแม่วิ่งวุ่นตั้งแต่เช้าจนค่ำ ลูกสาวถึงกับเอ่ยปากว่า "คราวหลังไม่มาด้วยแล้วนะ งานแม่ไม่สนุกเลย"

หลังเลิกงานวันนั้น ดิฉันพาลูกเดินไปที่ตู้เอทีเอ็ม กดเงินให้ดู แล้วบอกลูกว่า เงินที่อยู่ในนี้ ที่เรากดออกมาเพื่อเอาไปทานข้าว ซื้อขนมและนั่งรถกลับบ้านด้วยกัน ไม่ใช่ได้มาฟรีๆ แต่มาจากที่หนูเห็นแม่ทำงานตลอดทั้งวัน ที่หนูบ่นว่า "งานแม่ไม่สนุกเลย" นี่แหละ นี่คือ เงินจากการทำงาน เป็นรายได้ที่เราต้องออกแรง

บทเรียนที่สอง :สอนให้รู้ว่า เงินไม่ได้หาได้ง่ายๆ ต้องทำงานถึงมีเงิน

เมื่อแน่ใจว่า ลูกเข้าใจแล้วว่า เงินมีค่าและเงินไม่ได้หาได้ง่ายๆ ดิฉันก็เริ่มให้ลูกหยอดกระปุกอย่างจริงจัง ตั้งแต่ 7 ขวบ เพราะตอนนั้นเขาได้ค่าขนมไปโรงเรียนแล้ว หรือบางครั้งก็มีผู้ใหญ่ให้สตางค์ เสียแต่จำไม่ได้ว่า การแคะกระปุกครั้งแรกเกิดขึ้นตอนไหน ใช้เวลาหยอดนานแค่ไหน จำได้แค่ว่า ลูกสาวตื่นเต้นมากเมื่อนับจำนวนเงินในกระปุกครั้งแรกซึ่งมีเกือบๆ 1 หมื่นบาท ตอนนี้แหละค่ะที่พ่อแม่ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกด้วยการ "ช่วยเติม" คือ ลูกหยอดกระปุกได้เท่าไหร่ พ่อแม่ก็ช่วยเติมให้เท่านั้น

แคะกระปุกเสร็จแล้ว ดิฉันก็พาลูกไปเปิดบัญชีธนาคารด้วยชื่อของเขาเอง ด้วยทุนประเดิม 2 หมื่นบาท และจากนั้น ก็จะพาเขาไปธนาคารเพื่อฝากเงินเป็นประจำทุกเดือน

บทเรียนที่สาม : สอนให้รู้ว่า มีเงินต้องเก็บออมเผื่อขัดสนในวันหน้า

ช่วงที่ 3 อายุ 13-17 ปี ตอนนี้ลูกเรียนระดับมัธยมฯ แล้ว จากเดิมที่จ่ายเบี้ยเลี้ยงเป็นรายวัน ก็เปลี่ยนเป็นจ่ายรายสัปดาห์ เพราะเขาโตพอที่จะทดลองรับผิดชอบเงินจำนวนมากขึ้น จะเรียกว่า "เงินก้อน" ก็ไม่ผิด และเป็นช่วงที่เขาต้องเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการเงินก้อนที่มีจำกัดให้พอกับการใช้จ่ายในแต่ละสัปดาห์

สิ่งที่สอนลูกได้ในเวลานี้ ก็คือ ต้อง "เก็บก่อนใช้"เพราะถ้าใช้ก่อนเก็บ ก็จะไม่มีเหลือให้เก็บแน่นอน ตอนนี้ลูกสาวเริ่มแยกบัญชีเงินออมจากแม่แล้วค่ะ เพราะที่โรงเรียนมีธนาคาร และเขายินดีที่จะฝากเงินกับธนาคารโรงเรียนมากกว่าดังนั้น บัญชีแรกที่เปิดไว้กับธนาคารพาณิชย์ จึงตกเป็นหน้าที่ของมนุษย์แม่ที่ต้อง "เก็บเงินตัวเอง (เข้าบัญชีลูก) ก่อนใช้" ส่วนลูกก็ไปวุ่นวายกับการออมผ่านธนาคารโรงเรียน

วันที่ลูกสาวเรียนจบ ม.6 ปิดบัญชีธนาคารโรงเรียนเรียบร้อย ลูกส่งเงินให้แม่ประมาณหมื่นกว่าบาท แล้วบอกแม่ว่า "นี่คือ 6 ปีของหนู"

บทเรียนที่สี่ : สอนให้รู้ว่า ต้องเก็บก่อนใช้ อย่าใช้ก่อนเก็บ เพราะจะไม่มีเหลือ

ดิฉันสอนลูกเพียงแค่ 3 ช่วงอายุนี้เท่านั้น เพราะหลังจากเขาอายุ 18 ปี เข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ดิฉันถือว่า เขาเป็นผู้ใหญ่พอที่จะดูแลตัวเอง จากที่เคยจ่ายเบี้ยเลี้ยงเป็นสัปดาห์ก็เปลี่ยนมาจ่ายเป็นเดือน ให้เขาบริหารจัดการเอง ระหว่างเรียนหลายครั้งที่เขามีรายได้พิเศษจากการขายของเล็กๆน้อยๆ หรือจากการสอนพิเศษ เขาจะใช้ซื้อหนังสือ หรือซื้อเครื่องสำอาง พ่อแม่ก็ไม่เคยว่า เพราะเงินหามาแล้ว ก็ต้องใช้บ้าง ไม่ใช่เก็บอย่างเดียวจนชีวิตขาดความสุข

ส่วนที่กำลังจะปรึกษาลูกในปีนี้ ปีที่เขามีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เป็นบทเรียนสุดท้าย ก็คือ จะลองถามว่า เขาสนใจจะเริ่มลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นดูบ้างมั้ย เพราะเงินออมของเขาน่าจะมากพอและมีพลังที่จะเริ่มแสวงผลตอบแทนที่มากขึ้นได้แล้ว

ที่สอนลูกมาทั้งหมด เคยมีเพื่อนบอกดิฉันว่า "เด็กสมัยนี้มีความคิดเป็นของตัวเอง อย่าคิดแทนลูก เขาไม่เชื่อเราหรอก" ดิฉันก็ได้แต่บอกว่า พ่อแม่มี "หน้าที่" ในการสั่งสอนอบรมชี้แนะ ถ้าจะปล่อยให้ลูกคิดเองไปเสียหมด ก็ไม่น่าจะถูกต้องนักส่วนเรื่องจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เราก็อย่าไปคาดหวังว่า สิ่งที่เราปลูกฝังลูกจะได้ผลตามที่เราต้องการ

พ่อแม่มีหน้าที่ชี้แนะ ส่วนเรื่องการใช้ชีวิตเป็นหน้าที่ของลูกค่ะ..

logoline