svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เปิดประตูบ้านให้โจร

08 เมษายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เดือนเมษายนมีวันหยุดยาวๆ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่หลายคนรอคอย แต่สงกรานต์ปีนี้อาจจะไม่เหมือนกับหลายๆ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในแง่ของการจับจ่ายใช้สอย ที่ล่าสุดบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด โดย ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ออกมาระบุว่า

สงกรานต์ในกรุงเทพฯ ปีนี้ น่าจะซบเซากว่าที่คาดไว้ เพราะประชาชนกว่า 64% เลือกที่จะ "ประหยัด" และเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาเที่ยวฉลองให้น้อยลง
ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะภาระหนี้ที่แบกอยู่เต็มสองบ่า จนหลังไหล่แทบหัก ทั้งภาระหนี้เดิม และภาระหนี้ใหม่ซึ่งเพิ่งสร้างกันมาหมาดๆ จากมาตรการช้อปช่วยชาติเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งบางคนสารภาพว่า "ช้อป" ด้วยบัตรเครดิต ใช้โปรโมชั่นซื้อก่อนผ่อนทีหลัง 3-6 เดือน ทำให้สงกรานต์ปีนี้ยังมีภาระผ่อนชำระติดตัวมา จนกระดิกตัวไปเฉลิมฉลองเอิกเกริกอะไรแทบจะไม่ได้เลย
"ปัญหาหนี้ครัวเรือน" กลายเป็นปมที่ขมึงเกลียวแน่นขึ้นทุกขณะ แม้ว่าล่าสุดสภาพัฒน์จะออกมาแถลงว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนล่าสุด ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ 11.33 ล้านบาท คิดเป็น 81% ของจีดีพี ถึงสัดส่วนจะยังคง "สูง"
แต่ถ้าพิจารณาจากอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนที่ระดับ 4.1%ในปี 2559 ที่ผ่านมา ก็ต้องถือว่า เป็นอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี2556 แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะสิ่งที่กำลังจะตามมาในอนาคต และเป็นสิ่งที่ "ลูกหนี้" ไม่พึงปรารถนา นั่นคือ "ดอกเบี้ยขาขึ้น"
ลองนึกภาพครึ่งหลังของปี 2560 ที่ว่ากันว่า เป็นช่วงเวลาที่ดอกเบี้ยอาจจะเริ่มขยับเพิ่มขึ้นมันจะหฤโหดขนาดไหน
เพราะอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังโตต่ำๆ แม้ว่า อาจจะเห็นความคึกคักหรือการฟื้นตัวบ้าง แต่ก็เป็นลักษณะ "กระจุก" ไม่กระจาย ขณะที่อานิสงส์จากเศรษฐกิจโตต่ำต่อเนื่องทำให้ในปีนี้ลูกจ้างจำนวนไม่น้อยในระบบแรงงานจำใจรับรายได้ค่าจ้างในอัตราเดิม เพราะนายจ้างขอ "ฟรีซ" ไว้ก่อน คิดเสียว่า เงินเดือนเท่าเดิม มีงานทำก็ยังดีกว่าตกงาน
เงินเดือนเท่าเดิม รายได้เท่าเดิม แต่ดอกเบี้ยเงินกู้ขยับ ภาระผ่อนชำระเพิ่ม ลูกหนี้จะดิ้นกันท่าไหน!
สูตรสำเร็จง่ายๆ ของชีวิตก็เหมือนการบันทึกบัญชีกำไรขาดทุนนั่นแหละ รายได้มากกว่ารายจ่าย เท่ากับ "กำไร" รายได้น้อยกว่ารายจ่าย เท่ากับ "ขาดทุน" ใครที่บริหารจัดการเงินเดือนแล้วมี "กำไร" มีเงินเหลือเก็บ ความเดือดร้อนก็น้อยหน่อย
ส่วนใครที่ "ขาดทุน" ทุกเดือนๆ ก็เดือดร้อนมากเป็นธรรมดา ทางออกธรรมดาสามัญที่สุดก็ไม่พ้นต้อง "กู้หนี้ยืมสิน" มาใช้สอย แต่ทันทีที่ดอกเบี้ยออกสตาร์ทในครึ่งหลังของปีนี้เป็นอย่างเร็วหรือในปีหน้าเป็นอย่างช้า
คนที่เดือดร้อนมากอยู่แล้ว ก็เดือดร้อนมากขึ้น คนที่เคยเดือดร้อนน้อย (หมายถึงมีเงินเหลือเก็บ) จะเดือดร้อนมากขึ้นหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า ที่มีเหลือเก็บนั้นมากน้อยแค่ไหน ส่วนกลุ่มที่เดือดร้อนที่สุด เพราะสถานะทางการเงินจะเปลี่ยนไปเลย ก็คือ กลุ่มคนที่ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน

ถึงจุดนี้ ต้องอย่ารอให้ความเดือดร้อนมาเยือน ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่า ดอกเบี้ยมีโอกาสขยับปรับเพิ่มขึ้น ก็ต้องอาศัยจังหวะนี้ทำ 2 อย่าง หนึ่งคือ หาทางเพิ่มรายได้ และสองคือ หาทางลดรายจ่าย
"เพิ่มรายได้" ในช่วงที่เศรษฐกิจโตต่ำๆ ใครๆ ก็รู้ว่า ยาก แค่ประคองไม่ให้รายได้ลดลงยังยากเลย ดังนั้น ต้องหาทาง "ลดรายจ่าย" เพื่อเพิ่ม"ส่วนต่าง" ระหว่างรายได้และรายจ่ายให้มากที่สุด เก็บ "ส่วนต่าง" ที่เหลือไว้ในถังสำรองให้มากที่สุด เมื่อถึงวันที่ดอกเบี้ยขยับจริงๆ อย่างน้อยเราก็มีเงินในถังสำรองที่บรรเทาความเดือดร้อนลงได้บ้าง
ย้อนนึกถึงสิ่งที่คุยกับ คุณวีระ ธีรภัทร ผู้ดำเนินรายการ "เงินทองต้องรู้" เมื่อไม่นานมานี้ คุณวีระบอกว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา มันก็มีแค่ 2 อย่างเท่านั้น นั่นคือ "เงิน" กับ "หนี้"
"เวลาปฏิบัติกับ เงิน ก็ให้นึกเหมือนกับเราเลี้ยงลูก เราต้องดูแลให้ดี หาที่ที่เหมาะสมให้อยู่ ถ้ารู้ตัวว่าเราเป็นพ่อแม่ที่ไม่มีวินัย ไม่มีเวลาให้ลูก ดูแลลูกได้ไม่เต็มที่ ลูกจะเกเรได้ก็ต้องใช้วิธีส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ เอาไปฝากประจำไว้เลย จะประจำ 6 เดือน 12 เดือนหรือ 24 เดือน ก็พิจารณาให้เหมาะสม แต่หลักคิดก็คือ ต้องทำดี พูดดีกับเงิน เพื่อให้เขาอยู่กับเรานานๆ"
ส่วนวิธีปฏิบัติกับ "หนี้" ต้องทำเสมือนหนี้เป็น "โจร" ต้องขับไสไล่ส่ง หาทางให้หนี้ออกไปจากชีวิตเราให้เร็วที่สุด ถ้าเป็นไปได้ก็อย่าเปิดประตูต้อนรับโจรเข้าบ้าน ที่สำคัญ คือ "ไม่ต้องพูดกับมันดีๆ ไม่ต้องประนีประนอมกับโจร"
แต่ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องแบบนี้ บางคนอาจจะบอกว่า "ยาก" เพราะหลายๆ บ้านยอมใจเชิญชวนโจรเข้าบ้าน เพราะบางอย่างมันก็ต้อง "กู้" จริงๆ
หลักคิดเรื่องเปิดประตูให้โจร (หรือหนี้) เข้าบ้านนั้น ไม่มีอะไรยาก แค่พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเอง วิธีปฎิบัติที่เป็นมาตรฐานก็คือ ไม่ก่อหนี้ที่มีภาระผ่อนชำระเกินกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ในแต่ละเดือนเช่น
ถ้ามีเงินเดือน 10,000 บาท สามารถมีภาระผ่อนชำระได้ไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท ถ้ามีรายได้ 30,000 บาท ก็ไม่ควรมีภาระผ่อนชำระเกินกว่าเดือนละ 9,000 บาท
อุปมาอุปไมยประมาณว่า ถ้าจะเปิดประตูบ้านให้โจรเข้ามาทั้งที ก็ต้องเหลือทรัพย์สินให้มัน "ยกเค้า" ได้น้อยที่สุด

logoline