svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ไต่สวนจำนำข้าวนัดที่ 11 "เฉลิม "แจงยิบ "ยิ่งลักษณ์" ติดตามตรวจสอบเข้ม

17 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไต่สวนจำนำข้าวนัดที่ 11 " เฉลิม " แจงยิบ "อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์" ติดตามตรวจสอบเข้ม ออกตัวแทน หากสมรู้ร่วมคิดไปต่างประเทศไม่กลับสู้คดี ขณะที่ ตำรวจลูกน้องเหลิม เสริมปี 55 จัดกำลังสายตรวจตู้แดง 24 ชม. นัดไต่พยานอีกเช้า 24 พ.ค.

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 17 มี.ค.60 เวลา 09.30 น. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าว พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 11 ในคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อายุ 49 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาทโดยนายพิชัย ชุนหวชิร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขายข้าว และอดีตประธานกรรมการบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) พยานปากแรกวันนี้ เบิกความยืนยันเกี่ยวกับหลักการปิดบัญชีมีความสอดคล้องกับฤดูการผลิต ส่วนการกำหนดราคาจำนำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดจะมีความเสียหายหรือไม่นั้นต้องเปรียบเทียบกับประโยชน์ด้านอื่นควบคู่ เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการสาธารณะ
ขณะที่ พ.ต.อ.ธนกฤต อ่อนละออ รอง ผกก. สภ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี เบิกความเกี่ยวกับการดำเนินคดีจำนำข้าวว่าเมื่อปี 2555 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ขณะนั้น ในฐานะประธานการตรวจสอบทุจริตโครงการรับจำนำข้าว สั่งการให้ สตช.กำชับหน่วยงานในสังกัดตรวจสอบป้องกันการทุจริต แต่หนังสือสั่งการนั้นไม่ได้ระบุขั้นตอนการตรวจสอบ รวมถึงไม่ได้ระบุให้ตรวจสอบบริษัท สยามอินดิก้า จำกัดแต่ไม่ทราบว่าสั่งการหน่วยงานอื่นตรวจสอบหรือไม่ แต่การดำเนินตามหนังสือสั่งการนั้นฝ่ายปฏิบัติ ติดตั้งตู้แดงไว้ที่คลังสินค้าที่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าวและมีสายตรวจเวียนกันตรวจสอบพื้นที่รอบนอกคลังสินค้า 24 ชั่วโมงหรืออย่างน้อยจะมีการตรวจสอบวันละ 6-7 รอบ รวมถึงสอบถามความผิดปกติจากชุมชนละแวกนั้นก่อนลงชื่อผู้ตรวจสอบในตู้แดง จนสามารถจับกุมผู้ที่กระทำผิดในโครงการรับจำนำข้าวได้ทั้งหมด 3 คดี คดีแรกเป็นการเคลื่อนย้ายข้าว 7,000 กระสอบไปไว้โกดังอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนคดีที่ 2 เป็นการนำข้าว 18,000 กระสอบ ออกจากโกดังซึ่งเป็นความผิดเพิ่มเติมจากคดีแรก ซึ่งเจ้าหน้าที่ยึดของกลางไว้ทั้งหมด โดยการสอบสวนไม่ทราบว่ามีการใช้คนและยานพาหนะในการขนย้ายเท่าใดแต่ยอมรับว่าไม่สามารถเคลื่อนย้ายหมดได้ภายในวันเดียว ส่วนคดีที่ 3 เป็นคดีลักทรัพย์ข้าวสาร 90,000 กระสอบ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม- 27 มิถุนายน 2557 คนร้ายนำนั่งร้านมาวางไว้ตรงกลางแล้วนำกระสอบข้าวสารล้อมไว้ด้านข้างกับด้านบนเพื่อปกปิด ซึ่งพบหลักฐานนั่งร้านนั้นถูกซื้อมาจาก หจก.ว่องพรชัย ทั้งหมด 800 ชุดและมีหลักฐานภาพวีดีโอกล้องวงจรปิดแต่ไม่สามารถยึดของกลางคืนได้ซึ่งรายละเอียดได้ทำบันทึกยืนยันต่อศาลแล้ว โดยคดีนี้ได้รับแจ้งและเข้าตรวจค้นโดยตำรวจ ทหาร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องแต่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนจากศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงพาณิชย์ที่มีการติดกล้องวงจรปิดเชื่อมโยงในศูนย์
ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าว พยานจำเลยปากสุดท้ายวันนี้ เบิกความว่า หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา สตง.มีหนังสือท้วงติงโครงการรับจำนำข้าวมาถึงรัฐบาล ขณะที่ ป.ป.ช.ก็มีหนังสือแนะนำอีกให้รัฐบาลยุติโครงการรับจำนำข้าว แต่รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ นำเรื่องไปปรึกษาข้อกฎหมายกับคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจกำหนดนโยบายของรัฐบาลได้ เพราะนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาจะมีผลผูกพันต่อรัฐสภา รัฐบาลจึงไม่สามารถยกเลิกโครงการได้ ซึ่งความเห็นดังกล่าวเป็นการตอบคำถามของรัฐบาลในที่ประชุมแต่ไม่มีการบันทึกไว้
ส่วนที่มีการตั้งกระทู้ถามเรื่องการระบายข้าวหลายครั้งในการอภิปรายในสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.ทุกครั้งแต่จำไม่ได้ว่ามีครั้งไหนบ้าง และในการประชุม น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ได้สั่งการให้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ขณะนั้นซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการระบายข้าว ดำเนินการตรวจสอบประเด็นที่มีการอภิปรายหากพบว่ามีความผิดก็ให้จับกุม อย่าไปหวาดกลัวกลุ่มอิทธิพล และรายงานต่อที่ประชุม ครม.ทุกครั้ง ส่วนที่ ป.ป.ช.มีหนังสือแจ้งรัฐบาลอีกครั้งให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใส บ.สยามอินดิก้าฯ ทราบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ , คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีภารกิจโดยตรงรับผิดชอบตรวจสอบ หลังสั่งการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยให้รายงานผลการตรวจสอบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ปล่อยปละละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ก็ตรวจสอบการทุจริตระบายข้าว และ ป.ป.ช.ก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนตรวจสอบทุจริตระบายข้าวควบคู่กันไป ส่วนตนไม่รู้จัก บ.สยามอินดิก้า และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง ขณะที่ผลการตรวจสอบนายบุญทรงได้รายงานในที่ประชุม ครม.ทางวาจาว่าไม่พบการทุจริต แต่หลังจากนั้นไม่นานคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. มีความเห็นว่าคดีมีมูล กระทั่งวันที่ 30 มิ.ย.56 น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีคำสั่งปลดนายบุญทรงออกจากตำแหน่งเนื่องจากมีข้อบกพร่อง หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดก็คงไม่ปลด
"ผมยึดหลักตรงๆ เรื่องนี้ชาวบ้านเขาชอบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ได้ข้าวมาก็เอาเงินไป รัฐบาลก็มองด้วยเจตนาดี ส่วนการเร่งระบายข้าวที่ค้างสต๊อก จำเลยไม่ได้สั่งการให้ผมรับผิดชอบ แต่ท่านสั่งให้ระวังการนำข้าวเข้ามาจากชายแดน และผมยังตั้งกองบัญชาการป้องกันตรวจสอบการทุจริตโครงการจำนำข้าว 11 กอง รวมถึงนครบาลด้วย เนื่องจากมีเขตพื้นที่ๆ ยังปลูกข้าวอยู่ โดยสามารถจับกุมดำเนินคดีได้ 251 คดี และหากพบการทุจริตในส่วนของการระบายข้าว ผมก็ต้องจับกุมมาดำเนินคดีให้หมด" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ภายหลัง ร.ต.อ.เฉลิม ได้ขออนุญาตศาลแถลงเพิ่มเติมว่า หลังจากมีการปฏิวัติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับอนุญาตจาก คสช. ให้เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศพร้อมบุตรชายเป็นเวลานาน ถ้าหากคนมีส่วนร่วมในการกระทำผิด ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต ไม่มีจิตสำนึก จะกลับมาหรือเมื่อศาลไต่สวนพยานจำเลยเสร็จสิ้นทั้ง 3 ปากแล้ว ได้นัดไต่สวนพยานจำเลยครั้งต่อไปในวันที่ 24 พ.ค.นี้ เวลา 09.30 น.

logoline