svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

แกนนำ นปช. ขอ ทุกฝ่ายยอมรับความผิดพลาด แนะหากไม่ "นิรโทษ-อภัยโทษ" ต้องหาวิธีเยียวยา

15 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แกนนำ นปช. ขอ ทุกฝ่ายยอมรับความผิดพลาด แนะหากไม่ "นิรโทษ-อภัยโทษ" ต้องหาวิธีเยียวยาเหยื่อการเมือง ตอบรับถกรอบสอง คณะเล็ก ลั่นไม่ปลุกม็อบกดดัน หากไม่ทำตามข้อเสนอ


เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ด้านข้างกระทรวงกลาโหม โดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวภายหลังการเสนอความคิดเห็นแนวทางปรองดอง ต่อพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ว่า การนำเสนอแนวคิดการปรองดองครั้งนี้พวกเราได้นำเสนออย่างตรงไปตรงมาว่าให้ทุกฝ่ายยอมรับถึงความผิดพลาด
ซึ่ง นปช.ไม่ได้กระทำการทุกอย่างถูกต้องไปหมด พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง แม้แต่กองทัพก็ตามต่างมีส่วนถูกส่วนผิดกับสถานการณ์ของการบ้านเมืองทั้งสิ้น และเราเป็นองค์กรที่มีคนตาย และบาดเจ็บมากที่สุด สูญสิ้นอิสรภาพได้รับการปฏิบัติอย่าง อยุติธรรมมากที่สุด แต่พวกเราก็ยินดีเข้าสู่กระบวนการปรองดอง
นายจตุพร กล่าวว่า ตนได้แจ้งไปยัง พล.อ.ชัยชาญว่า ในอดีตเราได้กรรมการที่เป็นกลางมากมาย บางคนดีตอนต้นเสียตอนปลาย แต่ผลลัพธ์สุดท้ายคือความล้มเหลว แต่ครั้งนี้เหมือนกับการเปิดไฮโลแทง คือผู้ที่มารับฟังความเห็นก็มีความชัดเจน และเราก็แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เพราะไม่ได้ต้องการว่าเข้ามาแสดงความคิดเห็นแล้วมองเป็นเรื่องมาประนามว่ากล่าวกัน หรือสรรเสริญยกย่อ แต่เรานำเสนอในทุกคำถามเพื่อจะร่วมหาทางออกให้กับประเทศ เพราะปลายทางเรายังมองเห็นวิกฤตกันอยู่ แม้จะไม่มีปรองดอง แต่ถึงเวลาตามโรดแมปหรือเลยกำหนดโรดแมปก็ตามก็ต้องเกิดปัญหาตามกลไกรัฐธรรมนูญอยู่ดี ไม่ว่าจะนายกฯคนนอกหรือคนในก็ตาม การเลือกตั้งก็จะเริ่มปัญหา ถ้าบ้านเมืองยังไม่ตกลงกันชัดเจนว่าเราจะเดินหน้ากันอย่างไร
เพราะฉะนั้นการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้จะไม่มีเรื่องการนิรโทษกรรมและอภัยโทษ ตามที่นายกฯได้เคยพูดไว้ว่าการอภัยโทษนั้นเป็นพระราชอำนาจไม่ใช่เป็นอำนาจของคสช.หรือรัฐบาล ด้านนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า นปช.มาร่วมปรองดอง ไม่ได้มาในฐานะเหตุความขัดแย้ง แต่เราเป็นคนกลุ่มหนึ่งเป็นผลความขัดแย้งหลักในสังคมไทยที่มีต่อเนื่องหลายสิบปี นั่นคือ แนวคิดอนุรักษ์นิยม กับเสรีนิยม ซึ่งขยายตัวไปจนถึงระดับครัวเรือน เนื่องจากพลวัตทางสังคม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร จนเกิดกลุ่มการเมืองสนับสนุน2 แนวคิดดังกล่าว เผชิญหน้ากัน ทั้งนี้ นปช. ไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งให้ความร่วมมือการสร้างความปรองดองด้วย ส่วนทางพล.อ.ชัยชาญ ระบุว่าหลังจากการรับฟังความเห็นรอบแรกจบจะมีการรับฟังความคิดเห็นรอบที่2 โดยจะเชิญแต่ละกลุ่มเข้าร่วมเป็นคณะเล็ก เพื่อพิจารณาข้อสรุปต่อไป โดยนปช.ตอบรับเข้าร่วมมือ จนจบกระบวนการ

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ นปช. เรียกร้องหลักนิติธรรมในการดำเนินการทุกฝ่าย ว่าคดีที่เกิดขึ้นตลอด10 ปีที่ผ่านมา คดีระหว่างนี้ และอนาคต เราพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดีจนถึงที่สุด แต่นปช.อยากเห็นความยุติธรรมอย่างแท้จริง ไม่เลือกข้าง ไม่เลือกปฏิบัติ อีกทั้งฝ่ายผู้มีอำนาจจำเป็นต้องพิจารณาชะตากรรมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งคดีความ ความเสียหายชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงการเสียโอกาสความก้าวหน้าในการงานด้วย
ขณะเดียวกันเมื่อการปรองดองเมื่อไม่เริ่มต้นที่นิรโทษกรรม และอภัยโทษ ทางนปช. จึงฝากบอกไปว่าพวกท่านต้องมีวิธีการที่จะรับผิดชอบ เยียวยา บรรเทาความเจ็บปวดต่อประชาชนทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองด้วย
"เราเรียกร้องหลักประกันความขัดแย้งในอนาคต หากการปรองดองเดินหน้าไปได้ก็ยังสุ่มเสี่ยงอยู่ดี อนาคตข้างหน้าจะมีความขัดแย้งได้ ผมเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ร่างโดยอำนาจอธิปไตยของประชาชน และประชาชนมีส่วนร่วม พร้อมทั้งทำประชามติภายใต้บรรยากาศที่มีเสรีภาพสมบูรณ์" นายณัฐวุฒิ กล่าว
และว่า นปช. ยังได้เสนอให้ยกเลิกประกาศ คำสั่ง ระเบียบ ของคณะรัฐประหาร เพื่อสร้างหลักประกันสิทธิเสรีภาพ ส่วนจะยกเลิกอย่างไรก็ถือเป็นดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการฯจะพิจารณา ทั้งนี้ข้อเสนอข้างต้นยังรวมถึงมาตรา 44 ทุกชุดที่ยังคงมีผลในขณะนี้ ที่อาจเป็นอุปสรรคสร้างความปรองดองด้วย
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า เราเรียกร้อง ปยป. และรัฐบาล ไม่ได้มีหน้าที่รับฟัง สรุป ประมวลความคิดเห็นเท่านั้น แต่ต้องทำหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นต่อกันทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพราะสถานการณ์ตอนนี้ความเชื่อมั่น และความไว้ใจต่อกันเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งตนมาวันนี้ เพราะพร้อมให้ความร่วมมือสร้างความปรองดอง และปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามาด้วยความไว้วางใจต่อกระบวนการดังกล่าว หากไม่ไว้วางใจคงสนทนาโต๊ะกลมแบบนี้ไม่ได้หรอก 2-3 ชั่วโมง
"สุดท้ายเราบอก คณะอนุกรรมการฯไปว่าเราไม่ได้คาดคั้น กดดัน ให้ต้องปฏิบัติทุกเรื่อง ทุกอย่าง หากไม่ปฏิบัติตามจะมีปฏิกิริยา เผชิญหน้ากัน ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น แต่เราเข้าใจว่าการปรองดองไม่มีทุกฝ่ายได้หมด และไม่มีทุกฝ่ายเสียหมด เราขอเพียงพื้นที่พูดความจริงเท่านั้น ส่วนกระบวนการจากนี้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล และปยป. ที่จะพิจารณา สรุปข้อคิดเห็นต่อไป ส่วนออกมาแล้วสังคมจะยอมรับได้หรือไม่ ปรองดองจริงหรือไม่ เราคงจะพิจารณากันอีกที" นายณัฐวุฒิ กล่าว

logoline