svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กรธ.ถกร่าง พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญานักการเมือง เอาผิดนักการเมืองโกง "รวดเร็ว เฉียบขาด"

01 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรธ.จัดสัมมนาระดมความเห็น ร่างพ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญานักการเมือง "มีชัย" แนะตอบโจทย์ 3 ข้อ หวังเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วจัดการนักการเมืองทุจริต


       1 มี.ค. -- คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดเวลาสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาและจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ  (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. โดยมีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความเห็นใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย ระบบไต่สวนในคดีทุจริต การนับอายุความในกรณีที่จำเลยหลบหนี การฟ้องและการพิจารณาคดีโดยไม่มีจำเลย จำนวนผู้พิพากษาในองค์คณะและผู้พิพากษาสำรอง  การทำความเห็นส่วนตัวของผู้พิพากษาก่อนทำคำพิพากษา
            นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรธ. กล่าวเปิดสัมมนา ว่า  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเกิดขึ้นจากความมุ่งหมายที่ต้องการให้การดำเนินคดีทุจริตกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เฉียบขาด เพราะหากล่าช้าจะเกิดความเสียหาย ประชาชนไม่รู้สึกถึงผลที่จะเห็นทันตาในวันที่ทำผิดไม่สุจริตต่อหน้าที่ จึงสร้างมาศาลเดียวเพื่อให้จบตั้งแต่ปี 2540 ต่อมามีการเรียกร้องให้มีการอุทธรณ์ได้เพื่อให้มีการกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง ในร่างรัฐธรรมนูญจึงสร้างขั้นตอนการอุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายได้เพื่อให้สิ้นสงสัย แต่ต้องรักษาความรวดเร็ว เพื่อให้เห็นผลทันตาไว้
            นายมีชัย กล่าวว่า ปัญหาของความรวดเร็วนี้มีในกลไกที่ใช้อยู่คือระบบไต่สวนมากกว่าการกล่าวหา แต่ต้องยอมรับว่าระบบยุติธรรมในไทยเคยชินต่อระบบการกล่าวหามานาน เมื่อเริ่มใช้ระบบไต่สวนก็ไม่ค่อยชิน จึงวนกลับมาที่ระบบการกล่าวหา คำนึงถึงเรื่องเทคนิคการสู้คดีมากกว่าการหาความจริงให้ปรากฏ กรธ.จึงพยายามตัดเรื่องเทคนิคออกให้ศาลไต่สวนได้อย่างเป็นธรรมโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเทคนิค และจะนำแนวทางนี้ไปใช้กับศาลรัฐธรรมนูญด้วย โดยกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญอาจไปไกลกว่าของศาลฎีกาฯเนื่องจากเป็นเรื่องทีเกี่ยวกับความถูกต้องของบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องที่จะต่อสู้แพ้ชนะในทางเทคนิค
            นายมีชัย กล่าวด้วยว่า กรธ.อยากฟังความเห็นในสามประเด็นคือ 1. ให้กระบวนการเป็นไปด้วยความรวดเร็วคงความเป็นธรรม 2. อำนาจศาลฎีกาฯครอบคลุมถึงตัวการผู้ใช้ผู้สนับสนุนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินคดีมีปัญหาเพราะผู้ที่เป็นตัวการทุจริตจริง ๆ มักจะไม่อยู่ทำให้มีการจำหน่ายคดี  ผู้สนับสนุนหรือผู้กระทำผิดรายเล็กรายน้อยก็จะถูกดำเนินคดีแทน เป็นไปได้ไหมจะแยกส่วนนี้ออกเพื่อให้ต่อสู้ได้ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ และ 3 เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมควรเดินหน้าต่อให้สิ้นกระแสความ คือให้พิจารณาลับหลังจำเลยได้แม้ว่าเจ้าตัวไม่อยู่ก็ตาม โดยให้สามารถตั้งทนายมาต่อสู้คดีได้เต็มที่  ซึ่งไม่ได้ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่เป็นธรรม เนื่องจากการพิจารณาคดีปกติจำเลยก็มอบหมายทนายความเป็นผู้ต่อสู้คดีอยู่แล้ว
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  สำหรับเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ศาลฎีกาส่งให้กรธ.ประกอบพิจารณา มีทั้งหมด 71 มาตรา โดยเนื้อหาเปลี่ยนแปลงไปจากกฎหมายฉบับเดิมที่น่าสนใจอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ 1.มาตรา 31 ที่ระบุว่า เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้วห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องเว้นแต่จะได้ความว่าหากไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องจะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม
        2.มาตรา 33 การกำหนดให้ไม่นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีมาเป็นส่วนหนึ่งของอายุความและในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีในระหว่างนั้นไม่ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ
         3.การอุทธรณ์คำพิพากษาซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญในร่างกฎหมายนี้ได้ระบุวิธีการอุทธรณ์ไว้ในมาตรา 62 และ 63 ว่าให้ดำเนินการได้ภายในสามสิบวันนับแต่มีคำพิพากษาของศาลแต่จะอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อจำเลยมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานของศาลเท่านั้น มิเช่นนั้นศาลจะไม่รับอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม บทเฉพาะกาลบัญญัติให้วิธีการและกระบวนการอุทธรณ์คดีตามที่ร่างพ.ร.บ.ฯกำหนดนั้นยังไม่ใช้บังคับกับบรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไปก่อนวันที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ

logoline