svasdssvasds
เนชั่นทีวี

บันเทิง

ดาวคะนอง ความท้าทายใหม่ๆ ของหนังไทยในภาวะซบเซา

30 ธันวาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ช่วงนี้ยังมีหนังเล็กๆ ที่ยืนโรงฉายอยู่เงียบๆ บนถนนอาร์ซีเอ ย่านที่คราคร่ำไปด้วยเสียงอึกทึกครึกโครมของสถานบันเทิงที่ปลายถนนมีโรงหนังขนาดย่อมชื่อว่า เฮ้าส์ รามา ฉายหนังดีๆ ให้ดูกันมาร่วมสิบกว่าปีแล้ว

ไม่ว่ารายได้หนังไทยหลายเรื่องปีนี้จะต่ำเตี้ยเรี่ยดิน และหนังที่กำลังยืนโปรแกรมหลายเรื่องขณะนี้ตกอยู่ในสภาพลมหายใจรวยริน (โดยหนังที่หลายคนรอให้ขี่ม้าขาวมาปลุกกระแสคึกคักรับสิ้นปีก็คือ "จำเนียรวิเวียนโตมร" คงต้องรอผลหลังปีใหม่ไปแล้ว ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่)
หนังเรื่อง "ดาวคะนอง" ฉายที่เฮ้าส์ วันละสองรอบบ่าย-ค่ำ (แต่หลังวันที่ 28 ธ.ค. เหลือรอบเดียวคือ 14.10 น.) รอบค่ำเมื่อต้นสัปดาห์ผมดูพร้อมกับผู้ชมท่านอื่น ที่คาดคะเนโดยสายตาแล้วไม่น่าจะเกิน 15 คน แต่ไม่น่าเชื่อว่าผู้ชมในโรงทั้งหมดรวมทั้งเหมือนถูกตรึงอยู่กับเก้าอี้ เพราะไม่มีใครลุกออกจากโรงเลยจนกระทั่งเอนด์เครดิตบรรทัดสุดท้ายเคลื่อนไหลหายไป ทิ้งไว้แต่ความมืดดำบนจอ

ดาวคะนอง
ความท้าทายใหม่ๆ ของหนังไทยในภาวะซบเซา


หลังออกจากโรงแยกย้ายกันไปไม่รู้ว่าผู้ชมแต่ละคนรู้สึกอย่างไร ชอบ ไม่ชอบ แต่อย่างน้อยผมและผู้ชมอีกสิบกว่าชีวิตในโรงเฮ้าส์น่าจะมีเหมือนกันอย่างหนึ่งคือความรู้สึกร่วมอะไรบางอย่าง ซึ่งคำว่า ความรู้สึกร่วม ที่ว่านี้ อาจจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน แต่อย่างน้อยหนังดึงเราเข้าไปอยู่ในโลกของมันเต็มสองชั่วโมง เป็นโลกที่ไม่แน่ใจว่าชอบมันหรือเปล่าหรือเข้าใจมันสักเท่าไหร่
แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ มันทำให้เราตกอยู่ในภวังค์ไปอีกอย่างน้อยหนึ่งหรือสองชั่วโมง กว่าจะสลัดความรู้สึกพรั่งพรู ทั้งคำถาม ความงุนงงสงสัย หรือคิดถึงสิ่งที่ตัวละครกระทำ บทสนทาของพวกเขา รวมถึงบรรยากาศที่ห่อหุ้มรายล้อมเรื่องราวทั้งหมดออกไปได้

ดาวคะนอง
ความท้าทายใหม่ๆ ของหนังไทยในภาวะซบเซา

นี่คือหนังที่ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาวิพากษ์สังคม ตั้งคำถามต่อประวัติศาสตร์หรือสะท้อนสอนสั่งศิลธรรมใดใด เอาเข้าจริง "ดาวคะนอง" เป็นงานในเชิง existentialism (อัตถิภาวะนิยม) ด้วยซ้ำ เมื่อคุณใหม่ อโนชา สุวิชากรพงศ์ ในฐานะผู้กำกับ-เขียนบท สนใจหรือมีความรู้สึกต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เธอก็ลงมือเล่า หรือเลือกเล่า ในฐานะคนทำหนัง คนหนุ่มสาวร่วมสมัย ด้วยกลวิธีต่างๆนาๆ ทั้งการตั้งคำถามตรงๆกับผู้อยู่ในเหตุการณ์ การจำลองภาพความรุนแรงเหล่านั้นขึ้นมาจากความทรงจำหรือการรับรู้ในมุมของเธอ
แน่นอนว่า เธอคงกิดไม่ทัน หรือโตพอจะรับรู้เรื่องราวในช่วงวลานั้นได้ถ่องแท้ แต่การกลับไปศึกษาย้อนหลัง หรืออาจมีความพยายามถอดบทเรียนซึ่งอาจจะล้มเหลว หรืออาจนำมาสู่การมองโลกและสังคมในอักมุม (ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ เชื่อว่า ผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านที่ผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้นก็น่าจะยังทำได้ไม่สำเร็จเหมือนกัน)

ดาวคะนอง
ความท้าทายใหม่ๆ ของหนังไทยในภาวะซบเซา


จะว่าไปเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ยังไม่ถูกชำระ เหมือน 14 ตุลา 2516 หรือพฤษภาทมิฬ 2535 คนรุ่นหลังอาจจะยังค้างคาใจว่า เหตุผลกลใดหรืออำนาจใด ที่สามารถยุยงปลุกปั่นให้คนลุกมาฆ่ากันโดยเหยื่อคือนักศึกษาปัญญาชน มองในมุมประวัติศาสตร์อโนชา เธอเชิญผู้อยู่ในเหตุการณ์มาพูดคุยอรรถาธิบายเรื่องครั้งนั้นให้ฟัง ผ่านตัวละครพี แต้ว ที่สัมภาษณ์โดยผู้กำกับหญิงชื่อแอน ตัวละครทั้งสองน่าจะเป็นตัวแทนคนสองยุคสองสถานะอย่างชัดเจน เมื่อพี่แต้ว รับบทโดย อ.รัศมี เผ่าเหลืองทอง นักการละครที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นคนเดือนตุลาตัวจริง
ในขณะที่แอน รับบทโดย วริศรา วิจิตรวาทการ ตัวจริงของเธอคือผู้กำกับหนังอิสระ เจ้าของหนังกึ่งสารคดีสาวคาราโอเกะ อันลือลั่นเมื่อหลายปีก่อน อีกทั้งยังมีผลงานหนังสั้นระดับรางวัลหลายเรื่อง ซึ่งมีสถานะคล้ายเคียงกับ ใหม่ อโณชา หนังทั้งจำลอง 6 ตุลา ควบคู่ไปกับการบอกเล่าผ่านปากคำพี่แต้ว ที่ก็ไม่ได้ใจความสาระสำคัญอะไรซักเท่าใดนัก
ทั้งนี้ก็เพราะเหตุการณ์ 6 ตุลา อาจไม่ใช่หัวใจสำคัญของเรื่องราวทั้งหมด...ระหว่างที่สองสาวผู้กำกับและคนเดือนตุลา ทำความรู้จักมักคุ้นกันเรื่อยๆ มีตัวละครเด็กร้านกาแฟที่เธอไปทานข้าวโผล่ขึ้นมา ดูเผินๆแรกๆก็แค่เป็นเด็กเสิร์ฟช่างพูด แต่คำพูดก็ทำเอาผู้กำกับสะอีกไปเหมือนกันเมื่อเธอบอกว่า "พี่จะเขียนบทหนังชีวประวัติพี่เค้าทำไม ในเมื่อพี่เค้าเป็นนักเขียน เค้าก็น่าจะเขียนเรื่องตัวเองได้ดีกว่าไม่ใช่เหรอคะ"
ประเด็นเรื่องของชนชั้น น่าจะเป็นอีกหนึ่งแมสเสจ ที่ใหม่ อโณชา อยากจะเล่าออกมาควบคู่ขนานกัน เพราะหลังจากนั้นหนังก็ให้น้ำหนักไปที่การทำงานในไร่ในสวนของสาวน้อยคนดังกล่าว จนเมื่อหนังเริ่มกลับขั้วมาเล่าอีกด้าน สถานะแม่บ้าน เด็กรับใช้ของเธอก็เปลี่ยนไปตามสภาพสังคม อย่างที่บอกไปว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา อาจจะไม่ใช่สาระสำคัญทั้งหมดในหนัง ครั้นพอเรื่องราวดำเนินมาถึงกลางเรื่อง ตัวละครพี่แต้วก็เปลี่ยนไป กลายมาเป็นนักแสดงสาวใหญ่ เพ็ญพักตร์ ศิริกุล มารับบทแทน เช่นเดียวกับผู้กำกับแอน ครั้งนี้เป็นหน้าที่ของ ทราย เจริญปุระเพ็ญพักตร์ อาจจะไม่ใช่คนเดือนตุลาในทางเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2516 ทว่าเธอก็เป็นคนร่วมยุคร่วมสมัย ในฐานะนางแบบ นักแสดงที่แจ้งเกิดในวงการหนังไทยยุค 70s (ปี 2519 เพ็ญพักตร์คว้าตำแหน่งนางงามตุ๊กตาทอง จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงเพื่อเฟ้นหาหญิงสาวหน้าใหม่เข้ามาทำงานในวงการบันเทิง) ยุคที่การเมืองร้อนแรง แต่วงการหนังไทยเต็มไปด้วยหนังบู๊แหลกราญ หรือไม่ก็หนังวาบหวิวขายฉากวาบหวามของนักแสดงชายหญิง และเพ็ญพักตร์ถือเป็นเซ็กซี่สตาร์ในวงการหนังไทยช่วงนั้น
ในขณะที่ ทราย เจริญปุระ สถาะผู้กำกับของเธออาจจะไม่โดดเด่นนัก แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในนักแสดงหญิงกลุ่มเฟมินิสต์หัวก้าวหน้าคนหนึ่ง เธอยังมีความสามารถด้านงานเขียน และพิธีรายการวิเคราะห์ข่าวและสถานการณ์บ้านเมืองในรายการดิว่าคาเฟ่ ทางช่องวอยซ์ทีวีมาแล้ว...
เรื่องราว 6 ตุลา ผ่านตัวละครชุดที่สองจึงเบาบาง จนแทบไม่มีเนื้อหาสาระใดใด นอกจากบทสนทนาไม่กี่คำ ตามด้วยการล้มตัวลงนอนของพี่แต้วอย่างเหนื่อยล้าอ่อนแรง
ใหม่ อโณชา หันไปให้ความสำคัญกับตัวละครอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแอน ผู้กำกับหญิงอีกคน ปีเตอร์นักแสดงหนุ่มที่กำลังมาแรง แต่เธอก็ไม่เคยทอดทิ้งตัวละครสาวใช้ตัวน้อยของเธอเลย แม่บ้านที่ยังคอยเก็บกวาด ทำความสะอาดต่อไป จากงานในท้องไร่ มาเป็นงานในตึกสูงหรูหรา

ดาวคะนอง
ความท้าทายใหม่ๆ ของหนังไทยในภาวะซบเซา


รวมถึงสาวเสิร์ฟบนเรือสำราญที่เบื้องหลังต้องคอยเก็บกวาดเศษอาหารกองโต คนอย่างสาวใช้ไม่มีโอกาสตั้งคำถาม หรือใส่ใจกับเหตการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีต นอกจากก้มหน้าก้มตาทำงานไปในฐานะชนชั้นแรงงาน(ครั้งเดียวที่เธอมีโอกาสตั้งคำถามและแสดงความเห็นคือฉากร้านกาแฟต้นเรื่อง) อาจจะมีความสำคัญเพียงแค่เห็ด เชื้อราที่เติบโตบ่มเพาะมาจากหมู่พันธุ์ไม้ (ใหม่ อโณชา เปรียบเทียบฉากดังกล่าวได้ดีทีเดียว เมื่อเธอแสดงความคารวะต่อบิดาแห่งภาพยนตร์ จอร์จ เมลิเยร์ ด้วยการนำฉากจากหนัง A Trip to the Moon มาใช้ในหนัง เพื่อแสดงนัยว่า เธอเองก็เป็นเห็ดในวงการภาพยนตร์ ผู้กำกับหญิงตัวเล็กๆที่บ่มเพาะเติบโตมาจากโลกภาพยนตร์)
ครึ่งเรื่องหลัง หนังก็แทบไม่แตะต้องเหตุการณ์ 6 ตุลาอีกเลย นอกจากการให้ภาพสังคมร่วมสมัยที่คนหนุ่มสาวเมามายไปกับการดื่มกิน(ฉากร้านอาหารของเป้ อารักษ์, เรือสำราญ) ลัทธิความเชื่อบางอย่าง(แม่ชีน้อยเปิดทีวีดูช่องธรรมกาย) และความฟุ้งเฟ้อไร้แก่นสารของผู้ใหญ่บางคน (ม่านไฟกทม.) โดยเฉพาะช่วง 5 นาทีสุดท้าย การตัดต่อแบบ Montage ชุดใหญ่ก็น่าจะบอกเราได้กลายๆว่า จาก 6 ตุลา มาถึงวันนี้ พวกเราผิดเพี้ยน บิดเบี้ยว แปลกปลอม และเหินห่างกันไปขนาดไหน
"ดาวตะนอง" อาจจะเป็นงาน Existentialism ด้วยมุมมองของผู้หญิงคนนึง ที่เรารู้สึกเห็นด้วยไปกับเธอ แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม แต่สำคัญกว่าคือเธอได้มอบความท้าทายใหม่ๆแก่เรา และแก่วงการหนังไทยในรอบหลายปี เป็นหนังที่จะเข้าถึงอรรถรสนั้น ก็คงแล้วแต่ประสบการณ์ของคนดูแต่ละคนด้วยเช่นกัน แต่มันก็เป็นเรื่องน่าลองทีเดียว ท่ามกลางความน่าเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้

logoline