svasdssvasds
เนชั่นทีวี

บันเทิง

หนังไทย ยังไงดี

16 ธันวาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหนังอิสระเข้าฉายพร้อมกันสองเรื่อง คือ "ปั๊มน้ำมัม" และ "ดาวคะนอง" เป็นที่รู้กันดีว่า หนังจากผู้สร้างอิสระทีไม่ได้ผ่านการจัดจำหน่ายหรือดูแลการผลิตอย่างรอบด้านทั้งการตลาด ประชาสัมพันธ์ มีการวิเคราะห์วิจัย ศึกษาฐานคนดู มีศักยภาพในการต่อรองหรือจัดสรรส่วนแบ่งโรงฉายอย่างเหมาะสม ตลอดจน สร้างกลยุทธ์ วางหมากทางธุรกิจหาจุดแข็งให้กับหนังเพื่อหวังผลเชิงพาณิชย์โดยสตูดิโอผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งมีไม่กี่รายในเมืองไทย อาทิ GDH สหมงคลฟิล์ม ไฟว์สตาร์ เอ็ม๓๙ ทรานฟอร์เมชั่นฟิล์ม ฯ

ซึ่งแน่นอนว่า การที่ผู้สร้างอิสระจะพาหนังตัวเองไปสู่จุดนั้นต้องใช้งบประมาณระดับหนึ่ง เผลอๆ จำนวนเงินที่ลงไปอาจจะใช้ทำหนังได้อีกเรื่องเลยทีดียว และที่สำคัญหนังจากผู้สร้างอิสระเหล่านั้น ถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยมุมมองทางศิลปะ ตลอดจนสอดแทรกทัศนะคติความคิดเห็นส่วนตัวลงไปค่อนข้างสูง ดังนั้นคนทำหนังอิสระจึงประมาณการถึงรายได้และผลตอบรับกลับมาอย่างพอเพียง อาจแค่พ้นจุดคุ้มทุน หาได้หวังกำไรมากมาย เพราะเกือบทุกราย น่าจะรู้จักตลาดและกลุ่มคนดูของตัวเองดีพอ ขอแค่พาหนังไปหาคนดูในพื้นที่ไม่กี่แห่ง โรงฉายไม่มาก อาจจะใกล้สถาบันการศึกษาหรือย่านธุรกิจ ที่ซึ่งนักดูหนังเดินทางมาได้สะดวก และจัดรอบฉายอย่างเหมาะสมก็น่าจะพออกพอใจแล้ว

หนังไทย ยังไงดี

หนังไทย ยังไงดี

ทว่าการณ์กลับเป็นเช่นนั้นไม่ แม้"ดาวคะนอง" และ "ปั๊มน้ำมัน" จะอยู่ในฐานะหนังทางเลือก แต่ทั้งสองเรื่องก็ได้โรงฉายและจำนวนรอบที่เหมาะสม "ดาวคะนอง"เข้าฉายที่ เอสเอฟเวิลด์ เซ็นทรัลเวิลด์สองรอบ ลิโด้ เฮ้าส์อาร์ซีเอ และแบงคอคสกรีนนิ่งรูม โรงฉายหนังอาร์ตเฮ้าส์และหนังทางเลือกขนาดย่อมย่านสาทร อีกโรงละหนึ่งรอบ ขณะที่ "ปั๊มน้ำมัน" ทำการตลาดและวางแผนประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบแม้จะผ่านบริษัทพีอาร์เล็กๆ ก็สามารถต่อรองขอโรงฉายได้ค่อนข้าางครอบคลุม ตั้งแต่ย่านดาวน์ทาวน์ยันชานเมืองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมจังหวัดแถบภาคอีสานในบางสาขา ปรากฎว่ารายได้หนังเปิดตัวฉายวันแรก ค่อนข้างต่ำอย่างน่าตกใต "ปั๊มน้ำมัน" ทำเงินไปเพียง 9,000 บาท จากการเข้าฉายวันแรก 8 ธันวาคม ส่วนรายได้ของ "ดาวคะนอง" ในวันเดียวกัน ก็เก็บไปได้เพียง 20,000 บาท โดยการเข้าฉายระหว่างสัปดาห์หนังก็ถูกลดรอบ ลดจำนวนโรงฉายไปอีก แม้จะมีกระแสชื่นชมถึงความยอดเยี่ยมของหนังทั้งสองเรื่องผ่านโซเชียลมีเดียมากมายเพียงใดก็ตาม
เพราะสถานะของหนังนอกกระแส หนังทางเลือก ของทั้งคู่คนดูจึงหมางเมินก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่หนังไทยฟอร์มดีที่เข้าฉายในเวลาก่อนหน้านั้นไม่นานอย่าง "20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น" ซึ่งรีเมคมากจาหนังเกาหลี ที่เปี่ยมด้วยความบันเทิงอย่างครบรสก็ทำรายได้ไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจนัก ทำเงินไปได้เพียงยี่สิบกว่าล้าน ทั้งที่ค่ายหนังน้องใหม่ร่วมทุนอย่างซีเจ เมเจอร์ ตั้งเป้าไว้ถึง 150 ล้าน เช่นเดียวกับ "พรจากฟ้า" ค่าย GDH ที่มีแฟนหนังกลุ่มใหญ่คอยให้การอดุดหนุนก็ทำรายได้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับผลงานก่อนหน้านี้ (ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะค่าตั๋วที่ถูกกว่าทั่วไปถึงสองเท่า ในการถวายรายได้เป็นพระราชกุศล 99 บาท ทุกที่นั่ง)

หนังไทย ยังไงดี


หากจะตีขลุมเหมารวมว่าโดนหนังฮอลีวู้ดแย่งตลาดไปจนหมด ก็อาจไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง เพราะหนังแฟรนไชส์ฟอร์มยักษ์อย่าง "Under World Blood Wars" ที่เข้าฉายพร้อม "ดาวคะนอง" และ "ปั๊มน้ำมัน" ก็ยังทำรายได้ตลอดสุดสัปดาห์ไปแค่สามสิบกว่าล้าน ทั้งๆที่หน้าหนังอลังการ บู๊ล้างผลาญขนาดนี้น่าจะเก็บได้มากกว่า 50 ล้านเป็นอย่างต่ำ และมองหนังทั้งตารางที่เข้าฉายในบ้านเรา ตลอดทั้งเดือน มีเพียง แอนิเมชั่น "Moana" จากค่ายดิสนีย์และ "Your Name" จากญี่ปุ่นที่ทำรายได้เกินสามสิบล้าน ไม่นับรวม "Fantastic Beasts and Where to Find Them" ที่กวาดไปร่วมๆ 150 ล้านบาทอยู่รอมร่อ ที่เหลือเทำรายได้ต่ำกว่าสิบล้านกันทั้นั้น
มองอย่างผิวเผินจากภาพรวม ที่ตลาดหนังบ้านเราตกต่ำ ก็พอวิเคราะห์ได้คร่าวๆว่าน่าจะมาจากปัญหาเศรษฐกิจ เงินสองร้อยในมือหากอยากจะเลือกดูหนังสักเรื่อง คงคิดแล้วคิดอีก วิธีตัดสินใจง่ายๆก็คือหนังที่มันลงทุนอลังการงานสร้าง มีฉากแอ็คชั่นเมามัน ยิงกันล้างผลาญเลือดเดือด เป็นตัวลือกแรกที่จะตัดสินใจเดินเข้าโรงหนัง คนทำหนังเองก็ร่วมกันคิดหาทางออก ตั้งแต่ต่อรองขอยืนโรงฉายไปสัก 1-2 สัปดาห์ ถ้ากระแสไม่ดีก็ค่อยลดรอบลดโรง บ้างก็พยายามหาพื้นที่ฉายใหม่ๆนอกไปจากเอสเอฟหรือเมเจอร์ ตอนนี้เท่าที่เห็น ลิโด้ กับเฮ้าส์ อาร์ซีเอ คือทางออกระดับหนึ่งรวมถึงแบงคอคสกรีนนิ่งรูม ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ต้องดูกันไประยะหนึ่ง
ที่สำคัญคนทำอย่าโทษคนดู ว่าดูหนังไม่เป็น อย่าตีโพยตีพายว่าทำไมทำหนังดีๆออกมาถึงไม่ยอมไปดูกัน มันมีปัจจัยหลายอย่างเป็นส่วนประกอบ และอีกอย่างเราโดนวัฒนธรรมฮอลีวู้ดกลืนกินไปแล้ว

หนังไทย ยังไงดี


แล้วคนทำหนังไทยจะดิ้นรนกันอย่างไรเพื่อให้อยู่รอด ทั้งคนทำหนังเพื่อยังชีพ(ตอนนี้ผู้กำกับหนังและทีมงานหลายหนีไปทำละคร ทำซีรี่ส์กันหมดแล้ว) และคนทำหนังที่พยายามยกสถานะให้เป็นงานที่ผสมผสานความเป็นศิลปะมากขึ้น หนทางเดียวที่พอมองเห็นคือการช่วยเหลือจากภาครัฐ เมื่อหลายปีก่อนรัฐบาลเกาลีใต้เจรจากับอเมริกันในยุคบิล คลินตันเป็นประธานาธิบดี หนึ่งในข้อตกลงทางการค้า(FTA)ที่ทั้งคู่มีเดียวกันคือลดระบบโควต้าซิสเท็ม ให้หนังฮอลีวู้ดมีรอบฉายมากขึ้โดยลดสัดส่วนหนังเกาหลีลง ซึ่งเดิมเป็นข้อกฎหมายที่บังคับใช้กันในธุรกิจหนังว่า หนังท้องถิ่นต้องยืนโรงฉายอย่างน้อยหนึ่งเดือนขึ้นไป

หนังไทย ยังไงดี


เจอแบบนี้คนในอุตสาหกรรมหนังเกาหลีออกมาประท้วงกันยกใหญ่ จนต้องล้มเลิกข้อตกลงนี้ไปนี่คือความแข็งแรงจากการรวมใจของคนในวงการหนังและความช่วยเหลือจากรัฐ ที่มุ่งมั่นใส่ใจ ปั้นให้เป็นอุตสาหกรรมของประเทศที่เติบโตอย่างยั่งยืน

logoline