svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แพทย์ เผย ข้อมูลออนไลน์ไม่จริง "ไข้หวัดใหญ่"ไม่ได้ระบาดหนักเหมือนปี 52

26 ตุลาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

26ตุลาคม 2559-แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผยไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ระบาดหนักเหมือนปี 52 ยังไม่มีการกลายพันธุ์ ข้อมูลออนไลน์ไม่จริง แนะกินร้อนช้อนกลางล้างมือป้องกันโรค สธ.รายงานปี 59 พบผู้ป่วยแล้วกว่า 1 แสนราย ตาย 22 ราย

       ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่มีการส่งต่อข้อความผ่านโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ว่าจะมีการระบาดใหญ่เหมือนปี 2009 หรือพ.ศ.2552ว่า ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ไข้หวัดใหญ่ จะระบาดตามฤดูกาลในฤดูฝน ในปีนี้การระบาดช้ากว่าทุกปีมีช่วงสูงสุดเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2559และสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย จะเป็น สายพันธุ์ เอ มากกว่า สายพันธุ์บีอย่างมาก โดยสายพันธุ์ เอ ที่พบจะเป็นชนิด เอช3เอ็น2 (H3N2) สายพันธุ์ฮ่องกง และ สายพันธุ์ บี จะเป็นวิคทอเรีย( Victoria) อีกทั้ง สายพันธุ์ที่ระบาดก็มีอยู่ในวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ว่าวัคซีนจะเป็นแบบ 3 หรือ 4 สายพันธุ์

       "จากการตรวจรหัสพันธุกรรม ที่ศูนย์ไวรัสฯ จำนวนมาก และต่อเนื่อง ไม่ได้มีการกลายพันธุ์ ไปจากปกติ หรือมีสายพันธุ์ใหม่ ข่าวลือที่อยู่ในสื่อสังคม จึงไม่จริง แต่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังเป็น ทั้งที่ไวรัสไม่ได้กลายพันธุ์ หลบหลีกวัคซีน โดยเฉพาะเอช3เอ็น2ต้องเข้าใจว่าวัคซีนที่ฉีดมีประสิทธิภาพประมาณ 60-70% แต่จากการศึกษาที่ควบคุมตัวแปลต่าง ๆ การเก็บวัคซีนอย่างดี ประสิทธิภาพในฉลากยาจะเขียนไว้มากกว่าในทางปฏิบัติ สำหรับผู้มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ เช่น เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก และถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เป็นไข้หวัดใหญ่แล้วโรคจะรุนแรง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนท้อง คนอ้วน ผู้มีโรคประจำตัวเช่น โรคปอด ตับโต หัวใจ ควรได้รับยาโอเซลทามิเวียร์รักษาเลย ผู้ที่แข็งแรงดีไม่ต้องให้ก็ได้ เพราะโรคหายได้เอง พักผ่อนให้เพียงพอ ป้องกันการแพร่กระจายโรค กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ"ศ.นพ.ยงกล่าว

      อนึ่ง ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุว่า การเฝ้าระวังโรคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 - 17 ตุลาคม 2559 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 123,564 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 188.86 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 22 ราย คิดเป็นอัตราตาย 0.03 ต่อแสนประชากร กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด เรียงตามลําดับ คือ 25-34 ปี คิดเป็น11.57 % อายุ 7-9 ปี คิดเป็น 11.12 % อายุ 15-24 ปี คิดเป็น 10.12 %

       จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร 646.36 ต่อแสนประชากร จ.อุตรดิตถ์ 494.91 ต่อแสนประชากร จ.เชียงใหม่ 485.19 ต่อแสน ประชากร จ.พะเยา 462.00 ต่อแสนประชากร และจ.ระยอง 458.42 ต่อแสนประชากร ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคกลาง 274.65 ต่อแสนประชากร ภาคเหนือ 241.39 ต่อแสนประชากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 112.87 ต่อแสนประชากร ภาคใต้ 93.51 ต่อแสนประชากร

logoline