svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทนาย"เผย"สนธิ"กำลังใจดี เชื่อไม่มีปัญหาเรือนจำ เล็งขอพักโทษ

06 กันยายน 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

6 ก.ย.59-ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 20 ปีจริง ไม่มีรอลงอาญา " สนธิ ลิ้มทองกุล 2 อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ. แมเนเจอร์ฯ - อดีตกรรมการ บมจ. แมเนเจอร์ฯ " ผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ทำสำเนาประชุมเท็จปี 40 ขอค้ำประกันเงินกู้ ธ.กรุงไทย กว่าพันล้าน เอื้อประโยชน์บริษัทสมธิ ถือหุ้นได้ประโยชน์ ด้าน " ทนาย " เผย สนธิกำลังใจดี เชื่อไม่มีปัญหาเรือนจำ เล็งขอพักโทษ

ที่ห้องพิจารณา 912 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 10.00 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1036/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการและอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.),นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน),น.ส. เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ. แมเนเจอร์ฯ และ น.ส. ยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บมจ. แมเนเจอร์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307,311,312 (1) (2) (3),313
ตามฟ้องโจทก์บรรยายความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย.39 - 31 มี.ค.40 จำเลยทั้งสี่ เป็นกรรมการ บมจ. แมเนเจอร์ ฯ ได้ร่วมทำสำเนา รายงานการประชุมของกรรมการบริษัท ที่เป็นเท็จว่ามีมติให้ บริษัทเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้กับบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายสนธิ จำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ รวม 6 ครั้ง จำนวน 1,078 ล้านบาท โดยนายสนธิ จำเลยที่ 1 และ น.ส. เสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ขออนุมัติจากมติที่ประชุมกรรมการบริษัทต่อมาวันที่ 30 เม.ย.3918 พ.ย.41 จำเลยทั้งสี่ ยังร่วมกันยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง ตัดทอนทำบัญชีไม่ตรงกับความเป็นจริง และจำเลยทั้งสี่ ไม่ได้นำภาระการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว ที่เป็นรายการที่ทำให้รายได้ของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เปลี่ยนแปลงผิดปกติ ซึ่งต้องแสดงรายการไว้ในงบการเงินประจำปี 2539-2541 และจะต้องนำส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้น บมจ.แมเนเจอร์ฯ ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับ รวมทั้งเป็นการลวงให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้รับรู้ถึงการค้ำประกันหนี้ดังกล่าว เหตุเกิดที่แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา และแขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กทม. เกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งสี่ ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา

"ทนาย"เผย"สนธิ"กำลังใจดี เชื่อไม่มีปัญหาเรือนจำ เล็งขอพักโทษ


โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.พ.55 ว่า นายสนธิ จำเลยที่ 1 และ น.ส. เสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริตเป็นเหตุให้บริษัทเสียหาย โดยร่วมกันกระทำการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้,ร่วมกันไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท และร่วมกันทำบัญชีไม่ครบถ้วนไม่เป็นปัจจุบัน ไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อลวงให้บริษัท และผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มาตรา 307,311,312,313 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 17 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 ทั้งสิ้น 85 ปี ส่วน น.ส.ยุพิน จำเลยที่ 4 ให้ลงโทษตามความผิดเดียวกัน 13 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุก 65 ปี
ขณะที่นายสุรเดช จำเลยที่ 2ให้จำคุก5 ปี ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มาตรา 313 โดยจำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นเวลา 42 ปี 6 เดือน และจำเลยที่ 4จำคุก32 ปี 6 เดือน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงผิดแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 1,3,4 สูงสุดตามกฎหมายมาตรา 91(2) คนละ 20 ปี ส่วนจำเลยที่ 2จำคุก2 ปี 6 เดือน
ต่อมา นายสนธิ,น.ส.เสาวลักษณ์ และ น.ส. ยุพิน จำเลยที่ 1,3,4 ยื่นอุทธรณ์ว่าไม่มีเจตนากระทำผิด และไม่ได้รับผลประโยชน์ในทรัพย์สินแต่อย่างใด จึงขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษ ส่วนนาย สุรดช จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คดีจึงถือที่สุดตามกฎหมายรับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ส.ค.57 จำเลยที่ 1,3,4 ไม่มีพยานหลักฐานหักล้างพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นกรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ มีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำงบไตรมาส และงบประมาณรายปี แต่จำเลยไม่ลงภาระการค้ำประกันหนี้จัดทำรายการงบไม่ถูกต้อง ไม่ตรงความจริง โดยไม่คำนึงว่าจะมีใครเสียหายหรือไม่ ส่วนที่จำเลยขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษเนื่องจากจำเลยไม่ได้มีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเอง และบมจ.แมเนเจอร์ ไม่ได้ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายร้ายแรง ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มีเจตนาคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เป็นสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดความเข้มแข็ง การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมและเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นลงโทษมานั้นเป็นโทษสถานต่ำสุดแล้ว ไม่อาจลดโทษให้เบาลงได้อีก ขณะที่พฤติการณ์ของจำเลยถือว่าร้ายแรงจึงไม่อาจรอการลงโทษได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน

"ทนาย"เผย"สนธิ"กำลังใจดี เชื่อไม่มีปัญหาเรือนจำ เล็งขอพักโทษ


ต่อมาจำเลยที่ 1,3,4 ยื่นฎีกา ต่อสู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดกรรมเดียว โดยขอให้ศาลพิพากษาลงโทษสถานเบาและให้รอการลงโทษ
ซึ่งนายสนธิ,น.ส.เสาวลักษณ์ และ น.ส. ยุพิน จำเลยที่ 1,3,4 เดินทางมาศาล โดยมีนายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชายของนายสนธิ,นายพิภพ ธงไชย,นายปานเทพ พัวพงษ์พัน,นายปราโมทย์ นาครทรรพ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการ นสพ.เอเอสทีวีผู้จัดการ มาให้กำลังใจด้วย
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า อัยการโจทก์มี รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย และพนักงานเบิกความประกอบรับสารภาพจำเลย ถึงการนำสำเนาประชุมกรรมการบริษัทที่มีการลงข้อความไม่ถูกต้องมาแสดง เพื่อค้ำประกันเงินกู้ 1,078 ล้านบาท นอกจากนี้มีกรรมการที่ไม่ได้ร่วมประชุม แต่พบว่ามีรายชื่อในรายงานการประชุมมาเบิกความยืนยันด้วย จึงฟ้องได้ว่าการค้ำประกันเงินกู้ ไม่ได้รับความยินยอมจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทตามขั้นตอน การกระทำของจำเลยเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อบริษัทแมเนเจอร์ฯ ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ จนต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการหนี้ ถือเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามมาตรา 307,311 ส่วนที่จำเลยเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวในมาตรา 312 นั้น เห็นว่า การยื่นสำเนารายงานประชุมเท็จเพื่อค้ำประกันเงินกู้ได้ดำเนินการถึง 6 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งมีจำนวนเงินไม่เท่ากันและไม่ใช่โครงการเดียวกัน อีกทั้งช่วงระยะเวลานั้นก็แตกต่างกัน ซึ่งได้ดำเนินการมารวม 1 ปี
ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าพวกจำเลยทำบัญชีไม่ถูกต้อง จึงไม่ทำให้ผู้ถือหุ้นเสียหาย เห็นว่า บริษัทแมเนเจอร์ฯเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การที่จำเลยไม่นำภาระค้ำประกันแสดงลงในบัญชีงบการเงินประจำปี2539-2541 ก็ทำให้ผู้ถือหุ้นไม่ทราบและอาจทำให้ผู้ถือหุ้นลงทุนผิดพลาดได้ ฎีกาข้อต่อสู้ทุกข้อของจำเลยนั้นฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษนั้นเห็นว่า บริษัทแมเนเจอร์ฯ เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีประชาชนซื้อหุ้นการดำเนินการต้องยึดหลักธรรมาภิบาลโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่หากผู้บริหารไม่ประพฤติตามก็จะกระทบต่อบริษัท และระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง คดีนี้การกระทำของพวกจำเลยเป็นสาเหตุให้บริษัทแมเนเจอร์ฯเข้าโครงการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งบริษัทก็มีประชาชนเข้าร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดร้ายแรง ที่จำเลยอ้างคุณงามความดีมานั้นยังไม่เพียงพอให้รอการลงโทษ ที่ศาลล่างมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน

"ทนาย"เผย"สนธิ"กำลังใจดี เชื่อไม่มีปัญหาเรือนจำ เล็งขอพักโทษ



ด้านน.ส.อัจฉรา แสงขาว หนึ่งในทีมทนายความของนายสนธิ เปิดเผยว่า ปกติแล้วนายสนธิเป็นคนที่มีกำลังใจดี การอยู่ในเรือนจำจึงไม่น่าจะมีปัญหา อย่างไรก็ตามการดำเนินการหลังจากนี้คงต้องรอให้การคุมขังครบกำหนด ที่ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า2ใน3ตามคำพิพากษาของศาล จึงจะดำเนินการยื่นเรื่องขอพักการลงโทษตามหลักเกณฑ์ระเบียบของกรมราชทัณฑ์ต่อไป คงใช้เวลาอีกนานสักระยะหนึ่ง ส่วนเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลนั้นต้องขึ้นอยู่กับความประสงค์ของนายสนธิอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังคำฟังคำพิพากษา นายสนธิ ได้โอบกอดให้กำลังใจจำเลยร่วม ก่อนที่นายสนธิจะออกมาโทรศัพท์แจ้งข่าวผู้ใกล้ชิด จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้ควบคุมตัวทั้งสามมายังห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาล โดยเมื่อเวลา 11.00 น. เศษ เจ้าหน้าราชทัณฑ์ ได้ควบคุมตัวนายสนธิ,น.ส.เสาวลักษณ์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ.แมเนเจอร์ฯ และ น.ส.ยุพิน อดีตกรรมการ บมจ. แมเนเจอร์ฯ เพื่อส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง โดย น.ส.เสาวลักษณ์ ได้ร้องไห้ ขณะขึ้นรถเรือนจำเดินทางไปเรือนจำด้วย

logoline