svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

สหรัฐฯ ปรับลดอันดับค้ามนุษย์เมียนมาร์

29 มิถุนายน 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สหรัฐฯ ตัดสินใจปรับลดเมียนมาร์ให้อยู่ในบัญชี "เทียร์ 3" ที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่เลวร้ายที่สุด โดยสหรัฐฯ แสดงความวิตกเกี่ยวกับการกดขี่ต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา

รายงานข่าว "เอ็กซ์คลูซีฟ" ของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่า สหรัฐฯ ตัดสินใจปรับลดเมียนมาร์ให้ลงไปอยู่ในบัญชีประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ในระดับที่เลวร้ายที่สุด หรือ เทียร์-3 (Tier3) อันเป็นความเคลื่อนไหวที่มุ่งหวังให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และกองทัพที่ยังทรงอำนาจ ดำเนินการให้มากขึ้นในการขจัดการใช้ทหารเด็กและการบังคับใช้แรงงาน

การปรับลดเมียนมาร์มีขึ้นแม้ว่า สหรัฐฯ พยายามโน้มน้าวให้ประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ให้ช่วยรับมือกับกับอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาค และร่วมผนึกกำลังกันเป็นป้อมปราการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อต่อต้านการรุกรานของจีน ในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้

การปรับลดเมียนมาร์ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี หรือ TIP ที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด และเตรียมจะเผยแพร่ต่อสาธารณชนในวันพฤหัสบดีนี้ และยังแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ ต้องการส่งสารแสดงความวิตกเกี่ยวกับการกดขี่ข่มเหงอย่างกว้างขวางต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธแห่งนี้

นางอองซาน ซูจี ผู้นำคนใหม่ สัญลักษณ์แห่งการเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ และที่ปรึกษาแห่งรัฐ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศว่า ละเลยประเด็นโรฮิงญานับตั้งแต่ฝ่ายบริหารของเธอเข้าทำงานกันในปีนี้

สหรัฐฯ ได้เผชิญความซับซ้อนในความพยายามรักษาสมดุลของการปฏิบัติต่อเมียนมาร์ อดีตประเทศที่ปกครองโดยเผด็จการทหาร ที่เพิ่งผ่านยุคที่ถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติมานานหลายทศวรรษ และเพิ่งเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อปี 2554

นโยบายการทูตแบบเปิดกว้างต่อเมียนมาร์ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถูกมองว่า เป็นนโยบายต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่เขาเข้าสู่ 7 เดือนสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง แต่แม้ว่าเขาจะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรบางอย่าง แต่ก็ยังรักษามาตรการบางอย่างเอาไว้ เพื่อให้เมียนมาร์ดำเนินการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน สหรัฐก็ต้องการกันเมียนมาร์ให้ออกห่างจากวงโคจรของจีน

การที่สหรัฐฯ ตัดสินใจปรับลดเมียนมาร์ลงไปอยู่ระดับเทียร์ 3 ที่เป็นระดับต่ำที่สุดในกลุ่มเดียวกับ อิหร่าน, เกาหลีเหนือและซีเรีย ได้รับการยืนยันจากทั้งเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน และเจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศในกรุงเทพฯ

การอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 สามารถนำไปสู่การพิจารณาคว่าบาตรการเข้าประเทศสหรัฐฯและความช่วยเหลือจากนานาชาติ แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มักยกเลิกมาตรการนี้ ส่วนการตัดสินใจเกี่ยวกับเมียนมาร์ ถือว่าเป็นหนึ่งในประเด็นที่โต้แย้งกันเผ็ดร้อนที่สุดของรายงานในปีนี้ หลังมีความวิตกว่า การประเมินบางอย่างในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ถูกลดความเข้มข้นด้วยเหตุผลทางการเมือง โดยมีการโต้เถียงกันเป็นการภายในระหว่างนักการทูตของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้รางวัลเมียนมาร์ที่มีความคืบหน้าในการปฏิรูปการเมืองกับผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ ที่แย้งว่า เมียนมาร์ยังดำเนินการไม่พอในการยับยั้งการค้ามนุษย์

การตัดสินใจในประเด็นเมียนมาร์ ถือเป็นชัยชนะของสำนักงานเพื่อตรวจสอบและต่อสู้กับการค้ามนุษย์ หรือ TIP Office ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ถูกตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและป้องกันการค้าทาสยุคใหม่ เช่น การค้ามนุษย์โดยผิดกฎหมายเพื่อนำไปบังคับใช้แรงงานหรือค้าประเวณี และจากการที่เมียนมาร์อยู่ในกลุ่ม "เทียร์ 2 ซึ่งต้องจับตามอง" ติดต่อกันเป็นเวลาสูงสุด 4 ปี ตามกฎหมายอนุญาต

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ต้องเลือกระหว่างการปรับลดหรือปรับขึ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งการถูกปรับลดลงไปอยู่ในระดับเทียร์ 3 หมายความว่า ความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์ยังไม่เป็นไปตาม "มาตรฐานขั้นต่ำ" และ "ไม่ได้มีความพยายามอย่างเป็นนัยยะสำคัญเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเหล่านั้น"

logoline