svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ซ้ำ...วิกฤติแล้ง ทุจริตกลบบ่อบาดาล

15 พฤษภาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สภาพอากาศที่ร้อนระอุในช่วงปลายปรากฏการณ์เอลนิโญ่ส่งผลให้ไทยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างรุนแรง หลายพื้นที่เข้าขั้นวิกฤติน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคขาดแคลนอย่างรุนแรง เพราะแหล่งน้ำแห้งขอด

หลายจังหวัดบ่อบาดาล กลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญเป็นความหวังฝ่าวิกฤติแล้งของชาวชุมชน แต่ความหวังนั้นต้องพังทลายลงเพราะมีการกลบบ่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปดำเนินการตามโครงการอุดกลบบ่อบาดาล ของสำนักพัฒนาน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
"แปลกใจทำไมเขาต้องปิดบ่อบาดาลในช่วงวิกฤติแล้งทั้งที่เราต้องการใช้น้ำ น้ำก็ไม่มีอยู่แล้วมาปิดบ่อบาดาลอีกแล้วจะให้ใช้น้ำจากไหน" ความสงสัยของชาวจังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่ใกล้กับบ่อบาดาลที่ถูกปิดกลบไป กลายเป็นข้อร้องเรียนให้มีการตรวจสอบโครงการนี้
เรื่องถูกส่งเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งมีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ท.ทำหน้าที่ฝ่ายเลขาฯ ดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่าโครงการนี้เป็นงบประมาณปี 2557 ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล วงเงินกว่า 103 ล้านบาท ซึ่งกำหนดให้มีการอุดกลบบ่อบาดาลจำนวน 4,886 บ่อ ทั่วประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการอุบกลบไปแล้วจำนวน 1,820 บ่อ อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,320 บ่อ ภาคเหนือจำนวน 200 บ่อ ภาคกลางและภาคตะวันออก 300 บ่อ
คณะทำงานของ ป.ป.ท. ในจำนวนนั้นมี พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี หนึ่งในคณะกรรมการ ป.ป.ท. รวมอยู่ด้วย ได้นำหลักนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาร่วมในการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในโครงการนี้ มีการสุ่มตรวจทั้งเอกสารการเบิกจ่ายเงิน การลงพื้นที่สอบถามพยาน และการใช้เครื่องมือตรวจสอบความต่อเนื่องของเนื้อซิเมนต์ หรือที่เรียกว่า Semic Test

ซ้ำ...วิกฤติแล้ง ทุจริตกลบบ่อบาดาล


ตามข้อตกลง หรือ TOR การอุดกลบบ่อบาดาลต้องใช้เนื้อซิมนต์อุดกลบบ่อบาดาลตลอดระดับความลึกของบ่อ แต่กลับพบว่าเมื่อมีการสุ่มตรวจบ่อบาดาลที่มีการอุดกลบแล้ว กลับพบว่าไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลง เอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินก็ไม่เป็นไปตามจริง ในจำนวนนั้นมีจำนวนไม่น้อยพบพิรุธว่าอาจมีการปลอมแปลงเอกสารที่นำมาใช้ในการเบิกจ่ายเงิน
อย่างในพื้นที่บ้านหนองเรือ ต.เสือเฒ่า อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม หนึ่งในพื้นที่ที่ถูกซุ่มตรวจพบว่า บ่อบาดาลยังใช้งานได้ดี หากไม่ถูกอุดกลบเสียก่อนน่าจะพอเป็นแหล่งน้ำหนึ่งที่ช่วยบรรเทาวิกฤติแล้งให้กับประชาชนในพื้นที่ได้บ้าง แต่บ่อบาดาลที่นี่กลับถูกอุดกลบ เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือประเมินความต่อเนื่องของเนื้อซิเมนต์ที่ใช้อุดกลบวัดได้เพียง 13.75 เมตร ทั้งที่บ่อแห่งนี้มีความลึก 36 เมตร
ไม่ต่างจากบ่อบาดาลที่ตั้งอยู่ในละแวกโรงเรียนบ้านบึงตะกาด อ.วังจันทร์ จ.ระยอง พิกัดหลุมที่ E 770333 N 1436244 ความลึก 72 เมตร มีการรายงานว่าบ่อบาดาลแห่งนี้ชำรุดและมีน้ำน้อย เมื่อตรวจสอบความต่อเนื่องของเนื้อซิเมนต์พบมีเพียง 6-8 เมตร ห่างออกไปไม่มากนักใกล้กับโรงเรียนบ้านชุมแสง ต.ชุมแสง อ.วันจันทร์ จ.ระยอง พิกัดบ่อบาดาล E 774320 N 1431870 ความลึกของบ่อ 72 เมตร พบเนื้อซิเมนต์อยู่ในระดับ 4-7 เมตร เท่านั้น
ตอนที่เจ้าหน้าที่เอาเอกสารมาให้เซ็นยินยอมให้รื้อถอนบ่อบาดาลและดำเนินการอุดกลบไม่มีการเป่าล้างเพื่อทำความสะอาดบ่อบาดาลตามขั้นตอน ไม่เห็นมีอปุกรณ์หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่บ่งบอกว่าต้องใช้ในงานอุดกลบบ่อบาดาลแต่อย่างใด ส่วนภาพที่อยู่ในรายงานผลการดำเนินการประกอบการเบิกจ่ายงบประมาณมันไม่ตรงกับพื้นที่" ผู้พักอาศัยใกล้บ่อบาดาลที่ผ่านการอุดกลบแล้วใน จ.ระยอง ให้ข้อมูล

ซ้ำ...วิกฤติแล้ง ทุจริตกลบบ่อบาดาล


สอดคล้องกับ พล.อ.จรัมพร ที่ยืนยันว่า การสุ่มตรวจบ่อบาดาลที่มีการอุดกลบแล้วหลายพื้นที่ทั้งใน จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.ชลบุรี และ จ.นครปฐม พบปัญหาการทุจริตไม่เเตกต่างกันวิธีการอุดกลบคล้ายกัน ปกติการอุดกลบบ่อบาดาลตามมาตรฐานจะใช้เวลาทำงาน 2 วัน แต่ผู้รับเหมาเข้าไปทำงานไม่ถึงครึ่งวัน เมื่อนำเครื่องมือประเมินความต่อเนื่องของซีเมนต์เข้าไปตรวจวัดพบไม่เป็นไปตามข้อตกลง คือต้องอุดกลบด้วยซิเมนต์เต็มตลอดความลึกของบ่อ บางบ่อลึกถึง 70 เมตร แต่พบความหนาแน่นของเนื้อซิเมนต์เพียง 50 เซนติเมตร เมื่อเปิดบ่อดูพบมีทราย มีดิน แทน ทั้งที่ตามมาตรฐานต้องเป็นน้ำปูนมอร์ตาร์เท่านั้น
สิ่งที่เราพบคือความไม่ตรงไปตรงมา เช่นใน TOR บอกว่า จะต้องมีการเป่าล้างบ่อในกรณีน้ำปนเปื้อนหรือเป็นสนิม ซึ่งเราก็ได้รับทราบว่าหลายที่ที่เราไปไม่การล้างบ่อ เพราะต้องใช้เวาลา 4-5 ชั่วโมง มากกว่านั้น การที่จะใช้ปูนก็ต้องเป็นเครื่องอัด ปูนก้ต้องเป็นปูนผสมน้ำอย่างเดียว คือ น้ำประมาณ 20-25 ลิตร ต่อ ปูน 1 ถุง แล้วอัดจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน น้ำปูนจะล้นขึ้นมา แต่บางพื้นที่ที่เข้าไปตรวจสอบมีการผสมปูนหรือวัสดุอื่น อาจจะเป็น ทราย เทกลบปากหลุมแล้วปิดปากบ่อ แล้วบันทึกข้อมูลแท่นปากบ่อ ปัญหาที่จะตามมาคือการอุดกลบบ่อบาดาลที่ไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนในชั้นน้ำบาดาลได้" พล.ต.อ.จรัมพร กล่าว
การตรวจสอบยังพบการปลอมเอกสารประกอบฎีกา เบิกงบประมาณ เช่นใบเสร็จค่าวัสดุ ซึ่งไม่ตรงกับของร้านค้าที่ระบุไว้ ใบเสร็จค่าน้ำมันมีการปลอมแปลงขึ้น มีการระบุราคาน้ำมันที่แตกต่างจากราคาน้ำมันที่จำหน่ายกันในท้องตลาดในระยะเวลานั้น

ซ้ำ...วิกฤติแล้ง ทุจริตกลบบ่อบาดาล


บางพื้นที่ตรวจพบว่าบิลที่เบิกค่าน้ำมันเป็นบิลที่ดูเหมือนจริงแต่เมื่อไปเทียบกับบิลของร้านค้าหรือปั้มน้ำมันชื่อปั้มตรงแต่ลักษณะบิลไม่ตรง ราคาก็ไม่ตรงกับราคาน้ำมันรายวัน ใบเสร็จค่าวัสดุมีการปลอมขึ้นมา เมื่อนำไปสอบถามกับร้านค้าได้รับการยืนยันว่าไม่ใช่ของทางร้าน" พล.ต.อ.จรัมพร กล่าว
ท่ามกลางข้อกล่าวหาและเสียงวิจารณ์เกี่ยวการทุจริตในโครงการนี้ นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยืนยันว่า มีการวางมาตรการในการกำกับควบคุมทั้งในเรื่องขั้นตอนการอุดกลบบ่อน้ำบาลที่ต้องได้มาตรฐาน หรือ TOR โดยการดำเนินงานเริ่มตั้งเเต่การสำรวจว่า เเต่ละพื้นที่มีบ่อน้ำบาดาลอยู่จุดไหน บ่อมีความลึกเท่าไหร่ รวมทั้งการทำหนังสือยินยอม เพราะบางพื้นที่ที่เป็นที่ที่มีเจ้าของ ในหนังสือรายงานผลก็ต้องมีชื่อผู้ปฎิบัติการ เเละ ผู้อำนวยการเขตลงนาม เเละมีพยานถึง 4 คน ทั้ง เจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องร่วมกันลงนามในรายงานการปฎิบัติงาน นอกจากนั้นก็ยังมีการรายงานที่ประกอบไปภาพถ่ายตั้งเเต่ ก่อนดำเนินงาน ระหว่างดำเนินงาน เเละหลังดำเนินงาน ทุกอย่างได้เตรียมการไว้เป็นอย่างดี เมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน หากพบมีความผิดก็จะถูกลงโทษทางวินัยที่มีระเบียบขั้นตอน
น่าจับตาอย่างยิ่งยวดงบประมาณแผ่นดินกว่า 100 ล้านบาทในโครงการนี้ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินจริงหรือไม่

ซ้ำ...วิกฤติแล้ง ทุจริตกลบบ่อบาดาล

logoline