svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

วิเคราะห์พฤติกรรมฆาตกร ฆ่าหั่นศพ

09 กุมภาพันธ์ 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากกรณีที่นายอาร์ตูร์ หรือ อาเธอร์ ซากรารา ปรินเซฟ วัย 37 ปี ชาวสเปน ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีฆ่าหั่นศพนายเดวิท เบอร์หนาด สัญชาติเดียวกัน ที่ถูกฆ่าหั่นศพทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยนักจิตวิทยามองผู้ก่อเหตุที่ลงมือฆ่าหั่นศพได้ ต้องเป็นบุคคลที่มีจิตใจโหดเหี้ยม และต้องการระบายความแค้น




นพ.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงกรณีของกลุ่มที่มีพฤติกรรมฆ่าหั่นศพว่า ผู้ที่กระทำการฆ่าหั่นศพมีความผิดปกติทางจิต จากการศึกษาการฆ่าหั่นศพในหลายๆคดีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ก่อเหตุมีภาวะของจิตใจที่เหี้ยมโหดโดยไม่รู้ตัว โดยสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม




กลุ่มแรกเกิดจากความเคยชินจากประสบการณ์ในชีวิต เช่น แพทย์ หรือ คนที่ทำงานเกี่ยวกับการฆ่า ชำแหละสัตว์ อย่างที่ผ่านมาเคยเกิดคดีฆ่าหั่นศพจากคนอาชีพเหล่านี้มาแล้ว เพราะทำจนเกิดความเคยชิน จึงไม่ได้มีความรู้สึกแตกต่างหากจะทำการชำแหละกับมนุษย์




กลุ่มที่ 2 เรียกว่า TRAUMA ทรูม่า คือ คนที่มีบาดแผลในใจที่เคยถูกทำร้าย เขาจะเก็บความเจ็บปวดเอาไว้ข้างใน และต้องการแก้แค้น ต้องการระบายความรู้สึกที่เก็บซ่อนอยู่ออกมา ซึ่งคนพวกนี้เคยถูกทำร้ายมาก่อน อย่างกรณีฆ่าหั่นศพที่จ.สงขลา ฆาตกรเคยเห็นเหตุการณ์ที่พ่อแม่ของเขาถูกฆ่าต่อหน้าต่อตาและเขาถูกคนร้ายนำเชือกมารัดคอ เมื่อโตขึ้นเขานำความเจ็บปวดในวัยเด็กมาระบายออกโดยการฆ่าหั่นศพผู้อื่น ด้วยการนำเชือกมารัดคอเหมือนที่เขาเคยโดนในวัยเด็ก และฆ่าหั่นศพเพื่อระบายความเจ็บปวดที่เขาซ่อนอยู่ในจิตใจ




กลุ่มที่ 3 ภาวะการขาดสติชั่ววูบ หรือ โรคจิตเฉียบพลัน คือเกิดจากความแค้นจนทำให้ขาดสติ จึงได้ลงมือฆ่าหั่นศพ สับศพเป็นชิ้นๆเพื่อบรรดาโทสะ คนก่อเหตุจะมองว่าการฆ่าหั่นศพในขณะนั้นเขาได้รับชัยชนะ อย่างในกรณี นายเดวิท ที่ถูกฆ่าหั่นศพ โดยนายอาตูร์ ผู้ต้องหาในคดีฆ่าหั่นศพ อาจมีเรื่องของเงินจำนวนมากเข้ามาพัวพัน อาจเกิดจากการโกงกันหรือทวงหนี้กัน รวมถึงอาจมีเหตุการณ์ในอดีตที่ทำให้นายอาตูร์ มีความเจ็บปวดอย่างรุนแรง และต้องการแก้แค้นนายเดวิท ผู้ตาย จึงได้ใช้วิธีฆ่าหั่นศพ เพื่อชำระแค้นและอำพรางศพ




สอดคล้องกับข้อมูลของ ดร.นัทธี จิตสว่าง ผู้เชี่ยวชาญอาชญาวิทยากระบวนการยุติธรรมกรมราชทัณฑ์และการวิจัยเชิงคุณภาพ เปิดเผยว่า พฤติกรรมของคนที่ฆ่าหั่นศพ ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเบียนเบนไปจากคนปกติ จากที่ผ่านมาผู้ที่ทำการฆ่าหั่นศพส่วนใหญ่ต้องการที่จะปกปิดความผิดของตนเองโดยการหั่นศพและนำศพไปทิ้ง ซึ่งคนที่สามารถหั่นศพจะต้องมีจิตใจที่แตกต่างจากคนปกติ คือมีความเยือกเย็นมากกว่าการฆาตกรทั่วไป




ส่วนวิธีการอำพรางศพยังมีวิธีอื่นๆที่ฆาตกรสามารถทำได้ แต่คนที่เลือกวิธีการฆ่าหั่นศพอาจกระทำด้วยความแค้น ความสะใจ ในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งคนที่กระทำวิธีนี้มีความผิดปกติหรือมีบุคลิกที่ผิดจากคนทั่วไป โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ก่อเหตุหลังจากที่เขาฆ่าหั่นศพ คนพวกนี้ไม่ได้มีความรู้สึกผิดไปกับสิ่งที่ทำลงไป และไม่รู้สึกเสียใจ





ซึ่งคนที่ฆ่าหั่นศพหากมองภายนอกจะเหมือนคนทั่วไปใช้ชีวิตในสังคมได้ปกติ ไม่แสดงความผิดปกติอะไรออกมา แต่จะเป็นความรู้สึกที่ซ่อนเก็บไว้ในจิตใจเบื้องลึก ซึ่งในความสัมพันธ์กับคนอื่นในสังคมเขาไม่ได้มีการแสดงพฤติกรรมว่าเป็นคนโหดเหี้ยม แต่อาจจะมีนิสัยที่เงียบขรึมในบางราย ซึ่งคนปกติทั่วไปไม่สามารถที่จะรับรู้ถึงสิ่งที่เขาซ่อนเก็บไว้ข้างในจนกระทั่งสิ่งที่เขาซ่อนในจิตใจมันผลักออกมาให้เขากระทำออกมาด้วยการฆ่าหั่นศพ ดร.นัทธี กล่าว




นอกจากนี้ ดร.นัทธี ยังกล่าวอีกว่า จากการศึกษาพฤติกรรมฆาตกรที่ฆ่าหั่นศพในต่างประเทศ พบว่าการฆ่าหั่นศพมีความเชื่อมโยงมาจากชีวิตในวัยเด็กของฆาตกรหรือประสบการณ์ในชีวิต เช่น บางคนเคยมีอาชีพในการฆ่า ชำแหละ ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ทำจนเกิดเคยชินจนวันหนึ่งเขานำวิธีนี้มาทำกับคนที่เขาฆ่า ฆาตกรบางรายมีความสุขกับการฆ่าหั่นศพจึงก่อเหตุมากกว่าหนึ่งครั้ง




ขณะเดียวกันจากการศึกษาคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในอดีตของประเทศไทยพบว่า สาเหตุจากการฆ่าหั่นศพมักมาจากความโกรธแค้นของฆาตกร และต้องการปกปิดอำพรางศพ หรือทำให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของกลุ่มแก๊งค์

logoline