svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมวิทย์ฯ แนะใช้แป้งฝุ่นโรยตัว...อย่างปลอดภัย

30 ตุลาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แป้งที่มีส่วนผสมของทัลค์ ผลจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบการปนเปื้อนของแร่ใยหินในทุกตัวอย่าง พร้อมแนะนำการใช้แป้งฝุ่น สำหรับเด็กและสตรี

จากกรณีมีกระแสข่าวในโลกออนไลน์ว่าการทาแป้งฝุ่นนั้นเป็นอันตรายต่อร่างกาย สร้างความกังวลกับหลายคนที่ใช้แป้งในชีวิตประจำวัน นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า แป้งฝุ่นโรยตัวและแป้งฝุ่นผัดหน้า มีส่วนประกอบหลักคือ ทัลค์ (talc) หรือทัลคัม (Talcum) ซึ่งเป็นสารอนินทรีย์ ชื่อทางเคมีคือไฮดรัส แมกนีเซียมซิลิเกต ซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติ ลักษณะเป็นผงสีขาวหรือสีครีม มีคุณสมบัติทนความร้อน ทนกรด ต้านทานต่อการนำไฟฟ้า ช่วยการผสมผสานและดูดซึมซับความชื้น ทำให้พื้นผิวแห้งเนียนลื่น ไม่ดูดติดกัน ดังนั้น จึงนิยมนำไปใช้ประโยชน์ในทุกวงการ เช่น สี สารหล่อลื่น เซรามิกกันไฟ แก้ว ผลิตภัณฑ์ขัดล้างทำความสะอาด กระดาษ ยาง ยา และเครื่องสำอาง

กรมวิทย์ฯ แนะใช้แป้งฝุ่นโรยตัว...อย่างปลอดภัย


อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า จากการศึกษาพบว่าทัลค์ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อสัตว์ทดลอง ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และไม่เป็นสารก่อมะเร็ง อย่างไรก็ตามทัลค์ สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจะต้องมีความบริสุทธิ์สูง ผ่านการบดและคัดแยก ขนาดตั้งแต่ 0.3 ถึง 75 ไมโครเมตร ไม่มีอนุภาคแข็ง สิ่งแปลกปลอมที่มองเห็นได้ และต้องไม่พบแร่ใยหิน
ทั้งนี้ในการผลิตทัลค์จากแหล่งหินตามธรรมชาติอาจมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ดังนั้นสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แป้งที่มีส่วนผสมของทัลค์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ถึง 2558 จำนวน 73 ตัวอย่าง ผลการตรวจพบว่าทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของแร่ใยหินเนื่องจาก ทัลค์ เป็นสารอนินทรีย์ จึงไม่ถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติ ดังนั้นการทาแป้งโดยเฉพาะตอนโรยแป้ง ผงแป้งจะลอยในอากาศ หากสูดดมเข้าไปทางลมหายใจเป็นเวลานานจะเกิดการสะสมเป็นก้อนในปอด ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ
ส่วนในเด็กทารกอาจทำให้ปอดอักเสบและตายได้ ในสตรีหากใช้โรยบริเวณจุดซ่อนเร้นเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการโรยแป้งไปที่ตัวเด็กโดยตรง และสตรีไม่ควรโรยแป้งบริเวณจุดซ่อนเร้น นายแพทย์อภิชัย กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติมการควบคุมตามกฎหมายแร่ใยหิน เป็นสารห้ามใช้ลำดับที่ 737 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 80 ง ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 ในต่างประเทศได้ถูกยกเลิกตั้งแต่ปี ค.ศ.1980

logoline