svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ป่าชุมชนบ้านต่อแพ

24 ตุลาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมป่าไม้ ได้ร่วมกิจกรรมการประกวดป่าชุมชนตัวอย่างโครงการ "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" โดยปีนี้ ป่าชุมชนบ้านต่อแพ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เขามีจุดเด่นอย่างไรติดตามจากรายงาน จันทร์จิรา พงษ์ราย

ผลผลิตจากป่าหลากชนิดทั้งพืชสมุนไพร มะขามป้อม เห็ดป่า น้ำผึ้ง พืชผักกว่า30 ชนิด คือสิ่งที่ชาวบ้านต่อแพ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน บอกว่าพวกเขาเก็บหากินได้ตลอดปีจากป่าชุมชนบ้านต่อแพ ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลมานานนับสิบปี จนเทียบกับซุปเปอร์มาร์เก็ตข้างบ้านผลผลิตเหล่านี้ชาวบ้านต่อแพบอกว่าสร้างรายได้ให้พวกเขามากกว่าปีละ 30000 บาท และหาได้จากป่าชุมชนที่ช่วยกันดูแลค่ะ
ป่าชุมชนบ้านต่อแพ เพิ่งได้รับการอนุมัติจากกรมป่าไม้ ให้จัดตั้งป่าชุมชนพื้นที่ 1,170 ไร่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เงา-แม่สำเพ็ง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อเดือนตุลาคม 2557 หลังจากชาวบ้านได้วางกติกาในการดูแลป่ามากว่า 10 ปี โดยเฉพาะการทำแผนที่ชุมชน กำหนดกฎระเบียบชัดเจนในการอนุญาตให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกเฉพาะในพื้นที่เดิมที่เคยทำ โดยไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่มเติม และการป้องกันปัญหาไฟป่า ช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำ
นอกจากพืชสมุนไพรในป่าที่พบว่ามีพืชสมุนไพร 200-300 ชนิดที่สร้างรายได้ ให้กับชาวบ้านมากกว่า 30,000 บาท ต่อครัวเรือน แต่ที่นี่ยังมีความโดดเด่น ในฐานะหมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผาป่า เพื่อลดปัญหาหมอกควันไฟป่าของภาคเหนือโดยชุมชนจะไม่เผาป่าเพื่อปรับพื้นที่การเกษตร และงดเผาวัสดุการเกษตร จนเกิดผลผลิตคือการผลิตถ่านอัดแท่งจากเศษใบไม้ ที่เหลือจากการทำแนวกันไฟ
ขณะนี้มีป่าชุมชนจดทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการคนรักษ์ป่าป่ารักชุมชน 1,204 แห่ง ถือว่าเพิ่มขึ้นทุกๆปี หลังประชาชนตื่นตัวเรื่องการดูแลรักษาป่าไม้ของชุมชน ทำให้สามารถขยายผลให้สังคมเข้าใจแนวคิดของป่าชุมชนมากขึ้นและเห็นคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้ ปัจจุบันมีการจัดตั้งป่าชุมชน 9,470 หมู่บ้านครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 4 ล้านไร่ เมื่อเทียบข้อมูลการจัดตั้งป่าชุมชนในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า มีการจัดตั้งป่าชุมชนเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ
วันนี้ป่าชุมชนบ้านต่อแพ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศในโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชนปี 2558 นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของคนตัวเล็กๆที่ช่วยปกป้องผืนป่าจากการบุกรุกทำลาย

logoline