svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แนะเสนอข่าว"ฆ่าตัวตาย"แบบพอดี

20 ตุลาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมสุขภาพจิต เตือนเสนอข่าวฆ่าตัวตายแบบละเอียดและถี่เกินไป กระทบต่อกลุ่มคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเป็นทุนเดิม ระบุพบคนฆ่าตัวตายตาม 2 - 3 คน หลังจากมีข่าว


รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)พญ.พรรณพิมล วิปุลากร บอกว่า จากการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องพบว่าเมื่อมีกรณีการฆ่าตัวตายปรากฏในสื่อและมีการลงรายละเอียด ถึงวิธีการว่าลักษณะการฆ่าตัวตายเป็นอย่างไร มักพบว่าจะมีการฆ่าตัวตายในลักษณะเดียวกันตามมาหลังจากนั้นอย่างน้อย 2 - 3 คน ซึ่งการนำเสนอรายละเอียดของการฆ่าตัวตายนั้น ถือเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง
โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่เป็นทุนเดิม มีปัญหาโรคซึมเศร้า มีความเครียดหรือมีปัญหาหนักในชีวิตที่หาทางออกไม่ได้ จะมีความอ่อนไหวต่อข่าว และความคิดเห็นทั้งในสื่อออนไลน์ หรือจากบุคคลรอบๆ ตัว ซึ่งผู้ที่มีปัญหาอยู่เดิมจะรู้สึกมาก และยิ่งคิดว่าอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายในลักษณะเดียวกัน
ส่วนการนำเสนอภาพ หรือ คลิปวิดีโอ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฆ่าตัวตาย เป็นสิ่งที่ยากจะควบคุม และปัจจุบันยังไม่มีกฎกติกาในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ชัดเจน แต่คนที่ใช้งานสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกันดูแลการใช้งาน ด้วยการไม่ส่งออก ไม่ส่งต่อ หยุดการเผยแพร่สื่อ เพื่อไม่ให้เกิดการผลิตซ้ำความรุนแรง
รวมทั้งไม่นำเสนอวิธีการโดยละเอียด เพราะจะเป็นการสร้างทางเลือกที่ผิดให้กับกลุ่มคนที่อ่อนไหว และไม่เล่าเรื่องจนเหมือนเป็นบทละคร สิ่งเหล่านี้ไม่ควรทำในการใช้โซเชียลมีเดีย เพราะล้วนเป็นสิ่งที่เร้าอารมณ์ความรู้สึกทั้งสิ้น อย่าคิดว่าไม่กระทบกับคนอื่น แต่ความจริงเป็นเรื่องที่กระทบมากกับกลุ่มคนที่เปราะบาง
จากสถิติพบว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ จะเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อนอย่างน้อย 3 - 4 ครั้ง โดยพบว่าครั้งแรกมักจะทำไม่สำเร็จ หากไม่มีการช่วยเหลือหลังจากนั้น ก็จะมีความพยายามลงมือฆ่าตัวตายอีกจนเมื่อถึงครั้งที่ 3 - 4 ก็จะทำสำเร็จ

logoline