svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ใครครอบ "คลองพัทยา" ตอน1

16 ตุลาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลายเมืองที่มีพื้นที่ติดทะเล ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก สาเหตุเกิดอะไรขึ้น ติดตามได้จากรายงานคุณ กลกร เวียงดอนก่อ ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี

หลายคนคงจำได้ เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เมืองพัทยาแทบจะกลายเป็นเมืองบาดาลหลังโดนอิธิพลจากพายุหว่ามก๋อถล่มนานกว่า 6 ชั่วโมง ข้าวของเสียหาย รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พัทยาต้องเผชิญภัยพิบัติน้ำท่วมแบบนี้
การระบายน้ำของเมืองพัทยาในอดีต จะอาศัยแม่น้ำลำคลองเป็นหลัก คือ คลองกระทิงราย คลองนาเกลือ คลองห้วยเสือแผ้ว และอีก 2 คลองที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ คลองพัทยา และคลองมาบต้นงิ้ว ซึ่งหากดูตามแผนที่เมืองพัทยาปี 2521 พบว่ายังมีชื่อของสองคลองนี้อยู่ แต่ปัจจุบันถูกความเจริญเข้าครอบครอง จนไม่เหลือเค้า
เดิมคลองพัทยา มีต้นน้ำมาจากเขาตาโล ไหลผ่านทางรถไฟแถววัดธรรมสามัคคี ข้ามถนนสุขุมวิท ต่อเนื่องไปสามแยกพัทยาใต้ โค้งไปทางด้านเหนือ ตัดกับถนนพัทยาสายสาม แล้วไหลลงใต้ตัดกับถนนพัทยาใต้ ใกล้ตลาดบัวขาว ออกทะเลที่อ่าวพัทยา แหลมบาลีฮาย โดยมีจุดตัดสำคัญ คือ ถนนสุขุมวิท ถนนพัทยาใต้ และถนนเฉลิมพระเกียรติ หรือถนนพัทยาสาย 3 ซึ่งเป็นจุดแนวคลองเดิมที่หายไป เมื่อฝนตกลงมาจึงเกิดน้ำท่วมขังซ้ำซาก นี่คือภาพเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2558 เวลา 11.30 น. หลังฝนตก 1 ชั่วโมง
คุณป้าสุภาพร พันธุ์แพง ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองพัทยามาตั้งแต่ปี 2518 เล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนเมืองพัทยายังไม่ขยายตัวมากเหมือนในปัจจุบัน มีคลองช่วยระบาย น้ำท่วมไม่นานก็ลดปล่อยเสียง สุภาพร พันธุ์แพง ชาวเมืองพัทยา
อีกหนึ่งคลองที่ปัจจุบันไม่เหลือแม้แต่ชื่อ คือคลองมาบต้นงิ้ว มีต้นน้ำมาจากทางใต้ของสถานีรถไฟพัทยา ข้ามถนนสุขุมวิทตรงแอ่งบุญถาวร หรือระหว่างหมู่บ้านวันเดอร์แลนด์3 กับ 4 แนวคลองด้านเหนือเป็นเขตกั้นระหว่างตำบลนาเกลือ กับตำบลหนองปรือ คลองนี้จะไหลมาทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ แล้วมารวมกับคลองพัทยา
คลองพัทยาที่ยาวหลายกิโลเมตรในอดีต ปัจจุบันเหลือเพียง 800 เมตรเท่านั้น ส่วนที่เหลือถูกน้ำมือมนุษย์รุกล้ำ สิ่งปลูกสร้างน้อยใหญ่ทาบทับ แทนที่คลองด้วยท่อขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่เพียงพอกับการระบายน้ำ ภาพน้ำท่วมเมืองพัทยาจึงเป็นภาพที่มีให้เห็นจนชินตาการพัฒนาอย่างไร้ขอบเขต ขาดการวางผังเมืองที่ดีของเมืองพัทยา จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญ

logoline