svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นักท่องเที่ยวเยอรมัน โดนแมงกะพรุนดับ

08 ตุลาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักท่องเที่ยวกว่า 10 ราย ที่เสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุนกล่อง ในทะเลอ่าวไทย จนเป็นที่มาของการกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให่เกิดเหตุซ้ำ ขณะที่ท้องถิ่นร่วมผู้ประกอบการจัดเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลริมชายหาด

ได้สั่งการประมงอำเภอเกาะสมุยและเกาะพะงันประชุมร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว เจ้าของโรงแรม บังกะโลทุกแห่งและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่นเจ็ตสกี ที่มีความชำนาญเรื่องทะเลขอความร่วมมือให้เขียนป้ายเตือนการลงเล่นน้ำในทะเล ให้ระมัดระวังเรื่องแมงกะพรุนกล่องให้มากขึ้นและเห็นได้เด่นชัด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวที่มักจะลงเล่นน้ำตามลำพัง รวมทั้งวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากถูกพิษแมงกะพรุนกล่อง แต่ที่สำคัญที่สุดคือเน้นการป้องกันจะได้ผลดีที่สุด

นี่คือเสียงสัมภาษณ์ของนายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่กล่าวภายหลังจากเกิดเหตุสลดมีนักท่องเที่ยวสาวชาวเยอรมันถูกพิษแมงกะพรุนกล่องเสียชีวิตเป็นรายที่ 2 ของ จ.สุราษฎร์ธานีในปีนี้ห่างกันเพียง 2 เดือนเศษๆ โดยรายล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ เวลาประมาณ 23.30 น.วันที่ 6 ต.ค.58

ทางพ.ต.ต.อุดมศักดิ์ ทัพพะ พนักงานสอบสวน สภ.บ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลกรุงเทพสมุย ว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเสียชีวิตจากการถูกพิษแมงกะพรุนกล่อง 1 รายทางตำรวจจึงไปตรวจสอบทราบชื่อผู้ชีวิตคือน.ส.เธียร์ส ซาสเกีย อายุ 20 ปี สัญชาติเยอรมัน โดยไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลกรุงเทพสมุย เนื่องจากถูกพิษแมงกะพรุนกล่องที่บริเวณขาทั้งสองข้าง หน้าท้อง หลัง และแขน มีบาดแผลจากการสัมผัสหนวดแมงกะพรุนกล่อง

โดยมีคนเจ็บอีก 1 รายคือ น.ส.จิโอวาน์น่า ราสซี่ อายุ 20 ปี สัญชาติเยอรมัน ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากพิษแมงกะพรุนกล่องขณะเข้าไปช่วยเพื่อน ระหว่างลงเล่นน้ำทะเลตอนกลางคืนบริเวณหาดละไมบนเกาะสมุย

ซึ่งช่วงระหว่างเกิดเหตุพนักงานบังกะโลได้ยินเสียงกรีดร้อง จึงวิ่งเข้าไปดู พบว่านักท่องเที่ยวทั้ง2คนร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดจากพิษของแมงกะพรุนกล่อง จึงโทรศัพท์แจ้งศูนย์กู้ชีพเทศบาลนครเกาะสมุย ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลกรุงเทพสมุย แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมาเนื่องจากพิษแมงกะพรุนกล่องกระจายไปทั่วร่างกาย

ประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่แมงกะพรุนกล่องออกมาในบริเวณชายหาดเกาะสมุยและเกาะพะงันค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นช่วงมีมรสุมและมองเห็นได้ค่อนข้างยาก เพราะตัวใสกลมกลืนกับน้ำทะเล และแมงกะพรุนกล่องมักจะหากินในช่วงกลางคืน

และเมื่อมีคลื่นลมแรงและมีฝนตกโดยมากับสายฝน แมงกะพรุนจะมาตามกระแสคลื่นลม หากโดนสัมผัสให้ใช้น้ำส้มสายชูราดทันทีแต่อย่าใช้มือดึงออกเพราะพิษแมงกะพรุนแรงมาก หากอาการหนักให้ปั๊มหัวใจและส่งโรงพยาบาลทันที ทั้งนี้ต้องสังเกตให้ชัดเจนว่าบริเวณไหนมีแมงกะพรุน โดยที่ผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบกิจการเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวสามารถบอกได้ว่าบริเวณไหนมีแมงกะพรุนจำนวนมาก สามารถที่จะแจ้งแก่นักท่องเที่ยวได้

แมงกะพรุนกล่อง (box jellyfish) ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแต่สร้างพิษอันทรงพลังอย่างน่าสะพรึงกลัวเพื่อให้เหยื่อ เช่น ปลา หรือ กุ้งหมดสติหรือเสียชีวิตทันทีเพื่อไม่ให้การดิ้นรนหลบหนีของเหยื่อสร้างความเสียหายให้กับหนวดที่แสนบอบบางของมัน

พิษของแมงกะพรุนกล่อง ถือว่าเป็นหนึ่งในพิษที่เป็นอันตรายที่สุดในโลกซึ่งมีพิษในการโจมตีหัวใจ ระบบประสาท และเซลล์ผิวหนัง พิษนี้จะสร้างความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส เหยื่อที่เป็นมนุษย์จะเกิดอาการช็อคและจมน้ำหรือเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวก่อนที่จะขึ้นถึงฝั่งด้วยซ้ำ ผู้รอดชีวิตจะมีอาการเจ็บปวดอยู่หลายสัปดาห์และมักจะมีความหวาดผวาอย่างมากในบริเวณที่สัมผัสกับหนวดแมงกะพรุน

แมงกะพรุนกล่อง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตัวต่อทะเล หรือ นักพ่นพิษแห่งท้องทะเล มักอาศัยอยู่ในน้ำตามแนวชายฝั่งของออสเตรเลียตอนเหนือและทั่วอินโดแปซิฟิก มีสีฟ้าอ่อน โปร่งใส และได้ชื่อนี้มาจากรูปร่างที่เหมือนลูกบาศก์ มีหนวดมากถึง 15 เส้นที่งอกออกมาจากแต่ละมุมของช่วงตัวและสามารถยืดยาวได้ถึง 10 ฟุต (3 เมตร) หนวดแต่ละเส้นจะมีเซลล์พิษอยู่ประมาณ 5,000 เซลล์ซึ่งไม่ได้ถูกกระตุ้นโดยการสัมผัสแต่โดยการพบสารเคมีจากชั้นผิวภาพนอกของเหยื่อ

แมงกะพรุนกล่อง เป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาอย่างก้าวไกลกว่าแมงกะพรุนทั่วไป ด้วยการพัฒนาความสามารถในการเคลื่อนที่มากกว่าการล่องลอยโดยการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วมีดวงตาเกาะกลุ่มกันหกกลุ่มอยู่บนทั้งสี่ด้านของลำตัว แต่ละกลุ่มจะมีดวงตาหนึ่งคู่ซึ่งมีเลนส์ตา เรตินา ตาดำและแก้วตาที่มีประสิทธิภาพสูง แม้ว่าจะไม่มีระบบประสาทส่วนกลาง นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าแมงกะพรุนพวกนี้มีกระบวนการในการมองเห็นอย่างไร

โดยในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานีและจังหวัดแถบอ่าวไทยตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมามีนักท่องเที่ยวถูกพิษแมงกะพรุนกล่องเสียชีวิตประมาณ 10 รายและล่าสุดเมื่อปลายปี 2557 นักท่องเที่ยวเป็นเด็กชายถูกพิษแมงกะพรุนกล่องเสียชีวิตที่เกาะพะงัน และเมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวสาวชาวไทยถูกพิษแมงกะพรุนกล่องเสียชีวิตที่เกาะพะงันหลังจากไปฉลองงานฟูลมูนปาร์ตี้คือน.ส.ชญานันท์ สุรินทร์ อายุ 31 ปีนักท่องเที่ยวชาวไทยโดนพิษแมงกะพรุนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยผู้เสียชีวิตได้เดินทางมาจากกทม. เข้ามาท่องเที่ยวกับเพื่อนที่เกาะพะงัน. และช่วงเวลา 20.15 น.ของวันที่ 31 ก.ค.58 ผู้เสียชีวิตได้ลงเล่นน้ำทะเล บริเวณหน้าซันไรท์บังกะโล.ม.6 ต.บ้านใต้.อ.เกาะพะงัน ถูกแมงกะพรุนไฟกล่องกัดเพื่อนๆจึงนำตัวส่งโรงพยาบาลเกาะพะงันและเสียชีวิตในเวลาต่อมาเนื่องจากพิษได้เข้าสู่ระบบหัวใจทำให้หัวใจล้มเหลว

สำหรับพิษแมงกะพรุนกล่อง (Box jellyfish) ชาวเลเรียกว่า บอบอกาว หรือ บอบอกล่อง ฉายานามได้มาจากรูปร่างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมสมชื่อ โดยพิษของแมงกะพรุนกล่องทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังเกร็ง เวียนหัว คลื่นไส้ ปวดหัว กระสับกระส่าย แน่นหน้าอก ส่วนชนิดหลายสาย มีพิษต่อหลายระบบในร่างกายทั้งเลือด เนื้อหนัง หัวใจ ประสาท ส่วนใหญ่ผู้ได้รับพิษมักมีอาการปวดบริเวณแผล หรืออาจปวดไปทั่วร่างกายในบางราย อาจตายหรือจมน้ำก่อนใครจะช่วยทัน

ขณะที่นายแพทย์ฐานุวัตน์ ทิพย์พินิจ แพทย์ประจำโรงพยาบาลเกาะพะงันได้กล่าวเตือนว่า ให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำทะเลในเวลากลางคืนเพราะ แมงกระพรุนชนิดนี้จะมาพร้อมกับสายฝน หากเกิดถูกพิษแล้วให้แก้ไขเบื้องต้น ด้วยการราดน้ำส้มสายชูลงบนบาดแผล และห้ามเกาหรือขูดจะทำให้พิษเข้าสู่ระบบเลือดเร็วขึ้น

โดยที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ปี2557 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสชื่อ ด.ช. แมกซ์ มาร์ค ซาอิด มูเดีย (MAX MARA SAID MOUDIR) อายุ 5 ขวบ ถูกพิษกะพรุนเสียชีวิต ขณะลงเล่นน้ำกับครอบครัวที่บริเวณหาดขวด บ้านโฉลกหลำ หมู่ที่ 7 ต.เกาะพะงัน ซึ่งผู้เสียชีวิตลงเล่นน้ำทะเลความสูงประมาณ 20 เซนติเมตรโดยที่ ด.ช.แมกซ์ ถูกฝูงแมงกะพรุนเข้ามาห้อมล้อม และหมดสติทันที ซึ่งผู้ปกครองพร้อมด้วยไกด์นำเที่ยวได้พยายามนำตัวส่งโรงพยาบาลเกาะพะงัน เพื่อช่วยชีวิตแต่ไม่สำเร็จ คาดว่าจะเสียชีวิตทันทีที่ถูกพิษแมงกะพรุน โดยที่ขามีรอยถูกแมงกะพรุนกัดเต็มไปหมด

ขณะที่นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลางรายหนึ่งให้ข้อมูล ว่า แมงกะพรุนกล่อง ถูกเรียกว่าตัวต่อทะเล หรือ นักพ่นพิษแห่งท้องทะเล อาศัยอยู่ในน้ำตามแนวชายฝั่งออสเตรเลียตอนเหนือและทั่วอินโดแปซิฟิก ปัจจุบันแพร่กระจายมาทางฝั่งเอเชียจนถึงประเทศไทย ปัจจุบันพบได้ในพื้นที่ทั้งที่ เกาะลันตา, อ่าวโล๊ะซามะ อ่าวพีพี อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ และอ่าวน้ำบ่อ จ.ภูเก็ต, หาดชะอำ จ.เพชรบุรี รวมถึงพื้นที่เกาะเต่า เกาะสมุย และเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี โดยเข้าสู่พื้นที่ชายฝั่งด้วยกระแสน้ำ

"สำหรับแมงกะพรุนกล่องจะมีสีฟ้าอ่อนโปร่งใส และได้ชื่อนี้มาจากรูปร่างที่เหมือนลูกบาศก์บางชนิดมีหนวดมากถึง 15 เส้นจากมุมช่วงตัวและสามารถยืดยาวได้ถึง 10 ฟุต หรือ 3 เมตร หนวดแต่ละเส้นมีเซลล์พิษอยู่ประมาณ 5,000 เซลล์ ซึ่งไม่ได้ถูกกระตุ้นโดยการสัมผัส แต่จะถูกกระตุ้นโดยการพบสารเคมีจากชั้นผิวภาพนอกของเหยื่อโดยจะสร้างพิษเพื่อให้เหยื่อ เช่น ปลา หรือ กุ้ง หมดสติหรือเสียชีวิตทันที

พิษของแมงกะพรุนกล่อง ถือว่าเป็น 1 ในพิษที่เป็นอันตรายที่สุดในโลกซึ่งมีพิษในการโจมตีหัวใจ ระบบประสาท และเซลล์ผิวหนัง จะสร้างความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส ซึ่งเมื่อถูกพิษจะเกิดอาการช็อกและจมน้ำหรือเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้รอดชีวิตจะมีอาการเจ็บปวดอยู่หลายสัปดาห์และมักจะมีความหวาดผวาอย่างมากในบริเวณที่สัมผัสกับหนวดแมงกะพรุนชนิดนี้ แต่ถ้าโดนพิษยังมีโอกาสจะรอด โดยรีบนำน้ำส้มสายชูมาล้างอย่างน้อย 30 วินาที เพราะจะทำลายพิษก่อนจะเข้าไปสู่กระแสเลือด

อย่างไรก็ตามช่วงนี้บริเวณพื้นที่ทะเลชายหาดเกาะพะงัน และชายหาดละไม เกาะสมุย และเกาะเต่าบางจุดพบแมงกะพรุนลอยเข้ามาใกล้กับจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมลงเล่นน้ำเป็นจำนวนมาก และล่าสุดทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งเกาะสมุยและเกาะพะงันร่วมกับโรงแรมที่พักอยู่บริเวณหน้าชายหาด ได้ปิดป้ายประกาศเตือนนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำให้ระมัดระวังแมงกะพรุนโดยเฉพาะบริเวณหาดที่นักท่องเที่ยวถูกแมงกะพรุนกล่องกัด พร้อมกับจัดเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นไว้ริมชายหาด

logoline