svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ย้อนคดีทุจริต แบงก์กรุงไทยปล่อยกู้

26 สิงหาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถูกลงโทษหนักทีเดียว .. เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก ร้อยโท สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ อดีตประธานบอร์ดบริหารธนาคารกรุงไทยและ วิโรจน์ นวลแขอดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย เป็นเวลา 18 ปีจากการอนุมัติสินเชื่อกว่าหมื่นล้านบาท ให้กับบริษัทในเครือของบริษัทกฤษฎามหานคร พร้อมให้ร่วมกันชดใช้เงินคืนให้กับ ธ.กรุงไทย ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เป็นกรรมการอนุมัติสินเชื่อ และกลุ่มเอกชนที่ทำการขอสินเชื่อให้จำคุกคนละ 12 ปี โดยคดีนี้ มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นจำเลยที่1 แต่ศาลได้สั่งให้จำหน่ายคดีในส่วนของ พ.ต.ท. ทักษิณ ไว้ชั่วคราว เนื่องจากหลบหนีคดี

สำหรับพฤติการณ์ของเรื่องนี้มีว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)ในขณะนั้นได้ให้สินเชื่อกับ กลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เนื่องจาก ผอ.ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครในอันดับ 5 คือไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่ได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี คือ 


1. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทอาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด จำนวนเงิน 500 ล้านบาท


 2. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ 1,400 ล้านบาท) 


และ 3. การอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวนเงิน 1,185,735,380 บาท


 ถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร เป็นประโยชน์ส่วนตนกับพวก


ย้อนคดีทุจริต แบงก์กรุงไทยปล่อยกู้


และหากมองย้อนกลับไปในชั้นการตรวจสอบของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) จะพบว่า เมื่อตอนที่ คตส. สรุปสำนวนคดีส่งให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนต่อนั้น ในสำนวนของ คตส. มีผู้กระทำความผิดถึง31 คน


ครั้งนั้น กรรมการ คตส. ท่านหนึ่ง เคยระบุว่าการดำเนินการปล่อยกู้มีการดำเนินการเป็นขั้นตอนตั้งแต่การอนุมัติสินเชื่อโดยเร่งด่วน มีเงินที่นำไปให้พวกพ้อง มีการโอนเงินให้ลูกชายของหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นผู้สั่งการให้อนุมัติสินเชื่อ จากนั้นก็โอนเงินให้บิดาของอดีต ส.ส.ลูกพรรค และโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของบิดา, เลขาฯ ส่วนตัว ของภรรยาหัวหน้าพรรค เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยเสียหาย 4.5 พันล้านบาท


ย้อนคดีทุจริต แบงก์กรุงไทยปล่อยกู้


ทั้งนี้ คตส. เคยกล่าวหาว่า มีกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง 5 ส่วนด้วยกัน ได้แก่


1.กลุ่มนักการเมืองกับพวก คือ พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร, นายพานทองแท้ ชินวัตร,นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ และนายมานพ ทิวารี


2.กลุ่มคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย อาทิ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย, นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย


3.กลุ่มคณะกรรมการสินเชื่อธนาคารกรุงไทย


4.กลุ่มพนักงานเจ้าหน้าที่ของแบงก์


5.กลุ่มนิติบุคคลและผู้บริหารบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเงินทั้งหลาย


ย้อนคดีทุจริต แบงก์กรุงไทยปล่อยกู้


คดีนี้ อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ , กรรมการบริหาร, กรรมการสินเชื่อ, เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย และกลุ่มบริษัทเอกชนรวม 27 ราย เมื่อวันที่ 13 มิ.ย 2555 โดยมี 4 คน ที่เคยถูก คตส. กล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่อัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนายพานทองแท้ รวมอยู่ด้วย


คดีนี้ศาลใช้เวลาใช้การพิจารณาคดีเป็นเวลา 3 ปี จึง มีคำพิพากษาได้


ย้อนคดีทุจริต แบงก์กรุงไทยปล่อยกู้


สำหรับขั้นตอนตามกฎหมาย ผู้ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก ยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ หากมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสำคัญของคดี แต่ต้องอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่มีคำพิพากษา แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยปรากฏว่าผู้ที่อุทธรณ์ชนะคดี เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานใหม่มาสู้คดีได้


ส่วน พ.ต.ท. ทักษิณ ที่หลบหนีคดีนั้น ยังสามารถติดตามตัวมาขึ้นศาลได้ภายในอายุความ 15 ปี โดยต้องมีการสืบพยานกันใหม่ในส่วนของ พ.ต.ท. ทักษิณ


logoline