svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นศ.มหิดลเจ๋ง! ขับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าข้ามทวีปครั้งแรกของโลก

28 พฤษภาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วิทยาลัยการจัดการ มม.เปิดตัวนักศึกษาหลักสูตร Double Degree ชาวฝรั่งเศส ขับรถตุ๊กตุ๊ก ใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ จากกรุงเทพฯสู่ฝรั่งเศส ครั้งแรกของโลก ร่วมระยะทาง20,000 กิโลเมตร ตะลุย16 ประเทศ 120วัน รองอธิการบดี มม.ชวนคนไทยให้กำลังใจ ชี้การเรียนรู้คู่ธรรมชาติ ส่งผลผู้เรียนรู้จักคิด แก้ปัญหา ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่อาคารวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) เปิดตัวโครงการPilgreens project ของ2นักศึกษาหลักสูตร Double Degree ชาวฝรั่งเศส ระหว่างวิทยาลัยการจัดการมม.กับวิทยาลับการจัดการ มหาวิทยาลัยตูลูช ประเทศฝรั่งเศส โดยนักศึกษาทั้ง2คนจะขับรถตุ๊กตุ๊กพลังไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ คันแรกของโลก ซึ่งจะออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปยังเมืองตูลูซ ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่10มิถุนายน-10ตุลาคม 2558 ใช้เวลา120 วัน ผ่าน16 ประเทศ อาทิ ไทย ลาว จีน รัสเซีย ตรุกี ออสเตรีย เยอรมันนี และฝรั่งเศส รวมระยะทาง 20,000 กิโลเมตร
โดยมี รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มม. กล่าวว่ามม.เป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมา ได้ดำเนินการนโยบายต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน เช่น ดำเนินการมหาวิทยาลัยได้มีนโยบาย เช่น การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง จนทำให้ในปี2556 มม.ได้รับการคัดเลือกเป็นสถาบีนการศึกษาสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันดับ1ของประเทศไทย อันดับ4ของเอเชีย และอันดับ 31ของโลก รวมถึงได้พยายามส่งเสริม สนับสนุนบุคลากรและนักศึกษาให้หันมาใช้พลังงานไฟฟ้า น้ำ และเชื้อเพลงอย่างคุ้มค่า ดังนั้น มม.ในฐานะมหาวิทยาลัยชี้นำสังคม จึงได้สนับสนุนโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นการเผยแพร่ ส่งเสริมให้เห็นถึงประโยชน์ในการใช้พลังงานไฟฟ้า กระตุ้นให้เกิดการเห็นคุณค่าในการใช้พลังงานอย่างประหยัด คุ้มค่าโดยใช้ระบบความรู้ เข้ามาบริหารจัดการ
มม.ตั้งเป้าเป็น Eco University และมุ่งสู่ Mahidol Sustainable University จึงได้พยายามจัดการเรียนรู้คู่ธรรมชาติ ซึ่งแผนแม่บทของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนเพิ่มพื้นที่สีเขียวในมหาวิทยาลัย โดยการปลูกต้นไม้ เพื่อให้สภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยร่มรื่น มีบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ และต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ฉะนั้น โครงการดังกล่าว จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เกิดจากนักศึกษาของมม.แม้พวกเขาจะเป็นนักศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส แต่การได้มาเรียนที่มม.ซึ่งมีกาการบริการ หลักสูตร กิจกรรม ส่งเสริมการลดใช้พลังงาน และรู้จักใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ทำให้พวกเขาเกิดแนวคิดใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ให้คนไทยและคนต่างชาติในแต่ละประเทศที่พวกเขาเดินทางเ ข้าใจและตระหนักในการดูแล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานทดแทน จึงอยากฝากคนไทยทุกคนติดตามและให้กำลังใจนักศึกษามม.ที่เดินทางโดยรถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ในครั้งนี้รศ.นพ.ปรีชา กล่าว
รศ.ดร.อรรณพ ตันละมัย คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มม.กล่าวว่าวิทยาลัยการจัดการ จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท ซึ่งโครงการนี้ เป็นหลักสูตร Double Degree ความร่วมมือระหว่างมม.กับมหาวิทยาลัยตูลูช ที่ได้ร่วมกันจัดการเรียนการสอน การเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม นำมาคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา ซึ่งไม่ใช่การเรียนรู้เพียงองค์ความรู้เท่านั้น แต่ให้นักศึกษาได้รู้จักคิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำสิ่งที่เรียนรู้ประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
นายลูดวิก แมร์ส นักศึกษาหลักสูตรDouble Degree ระหว่างวิทยาลัยการจัดการมม.และวิทยาลัยการจัดการ ม.ตูลูช กล่าวว่าขณะนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกคนในโลกต้องช่วยกัน เพราะไม่เช่นนั่นจะเผชิญปัญหาภัยพิบัติอีกมากมาย โดยเฉพาะการใช้รถของผู้คนที่นับวันจะปล่อยมลพิษจากการใชัพลังงานเชื้อเพลิงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพวกเราเห็นรถตุ๊กตุ๊กของไทยและเกิดไอเดียว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะพัฒนารถตุ๊กตุ๊กของไทยเป็นรถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ และขับจากประเทศไทยไปประเทศฝรั่งเศส พอได้ไอเดียดังกล่าวก็เสนอไปยังมหาวิทยาลัย และรู้สึกดีใจที่มหาวิทยาลัยสนับสนุนความคิดของพวกเรา เพราะการขับรถตุ๊กตุ๊กครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเผยแพร่ความเป็นไทยผ่านรถตุ๊กตุ๊กเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงให้คนทั่วโลกได้เห็นว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยให้มนุษย์สามารถใช้พลังงานสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการเรียนที่มม.กว่า1ทางวิทยาลัยฯได้ส่งเสริมให้ผู้เรียน เรียนรู้จากการปฎิบัติจริง ผมและเพื่อนชาวฝรั่งเศสจึงได้เริ่มโครงการดังกล่าว เพื่อพิสูจน์และสำรวจว่าคนทั่วโลกมีความเข้าใจและสนใจการใช้รถพลังงานไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์อย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้รถพลังงานไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ข้ามประเทศ รวมถึงทำให้คนทั่วโลกตระหนักและหันมาสนใจการใช้พลังงานทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องเผชิญมลภาวะที่ส่งผลต่อสุขภาพ และที่สำคัญจะช่วยยืนยันว่าสามารถนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการเดินทางคมนาคมขนส่งได้จริงนายลูดริก กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับรถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ ครั้งแรกของโลกที่เดินทางจากกรุงเทพฯไปฝรั่งเศส ได้มีการติดตั้งแผนโซลาร์เซลล์บนหลังคารถ โดยกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ลิเธียม 72โวลล์ ความจุ 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถเดินทางได้200กิโลเมตรต่อการชาร์ตไฟ 1ครั้ง(6-8ชั่วโมง)คิดเป็นค่าไฟ 0.7บาทต่อกิโลเมตร หรือ14,000บาท ตลอดการเดินทาง ซึ่งนักศึกษาผู้เดินทางครั้งนี้ เชื่อว่าด้วยการเตรียมพร้อมทั้งด้านการซ่อมบำรุง ความปลอดภัย การเดินทางจากกรุงเทพฯถึงฝรั่งเศส จะตรงตามวันที่กำหนดอย่างแน่นอน ติดตามให้กำลังใจนักศึกษากลุ่มนี้ ได้ที่ www.cmmu.mahidol.ac.th

นศ.มหิดลเจ๋ง! ขับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าข้ามทวีปครั้งแรกของโลก

logoline