svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดค่ารักษารพ.เอกชน 5กลุ่มโรคสูงกว่ารพ.รัฐ 3 เท่า

22 พฤษภาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดผลศึกษาค่ารักษารพ.เอกชน 5 กลุ่มโรค พบผู้ป่วยในบางโรคอัตราเริ่มต้นสูงกว่ารพ.รัฐ 3 เท่า รพ.ระดับ 5 ดาวยิ่งแพง ผ่าไส้ติ่งอักเสบ รพ.รัฐเริ่ม 16,841 บาท รพ.เอกชนราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลัก 5 หมื่น- 2 แสนบาท เปรียบเทียบค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงปี 52 กับปี 57 รพ.เอกชนมีอัตราค่ารักษาเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 เท่า ขณะที่รพ.รัฐมีแนวโน้มลดลง 4-5%

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2558 ศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะหนึ่งในทีมศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการศึกษาค่าใช้จ่าย 5 กลุ่มโรคในโรงพยาบาลเอกชน ว่า กรรมาธิการสาธารณสุข สนช.ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลแพง จึงได้มีการศึกษาเปรียบเทียบค่ารักษาพยาบาลระหว่างรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) รพ.สังกัดมหาวิทยาลัย และรพ.เอกชน เพื่อหาค่าใช้จ่ายโดยประมาณในการประกอบการพิจารณาเพื่อเป็นทางเลือก ส่วนรัฐบาลจะมีการปรับแก้ไขอย่างไร จะต้องพิจารณาเป็นหมวดๆไป
ศ.นพ.สรณ กล่าวอีกว่า ในการศึกษาเปรียบเทียบได้มีการสำรวจรพ.รัฐ 3 แห่ง คือ รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ และรพ.เอกชน 6 แห่ง แบ่งเป็นรพ.เอกชนหัวเมือง รพ.เอกชนที่มีมูลนิธิสนับสนุน และรพ.เอกชนชั้นนำที่เป็นกลุ่มเมดิคัล ฮับ หรือศูนย์กลางทางการแพทย์ โดยสำรวจ 5 กลุ่มโรค คือ 1.โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน 2.โรคไส้ติ่งอักเสบ 3.การผ่าข้อเข่า 4.ผ่าต้อกระจก และ5.โรคหวัด โดยแต่ละกลุ่มจะพิจารณาค่ารักษาพยาบาล ที่รวมหลายหมวด หลักๆ คือ ค่ายา ค่าแพทย์ ค่าห้อง ค่าอุปกรณ์ ค่าห้องแล็ป ฯลฯ โดยผลการศึกษาค่ารักษาพยาบาลจะทำให้ทราบว่า แต่ละหมวดมีค่าบริการมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และหาทางดำเนินการได้ โดยผลการศึกษาจะแล้วเสร็จทั้งหมดและเสนอต่อสนช. ในวันที่ 23 มิถุนายน 2558
นพ.สรณ กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาค่าใช้จ่ายโดยรวมประจำปี 2557 โดยศึกษาและสอบถามผู้ป่วยในรพ.แต่ละแห่ง แห่งละ 50 คน ข้อมูลเบื้องต้นทราบในราคาค่าใช้จ่ายภาพรวมของการรักษาต่อผู้ป่วย 1 คนต่อการรักษา 1 ครั้ง ใน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน ในรพ.รัฐ จะอยู่ที่อัตราเริ่มแรก 89,376 บาท และขยับไปที่ 142,918 บาท ไปจนถึง 158,680 บาท ส่วนรพ.เอกชนมีราคาเริ่มตั้งแต่ 164,870 บาท เป็น178,743 บาท ขึ้นเป็น 288,458 บาท และ422,058 บาท และในรพ.ระดับ 5 ดาวสูงสุดคือ 1,150,420 บาท ซึ่งอาจมีการทำบอลลูนหัวใจ หรือผ่าตัดเร่งด่วน เป็นต้น 2.ไส้ติ่งอักเสบ ในรพ.รัฐ มีราคาตั้งแต่ 16,841 บาท ต่อมา 24,198.50 บาท และ42,631.20 บาท ขณะที่รพ.เอกชน 6 แห่ง มีราคาเริ่มต้น 57,682.70 บาท และไต่ระดับขึ้นไปที่ 88,468.7 บาท 102,149.5 บาท จนสูงสุดในรพ.เอกชน 5 ดาว ราคาอยู่ที่ 211,765.3 บาท ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะรพ.เอกชนกลัว เลยทำการวินิจฉัยด้วยการทำซีทีแสกนเพิ่มเติม หรืออาจมีโรคแทรกซ้อน เป็นต้น
3.ผ่าตัดต้อกระจก รพ.รัฐราคาต่ำสุดที่ 19,468 บาท จากนั้น 26,224 บาท และ 44,740 บาท ส่วนรพ.เอกชนนั้นราคาต่ำสุดที่ 59,263 บาท ไปจนถึง109,652 บาท 113,238 บาท และราคาสูงสุดในรพ.เอกชน 5 ดาว คือ 656,030 บาท 4. ผ่าตัดข้อเข่า รพ.รัฐ ราคาเริ่มตั้งแต่ 115,990 บาท 132,819 บาท และ170,244 บาท ส่วนรพ.เอกชนราคาต่ำสุดคือ 182,542 บาท 209,157 บาท 295,727บาท โดยราคารพ.เอกชน 5 ดาวสูงสุดอยู่ที่536,416 บาท และ5.โรคหวัด ในรพ.รัฐราคาเริ่มต้นต่ำสุดที่ 490 บาท สูงสุดที่ 1,252 บาท ส่วนรพ.เอกชน ราคาต่ำสุดที่ 1,712 บาท ไปจนถึงระดับ 3,050 บาท และรพ.เอกชนระดับ 5 ดาวสูงสุดถึง 3,940 บาท เป็นต้น
จากการเปรียบเทียบค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงระหว่างปี 2552 กับปี 2557 พบว่า ในกรณีของรพ.เอกชนจะมีอัตราค่ารักษาเพิ่มขึ้นมากจากที่เห็นเป็น 3-4 เท่า ในขณะที่รพ.ของรัฐมีแนวโน้มลดลง 4-5% จะเห็นว่าสวนทางกันในหลายๆ โรค คงต้องไปดูในรายละเอียดว่าเพิ่มขึ้นเพราะอะไรศ.นพ.สรณกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผลการศึกษาดังกล่าว จะพบว่า ราคาเริ่มต้นค่าใช้จ่ายภาพรวมของการรักษาต่อผู้ป่วย 1 คนต่อการรักษา 1 ครั้ง ใน 5 กลุ่มของรพ.เอกชนจะสูงกว่ารพ.รัฐ โดยในกลุ่มโรคที่ 1.โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน อัตราเริ่มเริ่มต้นรพ.เอกชนแพงกว่ารพ.รัฐราว 1.8 เท่า 2.โรคไส้ติ่งอักเสบ รพ.เอกชนแพงกว่า 3.4 เท่า 3.การผ่าข้อเข่า รพ.เอกชนแพงกว่าราว 3 เท่า 4.ผ่าต้อกระจก รพ.เอกชนแพงกว่า 1.5 เท่า และ5.โรคหวัด รพ.เอกชนแพงกว่าราว 3.4 เท่า

logoline