svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

มติ 4 ฝ่ายให้พาณิชย์ออกมาตรการคุมราคายา

15 พฤษภาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มติ 4 ฝ่ายให้พาณิชย์ออกมาตรการคุมราคายา กำหนดราคาสูงสุด ราคาต้นทุนบวกกำไรกี่เปอร์เซ็นต์ เริ่มจากยาใช้บ่อย ยาราคาสูง ตั้งคณะทำงานทุกภาคส่วนร่วมกำหนดอัตราราคา เตรียมถกภาคเอกชนสัปดาห์หน้า

ศ. นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง สธ.ประกอบด้วย นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัด สธ. นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดสธ. ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ธเรศกรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) หารือร่วมกับนพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และนายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา รพ.เอกชนเก็บค่ารักษาพยาบาลแพง

ภายหลังการประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมได้รวบรวมความคิดและกฎหมายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีข้อสรุปแนวทางการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะสั้นมอบหมายกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ที่เป็นผู้บังคับใช้พรบ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ประสานไปยังโรงพยาบาลเอกชนให้แสดงอัตราค่าบริการ ค่ายาและค่าอื่นๆให้ผู้ใช้บริการเห็นเด่นชัดตามที่พรบ.กำหนด อาจจะแสดงในรูปแบบของหนังสือ หรือสื่ออิเลกทรอนิกส์ของรพ.แต่ละแห่ง เพื่อให้ประชาชนสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลอัตราค่าบริการ

นอกจากนี้ ให้ส่งข้อมูลให้สบส.รวบรวมอัตราราคาและนำขึ้นเวบไซต์ สธ.โดยแสดงราคาเปรียบเทียบของโรงพยาลแต่ละแห่ง จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน รวมถึง เปิดสายด่วนให้ประชาชนร้องเรียนผ่าน สายด่วนสคบ.1166 สายด่วนสปสช. 1330 และสบส. 02-193-7999

2.ระยะกลาง จากกรณีโรงพยาบาลเอกชนเก็บค่ารักษาพยาบาลแพง พบว่า ค่ายาเป็นเรื่องสำคัญ จึงมุ่งที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ โดยมี พ.ร..ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542ของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดให้ยาเป็นสินค้าควบคุมอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดมาตรการด้านราคาในการกำหนดราคายาให้ชัดเจน เช่น ราคาจากต้นทุนบวกกำไรเพิ่มเท่าไหร่หรือการกำหนดราคาสูงสุดซึ่งจะขึ้นอยู่กับยาแต่ละประเภท

โดยจะมีคณะทำงานที่ประกอบด้วยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคเอกชนเข้ามาทำงานในการกำหนดราคายาร่วมกัน ทั้งนี้เนื่องจากยามีอยู่อย่างหลากหลาย จึงอาจจะเริ่มดำเนินการจากยาบางตัวที่มีการใช้บ่อยหรือยาที่มีราคาสูง อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะดำเนินการมาตรการต่างๆ จะต้องมีการหารือกับตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนก่อน คาดว่าจะหารือร่วมกันในสัปดาห์หน้า

ต่อข้อถามมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่มาตรการด้านราคานี้จะกำหนดว่าต้องบวกกำไรไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ หรือราคายาแต่ละประเภทสูงสุดได้เท่าไหร่ ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่าสามารถทำได้และมีแนวทางเป็นไปได้ โดยจะต้องหารือกับภาคเอกชนก่อนว่าราคายาสูงสูดควรเป็นเท่าไหร่หรือราคายาจากต้นทุนบวกกำไรจะต้องเป็นเท่าไหร่

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ยาเป็นสินค้าควบคุมแต่ยังไม่กำหนดมาตรการจำกัดราคา ซึ่งหากจะออกมาตรการต้องมีการกำหนดว่าอัตรารายาสูงสุดเป็นเท่าไหร่ ราคาส่วนต่างต้นทุนกับราคาจำหน่าย และกำไรควรเป็นเท่าไหร่ โดยหากมีราคาดังกล่าวแล้ว ในการดำเนินการออกประกาศมาตรการนี้จะมีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานพิจารณาและออกประกาศมาตรการ

ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า การแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล เบื้องต้น สบส.จะทำช่องทางให้ รพ.เอกชน เข้ามากรอกข้อมูลข้อเท็จจริงการรักษาพยาบาลแต่ละกลุ่มโรค อาทิ ค่ารักษาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเท่าไร เป็นหัตถการเท่าไร รวมทั้ง รพ.เอกชนอื่นๆ จากนั้นนำมาเปรียบเทียบกับราคากลางของกรมบัญชีกลาง ซึ่งมีการกำหนดอยู่แล้ว โดย สบส.จะรวบรวมตรงนี้และนำขึ้นเว็บไซต์ แต่การจะดำเนินการต้องใช้เวลา เพราะกลุ่มยา กลุ่มเวชภัณฑ์มีจำนวนมากหลายพันรายการเบื้องต้นต้องลิสต์รายการที่ใช้กันมากๆก่อน เป็นต้น

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภามีการกำหนดคู่มือค่าธรรมเนียมแพทย์ในการให้การรักษาฉบับล่าสุดปี 2549 เพื่อให้โรงพยาบาลเอกชนนำไปใช้เป็นแนวทางในการคิดค่ารักษาพยาบาลเฉพาะในส่วนของค่าธรรมเนียมแพทย์ ไม่ได้รวมค่ายา หรือค่าอื่นๆ ที่โรงพยาบาลเอกชนจะใช้รวมเป็นค่ารักษาพยาบาล ซึ่งในความเป็นจริงมีการคิดค่าธรรมเนียมแพทย์เกินกว่าที่แพทยสภากำหนดไว้ก็ไม่ได้ถือว่ามีความผิดหรือผิดจรรยาบรรณแพทย์แต่อย่างใด เพราะอัตราที่แพทยสภากำหนดเป็นราคาเฉลี่ยไม่ใช้ราคาสูงสุด
โดยเรื่องของฝีมือการรักษาของแพทย์ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเลือกความสะดวก ความมั่นใจและแพทย์ที่จะทำการรักษาให้กับตนเอง ก็อาจจะต้องมีค่าธรรมเนียมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สูงกว่าแพทย์ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ค่าธรรมเนียมแพทย์เฉลี่ยในการผ่าตัดไส้ติ่งอยู่ที่ 12,500 บาท ผ่าทอนซิล 10,000 บาท ผ่าตัดเปลี่ยนไต 65,000 บาทและที่แพงที่สุด ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ 154,000 บาท อย่างไรก็ตาม แพทยสภาอาจจะมีการพิจารณาเพื่อปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมา

logoline