svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เอ็นจีโอชี้ โครงการโขง-ชี-มูล-เลย กระทบสิ่งแวดล้อม

12 พฤษภาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ขอนแก่น - เอ็นจีโออีสานชี้ โครงการผันน้ำ โขง-ชี-มูล-เลย เพื่อรองรับการเติบโตอุตสาหกรรม และจะกระทบกับสิ่งแวดล้อม พร้อมถกองค์กรสนับสนุนเผยข้อมูลโครงการ


เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 12 พ.ค.58 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศาลหลักเมือง จ.ขอนแก่น องค์กรพัฒนาเอกชนในอีสาน นำโดยนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำอีสาน พร้อมด้วยนางสาวคำปิ่น อักษร ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำโขง และนายนิติกร ค้ำชู เจ้าหน้าที่ภาคสนาม ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม กรณีน้ำพอง ร่วมกันแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการบริหารจัดการโขง-เลย-ชี-มูล-เลย โดยแรงโน้มถ่วงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


นายสิริศักดิ์ กล่าวว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาแผนพัฒนาแหล่งน้ำระยะยาว โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ขึ้นมาอีกครั้ง โดยอ้างว่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นรูปธรรมต่อยอดจากนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ที่ผ่านมาพื้นที่ภาคอีสานมีการจัดทำแผนด้านการจัดการน้ำหลายโครงการ ทั้งโครงการโขง-ชี-มูล-เลย โครงการศึกษาพื้นที่วิกฤติ 19 ลุ่มน้ำ และโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในโครงการบริหารจัดการโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่พบว่าโครงการของภาครัฐกลับสร้างความเดือดร้อน กระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในอีสาน


หลายคนเข้าใจว่าอีสานแล้ง ทางออกในการแก้ปัญหาที่เป็นสูตรสำเร็จคือ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับชาวอีสาน ทำให้พ้นจากความยากจน ซึ่งเป็นเพียงวาทกรรมเพื่อหาผลประโยชน์จากโครงการ โครงการที่ยังมีปัญหาและยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น โครงการโขง-ชี-มูล พบว่าการก่อสร้างเขื่อนภายใต้โครงการทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ระบบนิเวศถูกทำลาย มีการแพร่กระจายของดินเค็ม โครงการนี้ยังคงสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน จนเมื่อมีการพูดถึงโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ที่เห็นว่าหลายฝ่ายออกมาสนับสนุน โดยยังไม่ได้สอบถามความต้องการของประชาชน ขอเรียกร้องที่ต้องการคือให้หน่วยงานภาครัฐได้ทบทวนแนวทาง ร่วมกันว่างแผนจัดการน้ำที่มีความหลากหลายตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภูมินิเวศของอีสาน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์สูงสุด คาดว่าในเดือนกรกฎาคม จะมีเวทีพูดคุยร่วมกับองค์กรที่สนับสนุนโครงการ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริงทั้งหมดของโครงการนายสิริศักดิ์ กล่าว


ด้านนายนิติกร กล่าวว่า กระแสข่าวการฟื้นโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในโครงการบริหารจัดการโขง-เลย-ชี-มูล สร้างความกังวลให้กับชาวบ้านในพื้นที่ท้ายน้ำ อย่างที่ อ.น้ำพองเป็นอย่างมาก เพราะเกรงว่าการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับการเติบโตด้านอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น ซึ่งปัจจัยพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า น้ำ ต้องมีการดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม


น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีไม่เพียงพอสำหรับการอุตสาหกรรมในอนาคต จึงเชื่อว่า โครงการผันน้ำโขงจากแม่น้ำเลย มาลงที่ลำพะเนียง ส่งต่อมายังเขื่อนอุบลรัตน์ ปล่อยสู่ลำน้ำพอง เพื่อรองรับการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการก่อสร้าง แต่ชาวบ้านปลายน้ำ ที่อาศัยพื้นที่ชุ่มน้ำห้วยเสือเต้น ในจ.ขอนแก่นมีความกังวลว่า พื้นที่ที่หากินจะถูกนำไปทำแหล่งเก็บน้ำที่ผันมาจากน้ำโขงจะถูกทำลาย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่นายนิติกร กล่าว

logoline