svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เสนอตัดสภาตรวจสอบภาคพลเมือง

20 เมษายน 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญวันแรก เนื้อหาส่วนใหญ่อยู่ที่ภาค 1 หมวด 2 ว่าด้วยประชาชน โดยมีข้อเสนอให้ตัดมาตรา 71 ว่าด้วย"สภาตรวจสอบภาคพลเมือง"ออก และใชกลไกเดิมอย่างป.ป.ช.และสตง.ติดตามรายละเอียดกับคุณอนุพรรณ จันทนะ

สำหรับความเคลื่อนไหวในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่ออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกในช่วงเย็น โดยบรรยากาศล่าสุด อยู่ระหว่างเปิดโอกาสให้สมาชิกสปช.ได้อภิปรายในภาคที่ 1 หมวด 2 ว่าด้วยประชาชน ที่มียอดรวมมาตราทั้งสิ้น 64 มาตรา นับตั้งแต่มาตรา 8 มาตรา 72 ในส่วนของหมวด 2 มีสปช. แจ้งประสงค์อภิปรายทั้งสิ้น 49 คน และสปช.ในฐานะประธาน กมธ.ปฏิรูป จำนวน 6 คนแจ้งความประสงค์อภิปรายโดยภาพรวมของการอภิปรายของสปช.ในฐานะประธาน กมธ.ปฏิรูปฯ คือ การท้วงติงให้ปรับบทบัญญัติและถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่เกี่ยวข้องให้มีความเหมาะสม อย่าง ในมาตรา 67 ว่าด้วยการกำหนดให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีส่วนร่วมในการทำประชามติ ที่แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น โดยขอให้แก้ไขให้กำหนดให้ทำประชามติโดยเฉพาะระดับชาติเท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหาความแตกแยก ลักษณะภาคนิยม
ขณะที่รองประธาน กมธ.ปฏิรูปพลังงาน คนที่ 1 ฐานะผู้แทนของประธาน กมธ.ปฏิรูปพลังงาน คุรุจิต นาครทรรพ ขอให้ตัดมาตรา 71 ว่าด้วยสภาตรวจสอบภาคพลเมืองในแต่ละจังหวัด เสนอให้ตัดออกทั้งหมด เพราะมองว่า มีหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระจากรัฐ อย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่มีคณะทำงานทั้งส่วนกลางและส่วนจังหวัดดำเนินการอยู่แล้ว ดังนั้นควรนำงบประมาณไปสนับสนุนเพื่อให้หน่วยงานที่มีอยู่แล้วทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ ดีกว่าใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลืองไปกับองค์กรใหม่ที่ยังไม่ทราบว่าจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
นอกจากนี้ คุณคุรุจิต ยังมองว่า หากกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการส่งเสริมคนดีในจังหวัดเพื่อทำงานการเมือง ควรเปิดโอกาสให้เข้ามาเป็นส.ส. หรือส.ว.จะเหมาะสม และขอให้ตัดวรรคสองของมาตรา 7 ที่ให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา, รัฐสภา, คณะรัฐมนตรี (ครม.) ศาลฏีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีของการกระทำที่ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่หากตัดออกไม่ได้ทั้งวรรค ขอให้ตัดเฉพาะการให้อำนาจองค์กรตามรัฐธรรมนูญออก เพราะเป็นการเปิดช่องให้หน่วยงานที่ไม่ใช่เสาหลักของประเทศวินิจฉัยเรื่องสำคัญต่อประเทศ ขณะที่ในส่วนของพนักงานอัยการขอให้คงความเป็นอิสระในการพิจารณาสั่งคดีไว้เหมือนเดิม หลังจากที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญตัดออกไป เพราะกังวลว่าหากไม่มีหลักประกันความเป็นอิสระอาจถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้
สำหรับการอภิปรายจะมีขึ้นในระหว่างวันนี้ 20-26 เม.ย. ตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. ยกเว้นวันที่ 23 จะเริ่มในเวลา 14.00 น. รวมเวลาอภิปรายทั้งสิ้น 79 ชม.

logoline