svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สปช.รุมซักที่มา ส.ส.-ส.ว.และระบบเลือกตั้ง

10 เมษายน 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การประชุมร่วมกันของ สปช.และกรรมาธิการยกร่าง รธน.วานนี้ เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาหลักของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นที่มา ส.ส.-ส.ว.และระบบเลือกตั้ง ถูกตั้งคำถามมากที่สุดครับ

ประเด็นหลักที่สมาชิก สปช.ให้ความสนใจซักถามกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในที่ประชุมร่วมกันวานนี้มากที่สุด อยู่ที่เนื้อหาในภาคที่ 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง โดยเฉพาะประเด็นที่มาของ ส.ส.และ ส.ว.ว่า วิธีการที่ กมธ.เสนอ แก้ปัญหาการเมืองได้จริงหรือไม่ ระบบเลือกตั้งที่ กมธ.เสนอ สามารถป้องกันการทุจริต ซื้อสิทธิขายเสียงได้จริงแค่ไหน รัฐบาลมั่นคงเข้มแข็ง และได้นักการเมืองที่ดีมากน้อยแค่ไหน จะมีการถ่วงดุลย์การใช้อำนาจของรัฐบาลได้มากน้อยแค่ไหน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นอย่างไร

โดย กมธ.เชื่อมั่นว่า จะสามารถแก้ปัญหารัฐบาลที่เข้มแข็งมากเกินไป จนใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จไร้การตรวจสอบเหมือนในอดีตและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีไว้เพื่อทำอะไร สามารถทำงานด้านปฏิรูปในระยะยาวได้จริงหรือไม่ รวมถึงสมัชชาพลเมือง สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และสภาตรวจสอบภาคพลเมือง จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายก็ยังคงตั้งคำถาม และ สปช.ก็เตรียมจะนำประเด็นที่ยังข้องใจสงสัย ไปอภิปรายร่างรธน.ร่างแรก ในที่ประชุมสปช.วันที่ 20-26 เม.ย.นี้

ส่วนวิธีการอภิปรายของ สปช.ในวันที่ 20-26 เม.ย.นี้ โฆษกวิป สปช.วันชัย สอนศิริบอกว่า ที่ประชุมวานนี้ ได้ข้อสรุปคือกำหนดให้ กมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะ มีเวลาอภิปรายคนละ 2 ชั่วโมง คณะละ 5 คน ส่วนสมาชิกให้เวลาคนละ 12-15 นาที

และหลังจาก สปช.อภิปรายเสร็จสิ้น สมาชิก สปช.ต้องทำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมหรือ แปรญัตติภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเสร็จสิ้นการอภิปราย โดยคำขอแก้ไขเพิ่มเติมของ สปช.ต้องมีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติลงชื่อรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน สปช.หรือ 25 คนขึ้นไป ที่สำคัญ สปช.ที่ยื่นคำขอหรือให้คำรับรองคำขอของสมาชิกแล้ว จะยื่นคำขอหรือรับรองคำขอสมาชิกอื่นอีกไม่ได้

ทำให้สมาชิกที่จะร่วมรับรอง ต้องตกลงกันในชัดว่า จะอยู่ในกลุ่มไหน แต่โฆษกวิป สปช.บอกว่า ในแต่ละญัตติที่ขอแก้ไข จะมีกี่ประเด็นก็ได้ และอาจซ้ำประเด็นกับกลุ่มอื่นได้ ซึ่งคำขอแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญกำหนดให้ยื่นต่อประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับ ครม.หรือ คสช.หากจะเสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติม ก็ทำได้ภายใน 30 วันเช่นกัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรธน.ใหม่

logoline